วงใน สอวน.เผยพระมหากรุณาธิคุณใน "สมเด็จพระพี่นาง" ต่อโอลิมปิกวิชาการส่งผลให้นักเรียนทั่วประเทศได้รับโอกาสในการเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์และกระตุ้นบรรยากาศการเรียนในระดับภูมิภาค พร้อมยกระดับครู
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ขึ้นเมื่อปี 2532 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนทั่วประเทศให้ได้มาตรฐานสากล และทรงรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิ สอวน. ที่ปัจจุบันมีศูนย์อยู่ทั่วประเทศ 25 แห่ง ทั้งในส่วนภูมิภาค ส่วนกรุงเทพฯ พร้อมทั้งมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง
รศ.วัฒนา เกาศัลย์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์) จ.นครปฐม ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติงานของศูนย์ สอวน.ในส่วนภูมิภาคแห่งหนึ่ง เผยถึงบทบาทของมูลนิธิ สอวน.ว่าได้ช่วยกระตุ้นการเรียนวิทยาศาสตร์ในระดับภูมิภาค และการจัดสอบโอลิมปิกวิชาการระดับประเทศได้ทำให้แต่ละศูนย์ สอวน.ตื่นตัวมากขึ้น ทำให้นักเรียนในภาคตะวันตกเพิ่มความสนใจและเข้าเรียนในคณะวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งคงเป็นพระประสงค์ของสมเด็จพระพี่นางฯ และเชื่อว่าพระองค์ได้ทรงทำสำเร็จแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าหลังจากสิ้นพระองค์แล้วมูลนิธิจะดำเนินการไปอย่างไร
ด้าน ศ.ดร.อมเรศ ภูมิรัตน อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงของศูนย์ สอวน.ส่วนกรุงเทพฯ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของแวดวงโอลิมปิกวิชาการหลังมีมูลนิธิ สอวน.ว่า เดิมสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ดูแลโอลิมปิกวิชาการแต่มีข้อจำกัดในจำนวนนักเรียน เมื่อมีมูลนิธิ สอวน.ก็ได้เปิดกว้างให้เด็กทั่วประเทศได้มีโอกาสมากขึ้น โดยในกระบวนการคัดเลือกเด็กนักเรียนกว่า 3 หมื่นคนจากทั่วประเทศเพื่อเลือกผู้แทนไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ 23 คนนั้นได้ทำให้เด็กนับหมื่นคนได้รับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มากขึ้น
"อีกทั้งจำนวนเหรียญรางวัลของโอลิมปิกวิชาการยังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการยกระดับครูด้วย โดยทางมูลนิธิฯ ได้จัดทำตำราเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 21 เล่ม ทั้งในวิชาเคมี ฟิสิกส์ ชีวะ และพิมพ์ออกมาราว 6 หมื่นเล่มเพื่อแจกจ่ายไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ 2,700 แห่ง และการที่นักเรียนทั้งที่ได้เป็นตัวแทนไปแข่งและไม่ได้ต่างได้รับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์นี้ก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนานักวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์" ศ.ดร.อมเรศกล่าว พร้อมทั้งเผยว่าสมเด็จพระพี่นางฯ ทรงมีพระดำรัสกับอาจารย์ผู้รับผิดชอบงานด้านโอลิมปิกวิชาการโดยตรงว่าทรงมีพระประสงค์จะสนับสนุนโอลิมปิกวิชาการซึ่งนับเป็นพระเมตตาอย่างยิ่ง