xs
xsm
sm
md
lg

นอน“ทับลาน” ลุ้นปรากฏการณ์ฝนดาวตก/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
กางเต็นท์ แค้มป์ปิ้ง นอนดูฝนดาวตก
“ฝนตก”ทั้งเปียกทั้งแฉะ
 
แต่“ฝนดาวตก”ทั้งไม่เปียกทั้งไม่แฉะ แถมยังเพริศแพร้วชวนตื่นตาตื่นใจอีกต่างหาก

ฝนดาวตก ผมให้ความสนใจปรากฏการณ์นี้ครั้งแรกเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วสมัยที่เพิ่งเรียนจบมาหมาดๆ ครั้งนั้นสื่อประโคมข่าวกันครึกโครม ว่าบนฟากฟ้าจะพร่างพราวไปด้วยดาวตกจำนวนมากมาย ปานประหนึ่งท้องฟ้ามีมหกรรมที่จัดโดยเหล่าเทวดา-นางฟ้า ใครที่พลาดจะต้องรอไปอีกประมาณ 75 ปี ข้างหน้าโน่น

โอ้ว...พวกเล่นออกข่าวแบบนี้ ผมคงไม่รอชมฝนดาวตกครั้งต่อไปหรอก เพราะยังไงก็อยู่ไม่ถึงแน่นอน

งานนี้จึงชักชวนเพื่อนๆเดินทางไปดูฝนดาวกันไกลถึง “ดอยหัวหมด” อ.อุ้มผาง จ.ตาก โน่น ฝนปรากฏว่าคืนวันมีฝนดาวตกที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากแห่แหนกันไปเฝ้าดู ท้องฟ้าเกิดไม่เป็นใจ “ปิดสนิท” เมฆหนาทึบ แถมตั้งเค้าเหมือนฝนจะตกอีกต่างหาก ไอ้เราที่เฝ้าอุตส่าห์อดตาหลับขับตานอนเลยต้องกินฝนแห้วไปตามระเบียบ ชนิดที่ว่าชาตินี้คงไม่มีโอกาสได้ดูมันแล้ว

แต่ที่ไหนได้ หลังจากนั้นก็มีปรากฏการณ์ฝนดาวตกเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ชนิดที่ให้ดูกันจนเบื่อไปข้างหนึ่งเลย

แต่ประทานโทษ ถึงยังไงผมก็ยังไม่เบื่อ เพราะหลังจากแห้วฝนดาวตกครั้งนั้น คราวต่อๆมาที่ไปเฝ้ารอชมฝนดาวตก ผมไม่เคยได้เห็นแบบจริงๆจังๆเลยสักครั้ง เนื่องจากส่วนใหญ่ถ้าไม่ง่วงหลับก่อนก็จะเป็นเมาพับหลับก่อนทุกทีไป

สำหรับปลายปี 52 นี้ ถือว่าโชคดีมากที่เกิดฝนดาวตกในเมืองไทยให้ชมกันถึง 2 ครั้ง 2 ครา ด้วยกัน

ครั้งแรก ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids) หรือฝนดาวตกสิงโต เกิดขึ้นในคืนวันที่ 18-19 พ.ย. ฝนดาวตกครั้งนี้เป็นข่าวค่อนข้างคึกคัก มีคนไปรอชมกันจำนวนไม่น้อย มีการคาดการณ์กันว่าในเมืองไทยจะเห็นฝนดาวตกสิงโตประมาณ 30 ดวง ต่อชั่วโมง แต่เอาเข้าจริงๆหลายที่ท้องฟ้าปิด เพราะช่วงนั้นฝนยังไม่ทิ้งฟ้า ในขณะที่บริเวณไหนฟ้าเปิด ฝนดาวตกสิงโตก็ไม่ตกตามคาดการณ์ แต่จะตกแค่ประมาณเกือบ10 ดวงต่อชั่วโมง เล่นเอาหลายคนที่เฝ้าชมผิดหวังไปตามๆกัน

แต่ประทานโทษ(อีกครั้ง)!?! ผมไม่ผิดหวัง เพราะไม่ได้ไปเฝ้าชม
กิจกรรมปลูกป่า
จากนั้นถึงคิวของฝนดาวตกครั้งที่สอง เป็นฝนดาวตก“เจมินิดส์”หรือฝนดาวตกคนคู่ ฝนดาวตกครั้งสุดท้ายในรอบปี 52
ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการระบุว่า เป็นฝนดาวที่ตกเป็นจำนวนมากในเมืองไทย เกิดขึ้นในช่วงประมาณวันที่ 6-19 ธ.ค.ในปีนี้นักดาราศาสตร์แจ้งว่าจะเห็นฝนดาวมากในคืนวันที่ 13-14 ธ.ค.เริ่มตั้งแต่ 4 ทุ่มเป็นต้นไป โดยคาดการณ์ว่าจะมีอัตราสูงสุดราว 100 ดวงต่อชั่วโมง แต่ต้องไปชมในสถานที่มืดมิด มีท้องฟ้าแจ่มใส ปราศจากเมฆหมอกและแสงไฟรบกวน ไม่มีเมฆ ปราศจากหมอกและแสงไฟรบกวน

งานนี้ผมเล็งๆไว้แล้วว่าจะหาโอกาสไปที่โล่งๆบรรยากาศดี นอนดูดาวฝนดาวตกสักหน่อย และมันก็พอดีกับที่ บริษัท เอาท์ดอร์ อินโนเวชั่น บริษัทผู้ผลิตเกี่ยวกับอุปกรณ์แคมป์ปิ้งสารพัดสารพันภายใต้แบรนด์คาราน่า เขาเลือกจัดกิจกรรม Green Project ในช่วงมีฝนดาวตกพอดี ซึ่งผมเลยถือโอกาสร่วมเดินทางไปกับเขาด้วย

กิจกรรม Green Project เท่าที่ผมไปสัมผัสมา มีลักษณะเป็นกึ่งๆ CSR กลายๆ คือ ทางเอาท์ดอร์ฯ พาพนักงาน ผู้ร่วมทำธุรกิจ และนักท่องเที่ยวที่ร่วมซื้อทัวร์ในราคาย่อมเยาไปทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อาทิ การปลูกป่า การทำโป่งเทียม ในพื้นที่มรดกโลก อุทยานแห่งชาติทับลาน ควบคู่ไปกับการชมฝนดาวตกในคืนวันที่ 14 ธ.ค. ณ บริเวณลานโล่ง ริมเขื่อนลำแซะ อช.ทับลาน จ.นครราชสีมา
กางเต็นท์รอดูฝนดาว
อนึ่งการดูฝนดาวตก เริ่มขึ้นหลังอาหารค่ำและการแสดงของเยาวชน+ดนตรี ที่ทางทีมงานจัดมา ในเวลาเกือบๆ 4 ทุ่ม ซึ่งก็ได้พี่วันชัย วงกฎ เจ้าหน้าที่สื่อความหมาย อช.ทับลานมาทำหน้าที่พิธีกร โดยมี อ. ไพบูลย์ เสือทองหลาง หรือ อ.เสือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูดาวในพื้นที่มาให้ข้อมูลด้านการดูดาว แบบสนุกสนานเฮฮา ไม่ซีเรียสให้เครียดหัวใจแต่อย่างใด

อ.เสือ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ท้องฟ้า แกแล็คซี่ ทางช้างเผือก และชื่อกลุ่มดาวต่างๆ(เดิมผมรู้จักอยู่แค่ 2 กลุ่มเดียว คือ “ดาวเหนือ” และ“ดาวลูกไก่”) ไม่ว่าจะเป็น ดาวฤกษ์ ดาวเหนือ ดาวศุกร์ ดาวหมีใหญ่ ดาวจรเข้ ดาวคันไถ ดาวลูกไก่ ฯลฯ สำหรับดาวที่ได้รับคำแนะนำและผมจำได้แม่นพร้อมเห็นว่าคนในทริปสนใจเป็นพิเศษก็คือ “ดาวนมสาว” ซึ่งงานนี้เขาให้ดูดาวบนท้องฟ้า แต่กลับมีหนุ่มๆกลุ่มหนึ่งในทริปเหล่ไปดูหน้าอกของสาวๆที่มานั่งดูดาวด้วยเสียฉิบ

นอกจากนี้ อ.เสือยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับดาวตกหรือ“ผีพุ่งใต้”ว่า เกิดจากสะเก็ดดาวชิ้นเล็กๆเคลื่อนที่เข้ามาในแรงดึงดูดของโลกด้วยความเร็วสูงมาก จึงเกิดการเสียดสีลุกไหม้เป็นแสงขึ้นมาเพียงวาบเดียว
แคมป์ปิ้ง พร้อมรอลุ้นชมฝนดาวตก
ส่วนฝนดาวตกเป็นดาวตกที่เกิดขึ้นในปริมาณมาก อันเนื่องมาจากวงโคจรของโลกเคลื่อนที่เข้าไปในแนวเส้นทางของดาวหาง ที่เคยทิ้งเศษหินเศษฝุ่นไว้มากมายในอวกาศ ก่อนที่โลกจะดึงดูดเข้ามาในชั้นบรรยากาศจนลุกไหม้เกิดเป็นฝนดาวตกขึ้นมา งานนี้ อ.เสือ แกแอบแซวพวกนักท่องเน็ตบางคนว่า อย่าไปเชื่อ ดร.กูเกิ้ล(แกเรียกอย่างนั้น)ให้มากนัก เพราะแกเคยอ่านข้อมูลในกูเกิ้ลบอกว่าฝนดาวตกเจมินิดส์จะเกิดมากถึง 100 กว่าดวง ต่อชั่วโมง แต่เท่าที่แกเคยนั่งเฝ้าดูด้วยตาเปล่า นับได้สูงสุด 30 กว่าดวงต่อชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งในครั้งนี้ก็คงไม่แตกต่างกันมาก

ช่วงปลายของการให้ข้อมูลประมาณ 4 ทุ่มกว่า มีดาวตกพุ่งวาบผ่านตาไป เล่นเอาคนที่เห็นเฮกันลั่น
บรรยากาศริมเขื่อนลำแซะ
จากนั้นก็เป็นการเฝ้าดูดาว ในบรรยากาศแค้มป์ปิ้งแบบชิล ชิล ท่ามกลางอากาศที่ไม่หนาวอย่างที่คิด บางคนดูตั้งตาตั้งดูดาวพร้อมรอคอยการอธิษฐาน(ชั่ววูบ)แบบจริงๆจังๆ บางคนดูดาวแบบทีเล่นทีจริงพร้อมๆกับการดื่มไป คุยไป ร้องเพลงไป ส่วนบางคนหลับ?!? พร้อมกับส่งเสียงเรือกลไฟให้เพื่อนข้างได้ยิน ซึ่งก็เป็นไปตามความชอบของแต่ละคน สำหรับผมเลือกที่จะดูดาวไปตั้งกล้องถ่ายรูปไป

แต่ดูเหมือนว่าโชคจะไม่เข้าข้างผม เพราะเมื่อตั้งกล้องไปทางท้องฟ้ามุมไหน ฝนดาวก็จะพุ่งวาบเป็นเส้นขาวไปตกอีกทิศทางหนึ่งชนิดไม่ผ่านหน้าเลนส์ โดยตั้งแต่ 4 ทุ่ม ถึงตีสอง ผมนั่งนับดาวด้วยตาของตัวเอง(ที่ไม่ผ่านหน้าเลนส์)ได้เฉลี่ยเกือบ 20ดวงต่อชั่วโมง ชนิดที่ไม่มีดาวตกดวงไหนตกผ่านหน้ากล้องผมเลย

นี่แหละธรรมชาติ ยากเกินคาดเดา ผิดกับการดู“ดาวมหา'ลัย” ในกรุงเทพฯ ที่สามารถหาชมได้ทั่วไป ตามห้างสรรพสินค้า แหล่งช้อปปิ้ง โรงหนัง คาราโอเกะ ผับ เธค รวมไปถึงยามดึกๆแถวร้านข้าวต้มโต้รุ่ง

เรียกว่าดาวมหา'ลัยสามารถหาชมได้แบบคาดเดาไม่ยากแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น