xs
xsm
sm
md
lg

หน้ากากเคลือบอนุภาคไมครอน ช่วยตำรวจจราจรลดสูดควันพิษเข้าปอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.อมรรัตน์ ชัยกฤษฎาการ กับหน้ากากอนามัยเคลือบไททาเนียมไดออกไซด์ ป้องกันมลพิษได้ถึง 40%
นักวิจัย มรภ.ธนบุรี เสริมประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยด้วยอนุภาค TiO2 ขนาดไมครอน ทดลองใช้กับตำรวจจราจรได้ผลดี กันมลพิษในท้องถนนได้ 40% แต่ต้นทุนยังสูง อนาคตหวังพัฒนาสารจากสมุนไพรใช้ทดแทน

น.ส.อมรรัตน์ ชัยกฤษฎาการ นักวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี (มรภ.ธนบุรี) เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ได้พัฒนาผ้าปิดจมูกป้องกันฝุ่นละอองและมลพิษให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ด้วยการเคลือบอนุภาคไททาเนียมไดออกไซด์ (TiO2) โดยร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค)

นักวิจัยพัฒนาสารไททาเนียมไดออกไซด์ให้มีขนาดเล็กในระดับไมโครเมตร จากนั้นทำให้อยู่ในรูปของสารละสายไททาเนียมไดออกไซด์ นำผ้าปิดจมูกหรือหน้ากากอนายลงชุบในสารละลายดังกล่าว แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง และนำเข้าอบเพื่อฆ่าเชื้อ ได้หน้ากากอนามัยพร้อมใช้งาน

จากการทดสอบประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยเคลือบไททาเนียมไดออกไซด์ ด้วยเครื่องฟิลเตอร์โฮลเดอร์ ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าสามารถกรองก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) จากท่อไอเสียรถยนต์ได้ 10 - 40% และสามารถกรองก๊าซไฮโดรคาร์บอน (HC) ได้ 10 - 50% เทียบกับหน้ากากอนามัยแบบเดียวกันแต่ไม่เคลือบไททาเนียมไดออกไซด์ สามารถป้องกันมลพิษได้เพียง 20% เท่านั้น

นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ทดลองใช้หน้ากากอนามัยดังกล่าวกับตำรวจจราจรอาสาสมัคร จากสถานีตำรวจนครบาลบุปผาราม เขตธนบุรี จำนวน 50 นาย เป็นเวลาประมาณ 1 ปี พบว่าตำรวจจราจรพึงพอใจในประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยที่พัฒนาขึ้น ซึ่งสามารถซักและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 3 ครั้ง โดยที่ยังคงประสิทธิภาพการกรองมลพิษไว้ได้ และก่อนใช้งานจะต้องนำหน้ากากนี้ไปผึ่งแดดราว 2 ชั่วโมง เพื่อให้รังสีอัลตราไวโอเลตกระตุ้นไททาเนียมไดออกไซด์ให้ปลดปล่อยไฮดรอกซิลไอออน (OH-) ซึ่งจะเป็นตัวดักจับ CO และ HC ทำให้สารดังกล่าวย่อยสลายไป

อย่างไรก็ตาม การผลิตหน้ากากอนามัยเคลือบไททาเนียมไดออกไซด์ ยังมีต้นทุนสูงกว่าหน้ากากอนามัยทั่วไปถึง 10 เท่า หรือตกประมาณ 50 บาทต่อชิ้น จึงอาจทำให้ผลิตเชิงพาณิชย์ได้ยาก แต่ในอนาคตจะพัฒนาต่อยอดเพื่อลดต้นทุน โดยอาจพัฒนาวิธีการผลิตไททาเนียมไดออกไซด์ขึ้นเองแทนการนำเข้า และพัฒนาสารอื่นขึ้นใช้ทดแทน เช่น สารจากสมุนไพร

ทั้งนี้ นักวิจัยอยู่ระหว่างการยื่นขอจดสิทธิบัตรผลงานดังกล่าว และนำผลงานชิ้นนี้เข้าร่วมจัดแสดงในงาน การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2552 (Thailand Research Expo 2009) ระหว่างวันที่ 26-30 ส.ค. 52 ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์
กำลังโหลดความคิดเห็น