xs
xsm
sm
md
lg

ดูแค่สติ๊กเกอร์ก็รู้ได้ ทุเรียนลูกไหนสุก-ไม่สุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.นวพร ศรีนวกุล หนึ่งในทีมผู้วิจัยและพัฒนาสติ๊กเกอร์วัดความสุกของผลไม้ โดยเริ่มใช้กับทุเรียนเป็นชนิดแรก เพราะเป็นผลไม้ไทยที่มีมูลค่าการส่งออกสูงและสังเกตจากภายนอกได้ยากว่าสุกหรือยัง
นักวิจัยเอ็มเทคคิดค้นสติ๊กเกอร์วัดความสุกของผลไม้ ใช้หลักการวัดระดับฮอร์โมนพืช บอกได้ลูกไหนสุกลูกไหนดิบ นำร่องทดลองใช้กับทุเรียนส่งออกเป็นชนิดแรก หวังเพิ่มมูลค่าให้ทุเรียนไทยและลดปัญหาผู้นำเข้ากดราคา ช่วยให้ผู้ซื้อได้สินค้าตรงตามความต้องการอย่างไม่ผิดพลาด

น.ส.นวพร ศรีนวกุล ผู้ช่วยนักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) พัฒนาสติ๊กเกอร์วัดความสุกของผลไม้ โดยมี ดร.วรรณี ฉินศิริกุล เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย สามารถบ่งบอกได้ว่าผลไม้นั้นสุกแล้วหรือยัง สุกน้อยหรือสุกมากแค่ไหน ซึ่งตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค

"สติ๊กเกอร์วัดความสุกของผลไม้ ใช้หลักการวัดปริมาณฮอร์โมนเอทิลีนที่ผลไม้หลั่งออกมาเมื่อมีการสุก โดยนำสารเปลี่ยนสีที่ทำปฏิกิริยากับเอทิลีนมาเคลือบลงบนสติ๊กเกอร์ชนิดพิเศษ และติดสติ๊กเกอร์ไว้กับผลไม้ สังเกตการเปลี่ยนสีบนสติ๊กเกอร์ว่าผลไม้สุกหรือยังไม่สุก ซึ่งได้นำไปทดลองกับทุเรียนเป็นอย่างแรก เพราะประเทศไทยส่งออกทุเรียนคิดเป็นมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี พบว่าสามารถบอกความสุกของทุเรียนได้อย่างแม่นยำ โดยสติ๊กเกอร์จะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีขาวในทุเรียนดิบ เป็นสีฟ้าเมื่อทุเรียนสุกห่าม และเป็นสีน้ำเงินเมื่อสุกนิ่ม" น.ส.นวพร อธิบาย กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชน

น.ส.นวพร กล่าวต่อว่าสติ๊กเกอร์วัดความสุกของผลไม้นี้ใช้งานง่าย รายงานผลได้แม่นยำ มีความน่าเชื่อถือ และปลอดภัยทั้งกับผู้ใช้และผู้บริโภค ขั้นต่อไปทีมวิจัยจะนำไปขยายผลการทดลองโดยจะนำไปทดสอบในทุเรียนส่งออกร่วมกับเกษตรผู้ส่งออกทุเรียน เพื่อศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการสุกของทุเรียนและการเปลี่ยนสีของสติ๊กเกอร์ รวมทั้งได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรนวัตกรรมดังกล่าวแล้ว

นอกจากนั้น ทีมวิจัยจะพัฒนาสติ๊กเกอร์ให้เหมาะกับใช้วัดความสุกสำหรับผลไม้ชนิดอื่นด้วย อาทิ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง อโวคาโด และกีวี ซึ่งผลไม้เหล่านี้ยากที่จะสังเกตด้วยตาเปล่าได้ว่าเนื้อในสุกหรือยัง

ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้ผ่านการอบรมในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีประจำปี 2552 (TDP 2009) ของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) และวางแผนต่อไปว่าจะจัดตั้งบริษัทเพื่อผลิตสติ๊กเกอร์วัดความสุกผลไม้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตออกสู่ตลาดได้ราวต้นปี 53 และจะมีราคาถูกกว่าสติ๊กเกอร์วัดความสุกของแอปเปิลของสหรัฐฯ ราว 10 เท่า โดยมีผู้ส่งออกทุเรียนเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายแรก

"งานวิจัยนี้พัฒนาขึ้นจากความต้องการของตลาด ความต้องการของผู้บริโภค ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับทุเรียนส่งออกได้ เพราะช่วยลดปัญหาการกดราคาจากประเทศผู้นำเข้าเนื่องจากจุดอ่อนในเรื่องของการประกันคุณภาพทุเรียน ทั้งยังช่วยลดปัญหาการคาดเดาผิดพลาดของผู้ซื้อและผู้ขาย และช่วยให้ผู้บริโภคได้สินค้าที่ตรงกับความต้องการด้วย" น.ส.นวพร กล่าว
สติ๊กเกอร์วัดความสุกของผลไม้ติดอยู่ที่บริเวณก้านทุเรียน สีของสติ๊กเกอร์จะเปลี่ยนจากขาวเป็นฟ้าและน้ำเงินตามระดับความสุกของทุเรียนที่ค่อยๆ สุกมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น