xs
xsm
sm
md
lg

Charles Lyell : นักธรณีวิทยาผู้เป็นที่ปรึกษาของ Charles Darwin (1)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ซ้าย Darwin กลาง Lyell ขวา Hooker ขณะกำลังอ่านจดหมายของ Wallace
เมื่อ Charles Darwin เขียน Origin of Species เขาอ้างว่าครึ่งหนึ่งของเนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือเป็นสิ่งที่ได้มาจากมันสมองของ Charles Lyell

ทุกวันนี้โลกรู้จัก Charles Lyell ในฐานะบิดาของธรณีวิทยา ผู้ได้วางรากฐานด้านธรณีวิทยาให้แก่ Charles Darwin และ Alfred Russel Wallace ในการสร้างทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ในขณะที่ยังหนุ่ม Lyell ได้เดินทางเผยแพร่ความรู้ด้านธรณีวิทยาให้นักวิชาการชาวยุโรปและอเมริกามีความรู้เรื่องนี้ จนทำให้เขาเป็นนักธรณีวิทยาที่ใครๆ ก็รู้จักและเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก

ในสมัยที่ Lyell จะเริ่มศึกษาธรณีวิทยา ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดเป็นเรื่องลึกลับที่ขึ้นกับพระอารมณ์ของเทพยดาฟ้าดินเท่านั้น แต่ Lyell ได้แสดงให้ทุกคนเห็นและเข้าใจว่า ธรณีที่อยู่ใต้โลกเป็นสิ่ง “มีชีวิต” ที่เคลื่อนไหวได้ จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว

Charles Lyell เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2340 (รัชสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ที่เมือง Kinnordy ในสกอตแลนด์ ครอบครัวนี้มีลูก 10 คน โดยมี Lyell เป็นคนหัวปี บิดาเป็นนักพฤกษศาสตร์ที่สนใจประวัติศาสตร์มาก ในวัยเด็ก Lyell ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนในเมือง Ringwood, Salisbury และ Midhurst ในยามว่างเขาชอบเก็บสะสมแมลง นั่งใจลอย เล่นหมากรุกและปีนต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่ออายุ 19 ปี Lyell ได้เข้าเป็นนิสิตที่ Exeter College แห่งมหาวิทยาลัย Oxford และมี William Buckley เป็นอาจารย์สอนวิชาธรณีวิทยาให้ ซึ่งได้ทำให้ Lyell หลงใหลในวิชานี้มาก จนถึงกับตัดสินใจจะดำเนินชีวิตเป็นนักธรณีวิทยา ทั้งๆ ที่บิดาตั้งใจให้ลูกชายเป็นนักกฎหมาย ซึ่งในตอนแรก Lyell ก็ได้ตามใจ โดยท่องและอ่านตำรากฎหมายจนสายตาเกือบเสีย

เมื่ออายุ 21 ปี Lyell ได้เดินทางไปยุโรปกับครอบครัว ซึ่งการทัวร์ยุโรปนี้เป็นประเพณีที่คนร่ำรวยในสมัยนั้นนิยมทำกัน การท่องเที่ยวกับบิดามารดา และน้องสาวที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ทำให้ Lyell ได้มีโอกาสเห็นภูเขา หิมะ และธารน้ำแข็งบนเทือกเขา Alps อย่างใกล้ชิด จึงได้ศึกษาสภาวะทางธรณีวิทยาของภูมิประเทศนี้ และได้เขียนบทความทางธรณีวิทยาชิ้นแรกในชีวิตก่อนเดินทางกลับอังกฤษ

เมื่ออายุ 24 ปี Lyell ได้รับปริญญา M.A. ทางกฎหมาย และได้เดินทางมาลอนดอนเพื่อเตรียมตัวเป็นทนายความ ในขณะเดียวกันเขาก็ได้เข้าเป็นสมาชิกของ Geological Society ด้วยการเป็นสมาชิกที่ดีของสมาคมทำให้ Lyell ได้รับเลือกเป็นเลขานุการในอีก 3 ปีต่อมา

เมื่ออายุ 27 ปี Lyell ได้พบ Alexander von Humboldt และ George Cuvier การพบปราชญ์ทั้งสองได้ปลุกความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่ Lyell มาก จึงได้สมัครเป็นสมาชิกของ Linnean Society ด้วยการเป็นสมาชิกของสมาคมวิชาการ 2 สมาคมนี้ ทำให้อาชีพทนายความของ Lyell เริ่มมีปัญหา ครั้นเมื่อได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่แถบ Bristol และ Land’s End กับ Louis Constant Prevost เขาก็รู้สึกชอบธรณีวิทยายิ่งขึ้นไปอีก จนสามารถเขียนบทความวิจัยลงในวารสาร Quarterly Review ได้ ซึ่งมีผลทำให้ Lyell ได้รับเลือกเป็น Fellow of the Royal Society เมื่ออายุเพียง 29 ปี จากนั้นได้ตัดสินใจเลิกอาชีพทนายความในอีก 2 ปีต่อมา เพื่ออุทิศตนให้ธรณีวิทยาอย่างเต็มตัว

ผลงานที่ยิ่งใหญ่ชิ้นแรกของ Lyell คือ ตำรา Principles of Geology ซึ่งปรากฏในปี 2373 ดังนั้น เมื่อ Lyell กลับจากการเดินทางไปเยอรมนี เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ธรณีวิทยาแห่ง King’s College ในปี 2375 และได้รับเชิญไปบรรยายที่ Royal Institution บ่อย จนทำให้ได้รับเลือกเป็นนายกของสมาคม Geological Society คนแรกเมื่ออายุ 37 ปี

Lyell เดินทางไปศึกษาด้านธรณีวิทยาในต่างประเทศหลายครั้ง เช่น ไปสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สกอตแลนด์ และอเมริกาเหนือ ในปี 2395 ขณะเดินทางไปเยือน Nova Scotia ในแคนาดา Lyell ได้พบกระดูกของสัตว์บกในทะเล จึงได้เรียบเรียงผลการพบในหนังสือ Travels in North America ความมุ่งมั่นทำงานหนักติดต่อกันนานๆ ทำให้สายตาของ Lyell เริ่มเสียอีกเมื่ออายุได้ 54 ปี และความลำบากยุ่งยากในการเห็นนี้ได้ทรมาน Lyell มาก ในช่วง 10 ปีสุดท้ายของชีวิต

ในหนังสือ Principles of Geology นั้น Lyell ได้แสดงให้เห็นว่า ลม พายุทราย ธารน้ำแข็ง กระแสน้ำ และคลื่นสามารถเปลี่ยนแปลงผิวหน้าของโลกได้อย่างมโหฬาร และความรุนแรงนี้ได้มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจะมีต่อไปในอนาคต ดังนั้น เนื้อหาหลักของความคิดนี้คือโลกมีการเปลี่ยนแปลงเชิงธรณีวิทยามาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ และด้วยความคิดนี้นี่เองที่ Darwin ได้ใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างทฤษฎีวิวัฒนาการ ดังนั้นเมื่อ Lyell รู้ความคิดของ Darwin เรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เขาจึงเห็นด้วยและให้การสนับสนุน Darwin อย่างเต็มที่และเต็มใจ

Lyell คือ ผู้ที่บัญญัติคำ paleontology (บรรพชีววิทยา) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษาฟอสซิล และชีวิตดึกดำบรรพ์ โดยแบ่งยุคของโลกออกเป็น 3 ยุค คือ Pleiocene (เมื่อไม่นาน) Miocene (นาน) และ Eocene (นานมากแล้ว)

Lyell ได้รับเลือกเป็นนายกของสมาคม British Association ในปี 2407 และได้รับเหรียญทอง Copley ของสมาคม Royal Society จากการสร้างผลงานหนังสือเรื่อง Principles of Geology นอกจากนี้ก็ได้เป็นสมาชิกต่างชาติของ Institute of France และอีกหลายสมาคม Lyell ได้รับการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง อัศวิน (Sir) เมื่ออายุ 51 ปี และเป็นบารอนเมื่ออายุ 67 ปี

ขณะมีชีวิตอยู่ Lyell ได้เขียนหนังสือไว้มากมาย นอกจากตำรา Principles of Geology ที่ได้รับการตีพิมพ์ถึง 12 ครั้งแล้ว ก็มีเรื่อง Elements of Geology, Travels in North America with Geological Observations, A Second Visit to the United States, Student’s Elements of Geology และ The Geological Evidence of the Antiquity of Man.

Lyell เสียชีวิตที่ลอนดอน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2418 ขณะอายุ 78 ปี และศพถูกนำไปฝังที่มหาวิหาร Westminster

(อ่านต่อวันศุกร์หน้า)

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.

กำลังโหลดความคิดเห็น