xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ แดนจิงโจ้สุดดีใจ "เอลิซาเบธ แบลกเบิร์น" โนเบลหญิงคนแรกของออสซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอลิซาเบธ แบลกเบิร์น นักวิทย์โนเบลแพทย์ปี 2009 และนักวิทย์โนเบลหญิงคนแรกของออสเตรเลีย
"เอลิซาเบธ แบลกเบิร์น" สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ชาวออสซี หลังคว้าโนเบลแพทย์ปี 2009 กลายเป็นสตรีชาวออสเตรเลียคนแรกบนเวทีโนเบล ด้านนายกรัฐมนตรีแดนจิงโจ้สุดดีใจ เผย "แบลกเบิร์น" คือแรงบันดาลใจที่จะทำให้ผู้หญิงรุ่นใหม่สนใจงานวิทยาศาสตร์มากขึ้น

ทันทีที่คณะกรรมการได้ประกาศผลรางวัลโนเบลประจำปี 2009 สาขาในวันที่ 5 ต.ค.52 นี้ คือ สรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ให้แก่ เอลิซาเบธ แบลกเบิร์น (Elizabeth Blackburn)ร่วมกับ แครอล ไกรเดอร์ (Carol W. Greider) และ แจ๊ก โซสตาค (Jack W. Szostak) จากสหรัฐฯ จากการค้นพบกลไกการปกป้องโครโมโซมด้วยการสร้างเทโลเมียร์ (telomeres) โดยเอนไซม์เทโลเมอเรส (telomerase) สถานีวิทยุของสวีเดนได้สัมภาษณ์ผู้ได้รับรางวัล โดยทั้ง 3 คน รู้สึกดีใจอย่างยิ่งต่อข่าวดีชิ้นนี้

ไกรเดอร์บอกว่า เธอรู้สึกขนลุก และคิดว่า ความสงสัยใคร่รู้เป็นแรงผลักต่องานวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐาน  ขณะที่แบลกเบิร์นเผยว่า เธอรู้ว่า สิ่งที่พวกเธอค้นพบนั้นจะต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่
"ฉันรู้สึกตื่นเต้นมาก และคิดว่ามันช่างน่าตื่นเต้น และนี่คือผลลัพธ์ที่สำคัญ ซึ่งเราก็คงจะไม่ค่อยได้รู้สึกเช่นนี้กันบ่อยนัก" แบลกเบิร์นกล่าว
ส่วนโซสตาค ก็บอกว่า คงจะต้องมีงานเลี้ยงใหญ่ๆ ที่ไหนสักแห่ง เพื่อฉลองรางวัลอันทรงเกียรตินี้

ไม่เพียงเท่านี้ ทางด้านนายเควิน รัดด์ (Kevin Rudd) นายกรัฐมนตรีประเทศออสเตรเลีย ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีกับเอลิซาเบธ แบลกเบิร์น นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายออสเตรเลีย ที่ปัจจุบันเป็นบุคคล 2 สัญชาติ คืออเมริกันและออสเตรเลีย

"รัฐบาลของรัดด์รู้สึกตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ทราบข่าวว่า ดร.แบลกเบิร์น เป็นสตรีชาวออสเตรเลียคนแรก ที่ได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งเป็น 1 ใน 11 บุคคลของออสเตรเลีย ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้" เครก อีเมอร์สัน (Craig Emerson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลออสเตรเลีย กล่าวกับสื่อมวลชนในออสเตรเลียทันทีที่ทราบข่าว 

"ความสำเร็จของเธอจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียทุกคน และมุมมองของพวกเขาต่ออาชีพด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะกับผู้หญิงรุ่นใหม่
" รมว.วิทย์ฯ แดนจิงโจ้กล่าวต่อ

ทั้งนี้ แบลกเบิร์น เกิดในปี 1948 ในเมืองโฮบาร์ต รัฐทัสมาเนีย เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne) ในออสเตรเลีย จากนั้นไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ (University of Cambridge) สหราชอาณาจักร และย้ายไปทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) มลรัฐคอนเนคติกัต สหรัฐฯ

ปัจจุบันแบลกเบิร์นดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสรีรศาสตร์และชีววิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในซานฟรานซิสโก (University of California, San Francisco) 

นอกจากนั้น แบลกเบิร์นยังเคยได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ ให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลกในปี 2007 จากการทำงานวิจัยเกี่ยวกับศักยภาพของเอนไซม์เทโลเมอเรสในการต่อต้านโรคมะเร็งด้วย

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้มีนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียเคยได้รับรางวัลโนเบลในสาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์มาแล้วทั้งสิ้น 6 คน ดังนี้

- ปี 2005 ได้แก่ แบร์รี มาร์แชล (Barry J. Marshall) และ เจ โรบิน วอร์เรน (J. Robin Warren) ปี 2005

- ปี 1996 ได้แก่ ปีเตอร์ ดาเฮอร์ตี (Peter C. Doherty) รับรางวัลร่วมกับ รอล์ฟ ซินเคอร์นาเกล (Rolf M. Zinkernagel) ชาวสวิตเซอร์แลนด์

- ปี 1963 ได้แก่ เซอร์จอห์น แคริว เอ็คเคลส์ (Sir John Carew Eccles) รับรางวัลร่วมกับ อลัน ลอยด์ ฮอดจ์กิน (Alan Lloyd Hodgkin) และ แอนดรูว์ ฟิลดิง ฮักซ์เลย์ (Andrew Fielding Huxley) 2 นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ

- ปี 1960 ได้แก่ เซอร์แฟรงก์ แม็คฟาร์เลน เบอร์เน็ต (Sir Frank Macfarlane Burnet) รับรางวัลร่วมกับ ปีเตอร์ ไบรอัน เมดาวาร์ (Peter Brian Medawar) ชาวอังกฤษ

- ปี 1945 ได้แก่ เซอร์โฮเวิร์ด วอลเตอร์ ฟลอรีย์ (Sir Howard Walter Florey) รับรางวัลร่วมกับ เซอร์อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (Sir Alexander Fleming) ชาวสก็อต และ เอิร์นสท์ บอริส (Ernst Boris) ชาวอิสราเอล
นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 คน ที่ร่วมรับรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์ของปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น