"อภิสิทธิ์" ชี้ต้นตองานวิจัยต่อยอดไม่ได้ จุดอ่อนอยู่ที่ขาดการเชื่อมต่อคนทำงานวิจัยและคนที่ต้องการต่อยอดงานวิจัย ให้ความเห็นรัฐไม่ต้องกำหนดงานวิจัยเองทั้งหมด งานวิจัยไหนที่สร้างมูลค่าทางธุรกิจได้ภาคเอกชนควรลงทุน ส่วนงานวิจัยด้านสังคมภาครัฐจะเป็นฝ่ายลงทุน ขณะเดียวกันยังต้องมีงานวิจัยพื้นฐานที่ทำได้อย่างอิสระ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่...พบ...เมธีวิจัยอาวุโส สกว." ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 15 ต.ค.52 ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ รีสอร์ท รีเจนท์ บีช ชะอำ ซึ่งมีนักวิจัยรุ่นใหม่และนักวิจัยอาวุโสสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เข้าร่วมกว่า 1,000 คน และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ร่วมติดตามทำข่าว โดยนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง "นโยบายและยุทธศาสตร์ในการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ" ด้วย
ในประเด็นเรื่องทิศทางงานวิจัยของประเทศนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า งานวิจัยส่วนหนึ่งนั้นทำไปตามความต้องการของนักวิจัยไม่ใช่ของสังคม ทั้งนี้ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดจึงทำให้การต่อยอดจำกัด แต่จะสรุปให้รวบอำนาจในการกำหนดการวิจัยคงไม่ถูกต้อง และอีกแง่หนึ่งมองว่าไม่ควร เพราะเห็นว่าเป็นเสรีภาพทางวิชาการ แต่เสรีภาพสุดโต่งเกินไปก็ทำให้เกิดปัญหาเช่นนี้ นับว่าเป็นเรื่องยากที่จะหาความพอดี
"หัวใจของการแก้ปัญหาดังกล่าวอยู่ที่การแยกแยะความหลากหลายของงานวิจัยซึ่งมีทั้งงานวิจัยเพื่อต่อยอดทางเศรษฐกิจ งานวิจัยด้านสังคมและงานวิจัยพื้นฐาน ซึ่งการทำงานระหว่างรัฐ-เอกชนต้องประสานงานกันมากขึ้น หากงานวิจัยใดที่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้ เอกชนควรลงทุนแม้มีความเสี่ยงเยอะ แต่ลงทุน 100 แล้วได้ผล 5 ก็สร้างมูลค่ามหาศาลได้ ถ้างานวิจัยนั้นมีผลตอบแทนเศรษฐกิจจริง เอกชนต้องกล้าลงทุน" นายอภิสิทธิ์กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังรื้อฟื้นให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพราะการกำหนดทิศทางวิจัยไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง และรัฐไม่มีทางรู้ดีเรื่องโอกาสทางธุรกิจมากกว่าเอกชน ซึ่งเอกชนจะเป็นหลักในการบอกทิศทางของอนาคต นวัตกรรมที่ต่อยอดสู่ธุรกิจ และภาครัฐควรรับบทบาทรวบรวมงานวิจัย โดยงานวิจัยลักษณะนี้ควรเป็นโจทย์ร่วมระหว่างรัฐ-เอกชน
ขณะที่งานวิจัยที่ด้านสังคม เช่น งานวิจัยด้านความมั่นคงนั้น รัฐเองควรเป็นผู้กำหนดโจทย์ ไม่ใช่รวมศูนย์งานวิจัยอยู่ที่ภาครัฐ แต่ภาครัฐเป็นผู้มองสัดส่วนความเหมาะสม แต่คนวิจัยก็ยังอยู่ในภาครัฐและมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ส่วนงานวิจัยพื้นฐานเป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุนเป็นการเฉพาะ และมีทุนให้วิจัยได้อย่างอิสระ การสนับสนุนอาจต้องใช้เครื่องมือราคาแพงหรือมีองค์กรเฉพาะ จำนวนคนไม่มาก ซึ่งอาจต้องลงทุนสูง แต่เชื่อว่าคนกลุ่มนี้จะสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์และต่อยอดได้
พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรียังได้มอบรางวัล TRF-CHE-Scopus Researcher Award ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่และรุ่นกลางของ สกว. ที่มีผลงานวิจัยที่มีศักยภาพ มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีคุณภาพในจำนวนมาก จำนวน 12 คน ได้แก่ ผศ.ดร.มนตรี ชูวงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.นันทนัน เทอดไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, รศ.ดร.ปราณีต โอปณะโสภิต มหาวิทยาลัยศิลปากร, รศ.ดร.พรศักดิ์ ศรีอมรศักดิ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รศ.ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา, ผศ.ดร.พญ.กัญญา ศุภปีติพร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.โอกร เมฆาสุวรรณดำรง มหาวิทยาลัยศิลปากร, นพ.วิศิษฎ์ ทองบุญเกิด มหาวิทยาลัยมหิดล, รศ.ดร.ศุภวัจน์ รุ่งสุริยะวิบูลย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สำหรับการประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่ พบ เมธีวิจัยอาวุโส สกว." นี้จัดขึ้นถึงวันที่ 17 ต.ค.52 โดยภายในงานมีทั้งปาฐกภาพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิ การบรรยายพิเศษของนักวิจัยรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ การบรรยายจากนักวิทยาศาสตร์อาวุโส และการนำเสนอผลงานวิจัยทั้งในรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์