xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ชี้เด็กวัยเรียนควรได้วัคซีนหวัดใหญ่ 2009 ก่อนเพื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อาจไม่เพียงพอสำหรับประชากรโลกทุกคน และมีการวิเคราะห์ว่าประชากรกลุ่มใดควรได้รับวัคซีนก่อนเป็นกลุ่มแรก ซึ่งในวารสารไซน์ระบุว่าคือกลุ่มเด็กวัยเรียนและผู้ปกครอง
ช่วงนี้โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีทีท่าว่าจะสงบลง แต่ประเทศต่างๆ ก็ยังหวั่นว่าอาจจะมีการระบาดระลอกที่ 2 ตามมา และอาจจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม และที่น่าห่วงกว่านั้นคือ ยังมีวัคซีนไม่เพียงพอสำหรับทุกคน แล้วใครกันที่เป็นคนกลุ่มแรกที่ควรได้รับวัคซีนก่อนเพื่อน?

นานาชาติกำลังพยายามเร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และผลิตให้ทันป้องกันการระบาดระลอกที่ 2 ทว่าหากทำสำเร็จ ก็ยังได้วัคซีนไม่เพียงพอสำหรับทุกคนทั่วโลกอยู่ดี ฉะนั้นจึงต้องมีการวางแผนให้วัคซีนแก่กลุ่มเสี่ยงเป็นอันดับแรก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขควรได้สิทธิ์รับวัคซีนก่อนเป็นกลุ่มแรก ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้ได้เกือบทุกประเทศ แต่ก็อาจมีคำแนะนำเพิ่มเติมที่ดีกว่านี้ได้

"แต่ละประเทศจะต้องพิจารณาเงื่อนไขของตนเองและดำเนินการให้เหมาะสม เขาจะต้องตัดสินใจหากต้องการหยุดการแพร่กระจายเชื้อโรคดังกล่าว ป้องกันโครงสร้างหลักที่สำคัญ หรือลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิต" เมลินดา เฮนรี (Melinda Henry) โฆษกขององค์การอนามัยโลก กล่าวกับเอเอฟพี

ทว่าปัญหาคือกลยุทธ์ดังกล่าวนี้เหมาะกับบางสังคมเท่านั้น อีกทั้งในกลุ่มนักระบาดวิทยาที่ศึกษาการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ก็ยังมีความคิดเห็นขัดแย้งกันด้วยเกี่ยวกับวิธีการที่จะช่วยรักษาชีวิตผู้คนให้ปลอดภัยจากโรคดังกล่าวให้ได้มากที่สุด

ในวารสารไซน์ (Science) ฉบับสัปดาห์นี้มีรายงานวิจัยที่ระบุถึงวิธีการที่ดีที่สุดในการหยุดยั้งการแพร่กระจายเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือการให้วัคซีนแก่เด็กวัยเรียนและผู้ปกครองก่อนเป็นกลุ่มแรก ซึ่งผลการศึกษานี้เป็นการวางแผนสำหรับสหรัฐฯ แต่สามารถปรับใช้ในประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้วได้ หรือบางทีอาจใช้ได้กับทุกประเทศเลยก็ได้

ทั้งนี้ เคยมีการศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ในวารสารการแพทย์ นิวอิงแลนด์ (New England Journal of Medicine) ระบุว่า ในประเทศญี่ปุ่นมีระบบการให้วัคซีนในเด็กวัยเรียน และสามารถป้องกันการเสียชีวิตของประชากรในทุกวัยได้มากกว่า 40,000 ราย ในแต่ละปี นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 60 จนกระทั่งยกเลิกนโยบายดังกล่าวไปในปี 2537

เกือบทุกประเทศยอมรับเอากลยุทธ์นี้ไปใช้ในการต่อสู้กับโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล นอกจากนั้นการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังมีรูปแบบที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลด้วย เนื่องจากมีการจัดลำดับไว้ก่อนว่ากลุ่มประชากรที่จัดว่ามีความเสี่ยงสูงต่อโรคนี้คือเด็กเล็กที่มีอายุเกิน 6 เดือน, หญิงตั้งครรภ์, ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง และคนชรา

ทว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและทันทีทันใดเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และกลุ่มผู้ติดเชื้อก็ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเดียวกันไปเสียทั้งหมด

"ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ก่อให้เกิดผลลัพธ์รุนแรงในประชากรผู้ติดเชื้อที่มีอายุระหว่าง 20-50 ปี ซึ่งไม่ใช่คุณลักษณะของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล" โลน ไซมอนเซน (Lone Simonsen) นักระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน (George Washington University) และหนึ่งในนักวิจัยถอดรหัสจีโนมไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสหรัฐฯ อธิบายแก่เอเอฟพี และบอกด้วยว่ายังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น โรคอ้วน

ขณะที่ข้อมูลการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่จากประเทศเม็กซิโกชี้ว่า ผู้ที่เกิดก่อนปี 2500 คล้ายว่ามีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งหมายความว่าผู้สูงอายุจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป (European Centre for Disease Prevention and Control) เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วก่อนที่จะมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ว่า กลยุทธ์ใดก็ตามแต่ที่ประเทศใดๆ จะเลือกใช้ในท้ายที่สุด จะต้องมาจากการตัดสินใจที่เป็นไปตามหลักการปกครองและมีจริยธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น