xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มมีหวังเห็นทางรักษา เพาะสเต็มเซลล์กลายพันธุ์เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ในหนู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยสหรัฐฯ ศึกษาในหนูทดลอง พบสาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากสเต็มเซลล์ชนิดหนึ่งกลายพันธุ์ (เอเอฟพี)
นักวิทย์สหรัฐฯ พบต้นตอมะเร็งต่อมลูกหมากหลังทดลองในหนู ที่แท้เกิดจากสเต็มเซลล์กลายพันธุ์ เตรียมศึกษาต่อว่ามีส่วนสัมพันธ์กับมะเร็งในต่อมลูกหมากของคนอย่างไร หวังพบหนทางใหม่รักษามะเร็งร้ายที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในผู้ชาย และทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตหลายแสนคนในแต่ละปี

ศาสตราจารย์คอรี อเบท-เชน (Cory Abate-Shen) และทีมนักวิจัยจากวิทยาลัยแพทย์และศัลยแพทย์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University College of Physicians and Surgeons) มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ค้นพบเซลล์ต้นกำเนิด หรือ สเต็มเซลล์ชนิดใหม่ในต่อมลูกหมาก และพบว่าสเต็มเซลล์ดังกล่าว เป็นต้นเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมากได้ หากเกิดการกลายพันธุ์โดยได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่องนี้ในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา ตามที่รอยเตอร์ระบุ

ทีมวิจัยศึกษาในหนูทดลอง พบสเต็มเซลล์ชนิดใหม่อยู่ในเนื้อเยื่อ ที่เรียกว่า "อิพิเทอเลียม" (epithelium) ที่มีอยู่ทั่วไปในร่างกาย และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือว่า สเต็มเซลล์นี้ ยังพบอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าชั้น "ลูมินอล" (luminal layer) ของต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นบริเวณที่แพทย์ทราบกันดีว่า มะเร็งต่อมลูกหมากเกิดขึ้นที่บริเวณนี้ และนักวิจัยเรียกสเต็มเซลล์ชนิดนี้ว่า "คาร์นส" (CARNs) หรืออาจเรียกว่า "ลูมินอลสเต็มเซลล์" (luminal stemcell) ด้วยก็ได้

รอยเตอร์ระบุด้วยว่า นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจต่อบทบาทของสเต็มเซลล์ ในการพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งในต่อมลูกหมากมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีใครทราบกลไกที่แน่ชัด และเพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยดังกล่าว ศาสตราจารย์อเบท-เชน และทีมวิจัย จึงได้ทดลองดัดแปลงพันธุกรรมของลูมินอลสเต็มเซลล์โดยยับยั้งการทำงานของยีนพีเทน (Pten) ในสเต็มเซลล์ดังกล่าว แล้วนำไปปลูกถ่ายในหนูทดลองเพศผู้ ทั้งนี้ ยีนพีเทนเป็นยีนที่เป็นอันตรายสำหรับมะเร็ง เพราะมันมีหน้าที่ยับยั้งการเกิดเนื้องอกและการพัฒนาของเซลล์มะเร็ง

ผลการศึกษาพบว่าหนูทดลองที่มีสเต็มเซลล์บกพร่องทางพันธุกรรมทุกตัวมีการพัฒนาขึ้นของเนื้อร้าย แต่หนูทดลองในกลุ่มควบคุมที่มีลูมินอลสเต็มเซลล์รูปแบบที่ปกติ ก็ยังคงมีสุขภาพแข็งแรงดีทุกประการ

"คาร์นส หรือลูมินอลสเต็มเซลล์ เป็นสเต็มเซลล์ชนิดใหม่ในต่อมลูกหมาก และจากการศึกษาวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าสเต็มเซลล์ชนิดนี้สามารถทำงานเป็นเซลล์ต้นกำเนิดของมะเร็งต่อมลูกหมากได้อย่างไร" ศาสตราจารย์อเบท-เชน กล่าวในเอเอฟพี ซึ่งการค้นพบของพวกเขาในครั้งนี้ ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสเต็มเซลล์และเซลล์มะเร็งได้ดียิ่งขึ้น

รวมถึงเข้าใจถึงกลไกการพัฒนาของสเต็มเซลล์ ไปเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และทำให้นักวิจัยหวังพบแนวทางใหม่ในการรักษามะเร็งชนิดนี้ ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ของโลกในเพศชาย โดยในแต่ละปีมีผู้ป่วยด้วยมะเร็งชนิดนี้ราว 500,000 คนทั่วโลก และเสียชีวิตประมาณ 254,000 ราย ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก

"หากการเปลี่ยนแปลงของยีนในลักษณะดังกล่าว เกิดขึ้นกับเซลล์ทั่วๆไปในเนื้อเยื่อ อาจไม่เป็นปัญหาหรือทำให้มะเร็งพัฒนาขึ้น แต่การแปรเปลี่ยนของยีนนั้นเกิดขึ้นในสเต็มเซลล์ ฉะนั้นจึงทำให้มันพัฒนาไปเป็นเนื้องอกและมะเร็งได้ในที่สุด เพราะสเต็มเซลล์เป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่จะพัฒนาไปเป็นเซลล์ที่มีอยู่ในร่างกายต่อไป" ศาสตราจารย์อเบท-เชน อธิบาย

ทั้งนี้ เนื่องจากผลวิจัยดังกล่าวได้จากการศึกษาในหนูทดลองเท่านั้น และนักวิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสเต็มเซลล์คาร์นสนี้มีอยู่ในต่อมลูกหมากของคนด้วยหรือเปล่า นักวิจัยจึงวางแผนศึกษาต่อโดยเปรียบเทียบระหว่างหนูปกติและหนูที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และศึกษาว่ามีความสัมพันธ์กับมะเร็งต่อมลูกหมากในคนหรือไม่อย่างไร เพื่อให้เข้าใจการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากในคนมากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น