"กอร์ปศักดิ์" เปิดงาน Thailand Reseach Expo พร้อมปาฐกถาแนะนักวิจัยใช้ความคิดทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้ให้ประเทศ ยกตัวอย่างเกาหลีทำธุรกิจท่องเที่ยวแบบใช้ความคิดไม่ต้องเสียเงินประชาสัมพันธ์มาก อินเดียใช้ความสามารถไอทีสร้าง "แบ็คออฟฟิศ" ของโลก คอยตอบปัญหาให้กับผู้ใช้บริการทั่วโลก
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน "การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2552" (Thailand Research Expo 2009) เมื่อวันที่ 26 ส.ค.52 ณ ศูนย์การประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมทั้งกล่าวปาฐกถาพิเศษ "วิจัยอย่างไรจึงจะไปสู่ Creative Economy" ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ร่วมฟังปาฐกถาดังกล่าวด้วย โดยรองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยในวันนี้เริ่มหายใจคล่องขึ้น และไทยมีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ
โดยส่วนตัวนายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่ามีความสนใจด้านการเงินและการคลัง ทั้งนี้มีข้อเสนอในการสร้างรายได้เข้าประเทศโดยส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งไทยเก่งบริการและมีธรรมชาติที่สวยงาม แต่เขาได้ติงว่าการส่งเสริมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวโดยการโหมโฆษณาสื่อต่างประเทศนั้น ไม่ใช่แนวทางการสร้างเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์และใช้ความคิด โดยยกตัวอย่างการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ที่ทำตลาดแบบใช้ความคิดสร้างสรรค์ผ่านละครทีวีและภาพยนต์ เป็นธุรกิจส่งออกวัฒนธรรม
อีกตัวอย่างที่รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการทำเศรษฐกิจแบบความคิดสร้างสรรค์คืออินเดีย ซึ่งใช้สมองและความสามารถทางด้านไอทีสร้าง "แบ็คออฟฟิศออฟเดอะเวิร์ล" (Back Office of the World) รับตอบปัญหาให้กับคนทั่วโลก โดยส่งคนไปฝึกพูดในสำเนียงท้องถิ่นทำให้ผู้ใช้บริการไม่รู้สึกว่ากำลังสื่อสารกับคนอินเดีย ซึ่งอินเดียมีคนทำธุรกิจดังกล่าวเพียงแค่ล้านกว่าคน แต่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ และส่งผลให้เศรษฐกิจของอินเดียไล่ตามจีนมาติดๆ แต่มีความชัดเจนกว่าในด้านการใช้ความคิดสร้างสรรค์
นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งผูกโยงการทำธุรกิจกับเรื่องภาวะโลกร้อน ซึ่งประเทศไทยน่าจะใช้การเกษตรทำเรื่องนี้ได้ ทั้งนี้การจะทำให้ประเทศมีรายได้มี 2 อย่างคือ 1.สร้างรายได้ 2.ลดรายจ่าย ซึ่งต่อให้ให้รายได้เยอะแค่ไหน หากยังมีรายจ่ายเยอะๆ รายได้ก็หมด อย่างประเทศไทยที่ต้องซื้อน้ำมัน จำเป็นหรือไม่ที่ไทยจะต้องนำเงินที่หามาได้จากน้ำพักน้ำแรงไปซื้อน้ำมัน ซึ่งเศรษฐกิจเขียวจะเป็นทางออกให้กับเรื่องนี้ได้
"การเกษตรจะเป็นทางออกในเรื่องพลังงานทดแทนได้ พลังงานจากน้ำมันปาล์ม พลังงานจากมันสำปะหลัง แต่ผลผลิตทางการเกษตรในบ้านเรายังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องค้นคว้าวิจัย เพื่อปลูกพืชพลังงานให้ได้ผลผลิตมากขึ้น และคิดว่านักวิจัยที่เข้าร่วมงานนี้ จะสร้างอนาคตให้กับประเทศด้วยความคิดสร้างสรรค์ของท่านทั้งหลาย ซึ่งถ้าแนวคิดของท่านเป็นแนวทางเดียวกับนโยบายประเทศก็จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้" นายกอร์ปศักดิ์กล่าว
สำหรับงานนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาตินี้จัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 26-30 ส.ค.52 ณ ศูนย์การประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดย ศ.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงานระหว่างเปิดงานว่า งานนี้นำเสนอผลงาน 600 ผลงานจาก 100 หน่วยงาน และมีการประชุมซึ่งแบ่งเป็น 1.การประชุมขนาดใหญ่ที่เสวนากันเรื่องนโยบายและการบริหารจัดการงานวิจัย 2.การประชุมขนาดกลางซึ่งเสวนากันในหัวข้อประเด็นร้อนและปัญหาของประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข และ 3.การประชุมหัวข้อเฉพาะ