นักวิทยาศาสตร์ยังไม่พบฟอสซิลของล่อ ที่แสดงให้เห็นว่าล่อถือกำเนิดบนโลกเมื่อไร แต่นักประวัติศาสตร์ได้พบหลักฐานที่แสดงว่ามนุษย์รู้จักผสมพันธุ์ระหว่างม้ากับลา อย่างน้อยก็ร่วม 3,000 ปีแล้ว ดังที่ปรากฏในตำนานของชาวยิวยุคกษัตริย์ David ว่า ล่อ คือ สัตว์ในราชสำนัก ส่วนกวี Homer ก็เคยกล่าวถึงล่อว่า ชาวเมือง Henetia ใน Asia Minor มีความเชี่ยวชาญในการผสมพันธุ์สัตว์โดยเฉพาะล่อมาก สำหรับในประเทศกรีซเอง Homer ได้กล่าวถึงการใช้ล่อลากเกวียนและทำนา รวมถึงการแข่งล่อในกีฬาโอลิมปิกเมื่อ 2,500 ปีก่อนด้วย ซึ่งได้แข่งกันนานร่วม 50 ปี จึงได้เลิกราไป
ในปี พ.ศ. 1817 Marco Polo ได้เคยกล่าวชื่นชมความสามารถของล่อที่เขาเห็นในเมือง Turkoman ซึ่งอยู่ในเอเชียกลาง และอีก 500 ปีต่อมาในสเปน ฝรั่งเศส และอิตาลีก็ได้มีการทำฟาร์มล่อ เป็นโรงเลี้ยงขนาดใหญ่ โดยเฉพาะที่เมือง Poitou ในฝรั่งเศส ทุกปีจะมีการส่งล่อเป็นสินค้าออกประมาณ 50,000 ตัว เพื่อช่วยชาวนาทำนา แต่ในอังกฤษ และอเมริกา ไม่นิยมชมชอบล่อ จนกระทั่งปี 2329 เมื่อกษัตริย์สเปนทรงมอบลาตัวหนึ่งชื่อ Compound ให้ George Washington ซึ่งได้ประกาศการให้บริการแก่คนที่นำม้ามาผสมพันธุ์ด้วย หลังจากนั้นอเมริกาก็เริ่มนำลาตัวเมียจากสเปนเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงปี 2393-2403 ทำให้จำนวนล่อ มีมากถึง 150,000 ตัว เพื่อใช้แทนม้าในการทำฟาร์มเกือบทั้งหมด
คนไทยรู้จัก ล่อว่าเป็นสัตว์ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างม้าตัวเมียกับลาตัวผู้ ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียก mule ส่วนล่อที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างม้าตัวผู้กับลาตัวเมียนั้น เรียก hinny สำหรับคนฝรั่งเศสเรียกล่อตัวผู้ว่า le mulet และเรียกล่อตัวเมียว่า la mule
ในสมัยก่อนที่ Mendel จะพบกฎพันธุกรรม ไม่มีใครรู้ว่าในการจะได้ล่อนั้น คนเลี้ยงต้องเลือกพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ ระหว่างม้ากับลาอย่างไร แต่ก็รู้หยาบๆ ว่า หากใช้ม้าตัวเมียกับลาตัวผู้ ลูกล่อที่ได้จะมีลักษณะคล้ายลาโดยเฉพาะส่วนที่เป็นหู ขา และหาง และถ้าใช้ลาสเปนเป็นพ่อพันธุ์ เพราะลาพันธุ์นี้มีขาเรียวงาม ล่อที่ได้จะมีลำตัวคล้ายม้า แต่มีขา หู และหาง เหมือนลา จนทำให้ทหารอังกฤษ กล่าวว่า เวลาดูล่อข้างหน้าจะเหมือนลา แต่ถ้าดูข้างหลังก็จะเหมือนม้า
ล่อที่โตเต็มที่จะสูง ตั้งแต่ 1.20 – 175 เมตร ขนล่อมีสีสม่ำเสมอทั้งตัว ส่วนขา และตะโพกมีรูปทรงเหมือนของม้า แต่หัว หู หาง และขนที่คอมีลักษณะเหมือนของลา ล่อส่งเสียงร้องคล้ายลา อีกทั้งฉลาดและกล้าหาญกว่าลา มีลักษณะการเดินที่มั่นคง และสุขภาพแข็งแรง จึงสามารถดำเนินชีวิตได้ดี ถึงสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงก็ตาม ล่อสามารถอดน้ำและอดอาหารได้ดีกว่าม้า ถึงจะมีความสามารถทั่วไปดี แต่ล่อก็มีข้อเสียบ้างเหมือนกัน คือบริเวณหัว และหู ของมันรับความรู้สึกสัมผัสได้เร็ว ดังนั้น มันจึงไม่ชอบให้ใครมาลูบหู ซึ่งแตกต่างจากม้าที่ชอบให้เจ้าของลูบหัวและหูบ่อย นอกจากนี้ ล่อยังเป็นสัตว์ที่รักความยุติธรรมมาก หากเมื่อใดได้รับความอยุติธรรม มันจะตอบสนองโดยการแสดงออกเชิงต่อต้านทันที และบางครั้งจะเอาแต่ใจตนเอง โดยไม่ฟัง หรือเชื่อใคร ดังสำนวนอังกฤษที่ว่า “stubborn as a mule” เป็นต้น ซึ่งมันจะเป็นเช่นนี้จริง ๆ ถ้าได้รับการเลี้ยงดูตั้งแต่เล็กอย่างไม่ดี
สำหรับตัว hinny ซึ่งเป็นล่อที่เกิดจากลาตัวเมียกับม้าตัวผู้นั้น มีค่าน้อยกว่า mule เพราะเดินช้าและทำงานได้อย่างเชื่องช้ากว่า mule ปราชญ์กรีกชื่อ Pliny ได้เคยกล่าวถึง hinny ว่า มีรูปร่างทั่วไปเหมือนม้า (ซึ่งเป็นพ่อของมัน ในทำนองเดียวกับ mule ซึ่งดูคล้ายลาเหมือนพ่อของมัน) คนไอริชนิยมเลี้ยง hinny มากกว่าชาติใดในโลก เพราะพบว่า hinny มีร่างกายแข็งแรง และอายุยืน
ในสมัยก่อนผู้คนนิยมเลี้ยงล่อ เพื่อใช้งาน และรู้ว่า ล่อที่มีขนาดใหญ่ ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่าง ลา Poitou ตัวผู้กับม้าตัวเมียที่สูงตั้งแต่ 170-175 เซนติเมตร จึงจะได้ล่อที่เป็นที่นิยมในการควบขี่ แต่ถ้าใช้ล่อลากไถในเขตร้อน ก็จะพบว่าวัว และควายสามารถทำงานนี้ได้ดีกว่า สำหรับในเขตหนาวจัด หรือร้อนจัด เช่นแถบขั้วโลก หรือในทะเลทราย ล่อสามารถทำงาน และบรรทุกสัมภาระได้ดี
ตามปกติล่อเริ่มทำงานได้ดี ตั้งแต่มีอายุ 4 หรือ 5 ปี จนกระทั่งอายุ 18-20 ปี และสามารถบรรทุกสัมภาระที่หนักตั้งแต่ 600-800 กิโลกรัม ไปได้ไกลตั้งแต่ 30-40 กิโลเมตรในหนึ่งวัน แต่ถ้าถูกบังคับมันก็จะทำงานได้มากขึ้น
ล่อชอบอยู่เป็นฝูงโดยคนเลี้ยงจะใช้วิธีต้อนหรือจูงเพื่อนำทาง หูล่อมีความสามารถในการได้ยินเสียงดีมาก ถ้าเสียงที่มันได้ยินเป็นเสียงของคนเลี้ยงที่คุ้นหู มันจะเชื่อฟัง เอกลักษณ์อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือความสามารถในการคืนกำลังได้อย่างรวดเร็วหลังการทำงานหนัก เช่น หลังจากที่ได้ออกแรงตลอดทั้งวันเมื่อได้นอนเพียงหนึ่งคืน มันก็พร้อมจะทำงานใหม่ได้ในวันรุ่งขึ้นทันที ซึ่งความสามารถเช่นนี้ ม้าทำไม่ได้
ตำราเลี้ยงล่อ และม้ามักกล่าวว่า สัตว์ทั้งสองชนิดนี้ต้องการการดูแลเหมือน ๆ กัน แต่ความจริงมีว่า ล่อทนหิวและทนกระหายได้ดีกว่าม้า อีกทั้งล่อกินอาหารน้อยกว่าม้า คู่มือการเลือกล่อระบุว่า ในการดูล่อ การมีหลังที่เรียบ “ตรง” คือ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของล่อ และเวลาเลี้ยงผู้เลี้ยงควรปล่อยให้ล่อ เดินไปมาได้อย่างเสรีโดยไม่มีบังเหียนบนหลังบ้าง เพื่อล่อจะได้รู้สึกเบิกบานใจ
ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทของล่อ ในประวัติศาสตร์นั้น โลกก็รู้ว่า เมื่อครั้งที่ Robert Falcon Scott กับคณะเดินทางสู่ขั้วโลกใต้ Scott ได้ใช้ล่อ 7 ตัว ลากสัมภาระในช่วงหนึ่งของการเดินทาง จากเกาะ Ross ถึงที่พักของ Scott โดยใช้ล่อ 7 ตัว และล่อแต่ละตัวบรรทุกสัมภาระหนักถึง 1,000 กิโลกรัม แต่อากาศที่หนาวเหน็บ และอาหารที่ขาดแคลนได้ทำให้ล่อตายไป 2 ตัว ส่วนอีก 5 ตัวเดินทางกลับถึง Cape Evans ได้อย่างปลอดภัย แต่มีสุขภาพไม่ดี จึงถูกยิงตายเมื่อถึงจุดหมายปลายทางในเดือนมกราคม พ.ศ. 2456
เอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดอีกประการหนึ่งของล่อคือ การที่ล่อตัวผู้เป็นหมันในปี 2456 H. Federley ได้ให้เหตุผลสำหรับเรื่องนี้ว่า เกิดจากกระบวนการ meiosis ที่ไม่สามารถสร้างเชื้อตัวผู้ได้ ในช่วง synapsis ที่ chromosome ของเชื้อตัวผู้และไข่ของตัวเมียมารวมกัน และประวัติการผสมพันธุ์ได้บันทึกว่าเวลาล่อ (ทั้ง mule และ hinny) ตัวผู้ ผสมพันธุ์กับล่อ (ทั้ง mule และ hinny) ตัวเมีย หรือลาตัวเมีย จะไม่มีการได้ทายาทใดๆ ด้วยเหตุนี้ ล่อ (ทั้ง mule และ hinny) ตัวผู้จึงถูกตอน ตั้งแต่มีอายุยังน้อย ทั้งนี้เพราะเจ้าของรู้ดีว่าถ้าปล่อยไปผสมพันธุ์ก็ไม่มีผลใดๆ เพราะนอกจากจะเสียเวลาแล้ว การผสมพันธุ์ ยังทำให้ ตัวเมีย รู้สึกรำคาญด้วย ล่อตัวผู้จึงไม่มีทายาทสืบวงศ์ตระกูล
แต่ล่อตัวเมียมักไม่เป็นหมันเหมือนตัวผู้ ดังนั้นเวลาผสมพันธุ์กับม้าหรือลาตัวผู้ บางครั้งมันก็ให้ทายาทได้ แต่อาจแท้งและนาน ๆ ครั้งมันก็อาจตั้งท้องซึ่งใช้เวลานาน ถึง 10.5 เดือนจึงคลอด ถ้าพ่อเป็นลามันก็ดูเป็นล่อเหมือนแม่ แต่ถ้าพ่อเป็นม้า มันก็จะดูเป็นม้าเหมือนพ่อ
ส่วนล่อ hinny นั้น สามารถตกลูกได้ยากกว่าล่อ mule ดังนั้นเวลาผสมพันธุ์กับม้าตัวผู้จึงมักไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เวลาผสมพันธุ์กับลาตัวผู้ ลูกที่คลอดจะดูเป็นลา
ณ วันนี้เครื่องจักรกลได้เข้ามาทำงานเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และคมนาคมแทนสัตว์แล้ว จำนวนสัตว์ จึงมีแต่จะลดลงๆ สถิติการมีล่อในสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า จำนวนได้ลดลงจนแทบสูญพันธุ์ ด้วยเหตุนี้เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญของล่อในอดีต ชาวเมือง Sion ในสวิตเซอร์แลนด์ที่เคยใช้ล่อทำเกษตรกรรมมาเป็นเวลาช้านาน จึงได้สร้างอนุสาวรีย์ของล่อขึ้นเป็นที่ระลึกถึงบุญคุณที่บรรพบุรุษของตนได้ใช้ล่อทำงานเป็นเวลานานหลายชั่วอายุคน
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.