xs
xsm
sm
md
lg

เรียนวิทย์ให้สนุกต้องประยุกต์ของใกล้ตัวเป็นสื่อการสอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แฟนคลับรายการ "เมกาเคลฟเวอร์" คงได้ประจักษ์ว่าแท้จริงแล้ววิทยาศาสตร์นั้นแสนสนุกและน่าตื่นตาตื่นใจ แต่หลายคนอาจข้องใจว่าทำไมบรรยากาศอันเร้าใจนั้นถึงไม่มีอยู่ในชั้นเรียนบ้าง งานนี้ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบสื่อการสอน สสวท.ออกโรงเผยเคล็ดลับด้วยตัวเองว่าต้องรู้จักประยุกต์ของใกล้ตัวเป็นสื่อซึ่งประหยัดและได้ความรู้มากกว่าซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน

นายโช สาลีฉันท์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์การสอนวิทยาศาสตร์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวในการเสวนาคุยกันฉันท์วิทย์ "เรียนวิทย์ฯ อย่างไรให้สนุก" ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 24 ม.ค.51 ว่าจะเริ่มการเรียน-การสอนที่ดีนั้นครูต้องดี ซึ่งหมายถึงต้องสอนดี รู้ดี และแก้ปัญหาดี กรณีหลังนั้นครูต้องมีทักษะ แล้วจะทำให้เด็กสนุกกับการเรียน

"การสอนวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาว่า หลายแห่งมีครูคนเดียวสอนทุกวิชา บางครั้งให้ครูภาษาไทยสอนวิทยาศาสตร์ซึ่งลักษณะการสอนกลายเป็นการอ่านแล้วเล่าให้นักเรียนฟัง การเรียนวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จึงการเป็นการสอนประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์"

นายโชกล่าว่าไม่จำเป็นต้องซื้อสื่อการเรียน-สอนวิทยาศาสตร์ บางอย่างสามารถหาได้ในท้องถิ่นซึ่งประหยัดและบางครัง้ให้ผลการทดลองที่ดีกว่าซื้อ ทั้งนี้ครูจำเป็นต้องมความรู้เรื่องเทคโนโลยีพื้นฐาน

อย่างการนำแก้วมาเป็นสื่อก็ต้องทราบว่าเมื่อสสารได่รับความร้อนก็จะเปลี่ยนสถานะ เช่น จากของแข็งเป็นของเหลวและเมื่อได้รับความร้อนมากขึ้นก็กลายเป็นไอ เป็นต้น การตัดแก้วก็ต้องใช้ของที่แข็งกว่าหรือใช้ความร้อน ซึ่งการใช้ความร้อนนั้นทำให้ขยายตัวคือมีแรงดันและเมื่อเย็นลงก็หดตัวคือมีแรงดึง โดยสามารถนำวัตถุใกล้ตัวอย่างเศษแก้ว หลอดนีออนมาเป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนได้

"จวักในครัวมากลับด้านไปมาก็ได้เป็นกระจกนูนกระจกเว้า เรียนแค่ให้ทำโจทย์ไม่เกิดประโยชน์ ของง่ายๆ (สื่อการสอน) ทำเองก็ได้และใช้ความรู้มากกว่าซื้อ น่าภูมิใจมากกว่าด้วย ใครที่ยึดว่าต้องใช้ของตามตำรา ไม่มีความมั่นใจที่จะใช้ของทำเองแสดงว่าไม่เข้าใจหลักการ ถ้าของง่ายๆ ทำไม่ได้ก็อย่าหวังว่าจะทำของที่ยากกว่าได้"

ผู้เชี่ยวชาญการผลิตสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ สสวท.กล่าวอีกว่านักวิทยาศาสตร์ต้องซื่อสัตย์ ไม่สร้างผลการทดลองขึ้นมาเอง ได้ผลอย่างไรก็อย่างนั้น ต้องมีความรอบคอบ

อีกทั้งมีคำพูดต้องห้ามคือ ห้ามพูดว่า "คิดว่า...คาดว่า...หรือคงจะ..." โดยหากมีข้อสงสัยต้องตรวจสอบและหากมีเครื่องมือก็ต้องวัด ทั้งนี้สิ่งต่างๆ รอบตัวล้วนเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งครูและผู้ปกครองมีส่วนทำให้เด็กได้เห็น ยกตัวอย่างเช่นการนั่งหรือยืนก็เป็นวิทยาศาสตร์เพราะที่เราไม่ล้ม นั่งหรือยืนอยู่ได้เพราะมีศูนย์ถ่วง

กำลังโหลดความคิดเห็น