xs
xsm
sm
md
lg

ตั้ง คกก.เคลียร์ “สเต็มเซลล์” ยันยังไม่ยอมรับรักษาหัวใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถกสเต็มเซลล์เหลว มติตั้งคณะทำงานด้านวิชาการศึกษาทบทวนองค์ความรู้ แต่ยังไม่ได้ตัวประธาน ขณะที่เอกชนขนงานวิจัยสเต็มเซลล์รักษาหัวใจมาโชว์ ด้านกุนซือสเต็มเซลล์ยัน รักษาหัวใจยังไม่ยอมรับ จับตารอปลายปี 2552 ประชุมทบทวนองค์ความรู้ใหม่จะได้รู้ รักษาโรคอะไรได้เพิ่มเติม

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) ครั้งที่ 1/2552 เปิดเผยว่า ในการประชุมได้มีการนำเสนอผลงานทางวิชาการของสถานพยาบาลเอกชนที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคหัวใจ ซึ่งส่วนใหญ่ได้ผลดี แต่ก็ยังไม่มีการยอมรับในวงกว้าง โดยในเร็วๆ นี้ จะมีการตั้งคณะทำงานด้านวิชาการในเรื่องดังกล่าวขึ้นมา 1 ชุด เพื่อทำการศึกษาข้อมูลในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ จะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศมาหารือถึงความก้าวหน้าด้านงานวิจัยด้านสเต็มเซลล์ในไทยอีกครั้ง รวมถึงการนำแนวทางปฏิบัติว่ามีอะไรและอย่างไรบ้าง เพื่อนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะที่ผ่านมางานวิจัยที่สถานพยาบาลเอกชนดำเนินการอาจยังไม่มีการรับรอง ก็ต้องดำเนินการให้มีแบบแผนและได้รับการยอมรับมากขึ้นหากต้องการนำมาใช้เป็นแนวทางรักษาที่มาตรฐาน

ด้าน ศ.นพ.ศุภชัย ไชยธีรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลเจ้าพระยา กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการรับรองงานวิจัยที่ทำเฉพาะในสถานพยาบาลของภาครัฐ ในขณะที่ภาคเอกชนก็มีงานวิจัยดังกล่าวที่ทำได้ดีและมีแนวโน้มในการนำใช้รักษาได้ผลดีมากขึ้น โดยเฉพาะโรคหัวใจในรายที่ไม่สามารถผ่าตัดหัวใจ ไม่สามารถทำบอลลูนได้แล้ว รวมถึงกระดูกด้วย การประชุมในครั้งนี้เป็นการนำงานวิจัย ความรู้ต่างๆ มานำเสนอให้คณะกรรมการฯทราบเพื่อนำเป็นข้อมูลความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวต่อไป

ผศ.ดร.นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าหน่วยสเต็มเซลล์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการสอบถามจากผู้เข้าร่วมประชุมในแวดวงงานวิจัยด้านสเต็มเซลล์ พบว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯยังไม่มีข้อสรุปที่นำไปสู่การปฏิบัติหรือข้อเสนอใหม่ๆ เนื่องจากขณะนี้เรื่องสเต็มเซลล์ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน อีกทั้งองค์ความรู้ของทั่วโลกในเรื่องนี้ก็ยังยอมรับการใช้สเต็มเซลล์สำหรับการรักษาโรคทางโลหิตและผิวหนังบางส่วนเท่านั้น

“ในส่วนของการนำสเต็มเซลล์มาใช้ในการรักษาโรคหัวใจ ขณะนี้ในต่างประเทศมีการร่างระเบียบในการนำสเต็มเซลล์มาใช้อย่างเคร่งครัดว่าทำได้หรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในการวิจัยในขั้นตอนที่ 2 จากทั้งหมด 4 ขั้นตอนเท่านั้น ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ทำเสร็จสมบูรณ์แล้วทั้งนั้น อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปี 2552 สมาคมสเต็มเซลล์ระดับนานาชาติจะจัดประชุม เพื่อทบทวนองค์ความรู้งานวิจัยในด้านสเต็มเซลล์ ถือว่าจะเป็นการรายงานให้ทราบว่าสเต็มเซลล์จะนำมาใช้รักษาโรคชนิดใดได้เพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งต้องติดต่อกันต่อไป” ผศ.ดร.นพ.นิพัญจน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น