xs
xsm
sm
md
lg

ท่องโลกของสีเรียนรู้วิธีทำผ้ามัดย้อมกับ วว. ในงานมหกรรมวิทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้เข้าชมงานมหกรรมวิทย์ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สนใจทดลองทำผ้ามัดย้อมแบบง่ายๆ ที่บูธนิทรรศการโลกของสี ที่จัดโดย วว. ภายในงานมหกรรมวิทย์ 52 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี
เอ่ยถึงแม่สี ทุกคนต้องนึกถึง สีแดง สีเหลือง และ สีน้ำเงิน แต่ที่จริงแม่สีไม่ได้มีแค่ชนิดเดียวหรือมีเฉพาะ 3 สีนี้เท่านั้น หากอยากรู้จักสีให้มากขึ้น ตามทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ไปท่องโลกของสีในงานมหกรรมวิทย์กันได้เลย พร้อมเรียนรู้เทคนิคการทำผ้ามัดย้อมแบบง่ายๆ แต่สวยงามไม่เหมือนใครด้วย

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำความรู้เรื่อง "โลกของสี" เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2552 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยเน้นให้เยาวชนได้รู้จักธรรมชาติของสี การใช้ประโยชน์จากสีในด้านต่างๆ พร้อมทั้งสาธิตวิธีการทำผ้ามัดย้อมสีสันสวยงามแต่ทำง่ายไม่ยุ่งยาก

รู้จัก "โลกของสี" ในมุมวิทย์และมุมศิลป์

ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน "สี" คือ ลักษณะของแสงที่ปรากฏแก่สายตาให้เห็นเป็นสี

ส่วนในทางวิทยาศาสตร์ จำกัดความของสีว่า เป็นคลื่นแสง หรือความเข้มของแสงที่สายตามองเห็น ขณะที่ในทางศิลปะอธิบายว่า สี คือทัศนธาตุอย่างหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของงานศิลปะและใช้ในการสร้างงานศิลปะ โดยจะทำให้ผลงานมีความสวยงาม ช่วยสร้างบรรยากาศ มีความสมจริง เด่นชัด และน่าสนใจมากขึ้น

สีเป็นสสารที่มีอยู่ในธรรมชาติ สามารถนำมาใช้ได้โดยตรง หรือได้จากการสกัด ดัดแปลง จากพืช สัตว์ ดิน และแร่ธาตุต่างๆ หรืออาจได้จากการสังเคราะห์ด้วยกระบวนการทางเคมี เป็นสีสังเคราะห์ ซึ่งสะดวกและมีให้เลือกใช้มากมายในปัจจุบัน นอกจากนั้น แสง ยังเป็นพลังงานเพียงชนิดเดียวที่ให้สี โดยอยู่ในรูปของรังสีที่มีความเข้มของแสงอยู่ในช่วงที่ตามองเห็นได้

ในราวปี 2209 เซอร์ ไอแซค นิวตัน ได้แสดงให้เห็นว่าสีคือส่วนหนึ่งในธรรมชาติของแสงอาทิตย์ โดยให้ลำแสงส่องผ่านแท่งแก้วปริซึม แสงจะหักเห เพราะแท่งแก้วปริซึมมีความหนาแน่นมากกว่าอากาศ เมื่อลำแสงหักเหผ่านปริซึมจะปรากฏแถบสีสเปคตรัม (Spectrum) หรือ สีรุ้ง คือ สีม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด และแดง

เมื่อแสงตกกระทบโมเลกุลของสสาร พลังงานบางส่วนจะดูดกลืนสีจากแสงบางส่วน และสะท้อนสีบางสีให้ปรากฏเห็นได้ เช่น พื้นผิววัตถุที่เราเห็นเป็นสีแดง เพราะวัตถุดูดกลืนแสงสีอื่นไว้ และสะท้อนเฉพาะแสงสีแดงออกมา ส่วนวัตถุสีขาวจะสะท้อนแสงสีทุกสี และวัตถุสีดำจะดูดกลืนทุกสี

รู้จัก "แม่สี" และ "วงจรสี"

แม่สี คือ สีที่นำมาผสมกันแล้วทำให้เกิดสีใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากสีเดิม โดยแม่สีแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

1. แม่สีของแสง เกิดจากการหักเหของแสงผ่านแท่งแก้วปริซึม มี 3 สี คือ สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน อยู่ในรูปของแสงรังสี ซึ่งเป็นพลังงานชนิดเดียวที่มีสี และมีคุณสมบัติที่สามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพ การจัดแสงสีในการแสดง การสร้างภาพบนจอโทรทัศน์และจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งถ้าฉายแสงทั้ง 3 สีนี้รวมกัน จะได้แสงสีขาวหรือไม่มีสี และเราสามารถสังเกตแม่สีของแสงได้จากจอโทรทัศน์สีหรือจอคอมพิวเตอร์ โดยใช้แว่นขยายส่องดู จะเห็นเป็นแถบสีแสงสว่าง 3 สี คือ แดง เขียว และน้ำเงิน

2. แม่สีวัตถุธาตุ เป็นสีที่ได้มาจากธรรมชาติและจากการสังเคราะห์โดยกระบวนการทางเคมี มี 3 สี ได้แก่ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน แม่สีวัตถุธาตุเป็นแม่สีที่นำมาใช้งานกันอย่างกว้างขวางในวงการศิลปะและอุตสาหกรรม แม่สีวัตถุธาตุ เมื่อนำมาผสมกันตามหลักเกณฑ์ จะทำให้เกิดวงจรสี (Colour Circle) ซึ่งเป็นวงจรสีธรรมชาติ เกิดจากการผสมกันของแม่สีวัตถุธาตุ เป็นสีหลักที่ใช้งานกันทั่วไปในวงจรสี ซึ่งวงจรสีมีขั้นของสีดังนี้

สีขั้นที่ 1 คือ แม่สี ได้แก่ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน
สีขั้นที่ 2 คือ สีที่เกิดจากสีขั้นที่ 1 หรือแม่สีผสมกันในอัตราส่วนที่เท่ากัน จำทำให้เกิดสีใหม่ 3 สี ได้แก่ สีส้ม (แดงผสมกับเหลือง), สีม่วง (แดงผสมกับน้ำเงิน) และสีเขียว (เหลืองผสมกับน้ำเงิน)
สีขั้นที่ 3 คือ สีที่เกิดจากสีขั้นที่ 1 ผสมกับสีขั้นที่ 2 ในอัตราส่วนที่เท่ากัน จะได้สีอื่นๆ อีก 6 สี คือ
สีแดง + สีส้ม = สีส้มแดง
สีแดง + สีม่วง = สีม่วงแดง
สีเหลือง + สีเขียว = สีเขียวเหลือง
สีน้ำเงิน + สีเขียว = สีเขียวน้ำเงิน
สีน้ำเงิน + สีม่วง = สีม่วงน้ำเงิน
สีเหลือง + สีส้ม = สีส้มเหลือง

นอกจากนี้ภายในนิทรรศการโลกของสียังได้จัดกิจกรรมทำผ้ามัดย้อมแบบง่ายๆ ไว้ให้ผู้ที่มาเข้าชมงาน ซึ่งได้รับความสนใจจากเด็กๆ และประชาชนจำนวนไม่น้อย เพียงแค่นำผ้าที่เราต้องการย้อมสีมามัดด้วยเชือกเป็นรูปแบบต่างๆ โดยอาจห่อก้อนหินไว้ข้างในด้วยก็ได้ จากนั้นนำไปแต่งแต้มเติมสีสันให้สวยงามตามใจชอบ จากนั้นนำไปผึ่งจนสีแห้ง ก็จะได้ผ้ามัดย้อมที่มีลวดลายและสีสันสวยงามไม่ซ้ำแบบใคร และหัวใจสำคัญของการทำผ้ามัดย้อมก็คือการมัดนั่นเอง เพราะส่วนที่ถูกมัด จะเป็นส่วนที่สีไม่แทรกซึมเข้าไป และทำให้เกิดลวดลายที่สวยงาม
มัดผ้าแล้ววาดลวดลายสีสันตามชอบใจบนผ้ามัดย้อม
ผ้ามัดย้อมที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีสีสันและสวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นภูมิปัญญาการสร้างสีสันและลวดลายลงบนผืนผ้าได้อย่างน่าทึ่ง
นอกจากได้เรียนรู้วิธีทำผ้ามัดย้อมแล้ว ยังได้รู้จักกับสีที่ได้จากธรรมชาติ จากแก่นไม้ชนิดต่างๆ
พืชพันธุ์หลากชนิดที่ให้สีสันสวยงามตามธรรมชาติ เช่น ขมิ้น ดอกคำฝอย
ผักผลไม้สัสันสวยงาม นำมาสกัดสีหรือนำมาใช้โดยตรงก็ได้ ให้สีสวยงามอย่างเป็นธรรมชาติและปลอดภัย 100%
สีผสมอาหารที่ได้จากการสังเคราะห์ แม้ใช้ผสมอาหารได้ แต่ก็ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม มิเช่นนั้นก็อาจเป็นอันตรายกับผู้บริโภคได้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น