"คุณหญิงกัลยา" เปิดงาน ABIC งานประชุมเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร ชี้เกษตรกรไทยได้ประโยชน์โดยอ้อมจากงานวิจัยร่วมกับต่างชาติ ยกตัวอย่างการปรับปรุงโครงสร้างไขมันในพืชน้ำมันที่ร่วมวิจัยกับแคนาดา
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร หรือ เอบิค 2009 (Agriculture Biotechnology International Conference: ABIC 2009) ภายใต้หัวข้อ เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร เพื่อสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 ก.ย.52 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และได้กล่าวว่าเทคโนโลยีที่นำมาจัดแสดงภายในงานเป็นเทคโนโลยีเพื่อเกษตรกรไทย
รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่านักวิจัยไทยก็ทำอย่างหนักควบคู่ไปกับเกษตรกรไทย เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพและช่วยให้เกิดการแข่งขันได้ พร้อมยกตัวอย่างงานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพของนักวิจัยในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ อาทิ พันธุ์วัวนมและวัวเนื้อที่ให้ผลผลิตดีด้วยการเลี้ยงที่ไม่ปล่อยตามยถากรรม หรือการพัฒนาพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์กุ้งได้ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งปกติต้องนำมาจากธรรมชาติ และตัดตาทีละข้างเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี การผลิตพันธุ์ข้าวทนแล้ง ทนน้ำท่วม ทนแมลงและให้ผลิตดี เป็นต้น
ส่วนการเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงานประชุมเอบิคครั้งนี้นั้น นายเจโรมี โคเนคสนี (Jerome Konecsni) ประธานมูลนิธิด้านการประชุมนานาชาติเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (ABIC Foundation) ประเทศแคนาดา กล่าวว่า คณะกรรมการได้พิจารณาเห็นว่าไทยมีความพร้อมทั้งบุคลากร อุปกรณ์เครื่องและมีความรู้พร้อม จึงเลือกมาจัดงานที่เมืองไทย
ทั้งนี้ไทยกับแคนาดามีความร่วมมือในการวิจัยร่วมกันเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างของไขมันในพืช ซึ่งแคนาดามีความเชี่ยวชาญเรื่องการปรับโครงสร้างไขมันในคาโนลา (canola) พืชน้ำมันชนิดหนึ่ง และไทยนำมาประยุกต์ใช้กับปาล์มน้ำมันได้ และโคเนคสนีกล่าวด้วยว่าเทคโนโลยีด้านเกษตรนั้นจะเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต
“ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เรามีผลผลิตที่จะเพิ่มมูลค่าเยอะ เรียกได้ว่าเราเป็น "เซ็กซี่คันทรี” (sexy country) และมีต่างประเทศมาจีบเราเยอะ" ดร.คุณหญิงกัลยากล่าวเสริม และบอกว่าเกษตรกรไทยจะได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากการจัดงานครั้งในรูปของเทคโนโลยีที่ไทยแลต่างชาติร่วมกันพัฒนา ซึ่งนอกจากแคานาดาแล้ว ไทยยังมีความร่วมมือกับจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น อินเดีย และอังกฤษ
พร้อมกันนี้ ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ รองผู้อำนวยการ สวทช.และประธานคณะกรรมการจัดงานเอบิค 2009 ได้กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่างานนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การประชุมวิชาการซึ่งเป็นเวทีให้นักวิชาการได้แสดงผลงาน และเปิดโอกาสให้ผู้ใช้เทคโนโลยี ซึ่งอาจเป็นบริษัทห้างร้านต่างๆ ได้มีโอกาสมาพบกับนักพัฒนาเทคโนโลยี และส่วนนิทรรศการซึ่งแสดงผลงาน และแสดงศักยภาพของนักวิชาการไทยให้ต่างชาติได้เห็น
ส่วนเกษตรกรไทยจะได้รับประโยชน์ใดจากงานนี้ ศ.ดร.มรกตกล่าวว่า เกษตรกรจะได้รับประโยน์จากส่วนแสดงนิทรรศการ ซึ่งมีผลงานที่เป็นประโยชนืต่อเกษตรกร อาทิ เรื่องปุ๋ยไส้เดือน ข้าวที่ทนน้ำท่วมได้ไม่เกิน 3 สัปดาห์ ซึ่งได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2550 และได้ทรงพระราชทานให้แก่เกษตรกรใน จ.อุตรดิตถ์ และพิจิตร ซึ่งจากการติดตามผลการเพาะปลูกใน 80 ครัวเรือน พบว่าให้ผลผลิตถึง 200 ตัน และยังมีข้าวต้านทานโรคไหม้ ซึ่งสร้างปัญหาแก่เกษตรกรอย่างมาก เมื่อระบาดจะทำให้ใบข้าวร่วงหมด เป็นต้น