ปิดฉากการแข่งขันเครื่องบินกระดาษในงานมหกรรมวิทย์ แชมป์ผู้ใหญ่ทำสถิติร่อนนาน 15.27 วินาที แชมป์เด็กทำสถิติร่อนนาน 14.52 วินาที ควงคุ่เตรียมบินไปแข่งที่ญี่ปุ่น ด้านผู้เชี่ยวชาญแดนปลาดิบชี้ฝีมือเด็กไทยสูสีเด็กญี่ปุ่น ถ้าฝึกดีๆ จะดีมากขณะที่นายกสมาคมเครื่องกระดาษไทยชี้มาตรฐานการแข่งขันดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังต้องปรับปรุงสนามแข่งให้กว้าง ปราศจากสิ่งกีดขวางและการรบกวนทิศทางลมจากช่องแอร์
ลุ้นกันมันหยดกับการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งที่ 6 ซึ่งชิงแชมป์กันในวันสุดท้ายของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-23 ส.ค.52 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ผู้ชนะเลิศประเภทผู้ใหญ่ได้แก่ นายสมยศ มูลการณ์ ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวใน จ.ปทุมธานี ซึ่งทำสถิติปาเครื่องบินกระดาษพับได้นาน 15.27 วินาที และผู้ชนะเลิศประเภทเด็กได้แก่ ด.ช.ศิวกร โนนทนวงษ์ นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนสนามบิน ซึ่งทำสถิติได้ 14.52 วินาที
ทั้งนี้ผู้เข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศนั้นคัดจากตัวแทนผู้เข้าแข่งขันใน 4 ภาคคือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียง ภาคกลางและภาคใต้ ซึ่งจัดการแข่งขันโดยสมาคมเครื่องบินกระดาษพับ และในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศผู้เข้าแข่งขันมีเวลา 3 นาทีในการปาเครื่องบินกระดาษ 5 ครั้งและนับสถิติที่เครื่องบินร่อนได้นานที่สุด และผู้ชนะเลิศในประเภทผู้ใหญ่และเด็กจะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งที่ประเทศญี่ปุ่น
นายสมยศกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เคยเข้าแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับเมื่อ 5 ปีที่แล้วในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งครั้งนั้นผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศแต่ไม่ชนะการแข่งขัน สำหรับครั้งนี้การแข่งขันจัดใกล้ๆ บ้านจึงเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งเทคนิคสำคัญคือต้องพับกระดาษให้เรียบที่สุด โดยใช้บัตรหรือไม้บรรทัดช่วย และสำคัญที่สุดคือการพับหางเสือ หางพับได้พอดีเครื่องบินจะร่อนไปอย่างนุ่มนวล แต่ถ้าพับให้หนักไปเครื่องบินจะเหินเหมือนขึ้นเนิน และถ้าพับเบาไปหัวเครื่องบินจะกดลง
นอกจากนี้ทิศทางการปาก็มีความสำคัญ ในการแข่งขันครั้งนี้ต้องดูว่ามีช่องแอร์หรือสิ่งกีดขวางหรือไม่ ควรจะปาไปในทิศทางไหน และต้องปาให้สูง อย่างไรก็ดีไม่มีสูตรตายตัว ในการแข่งขันต้องอาศัยลองผิดลองถูก
ส่วน ด.ช.ศิวกร กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า ระหว่างแข่งขันรู้สึกกดดันมาก ทั้งนี้ได้เข้าแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับเป็นปีที่ 2 ซึ่งทั้งการฝึกเทคนิคปาเครื่องบินกระดาษาและการพับ ล้วนสำคัญเท่าๆ กัน โดยก่อนไปแข่งขันที่ญี่ปุ่นจะเตรียมตัวฝึกซ้อมให้มากขึ้น
ทางด้าน ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ นายกสมาคมเครื่องบินกระดาษพับ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่ามาตรฐานการแข่งขันปีนี้ดีขึ้นและดีขึ้นเรื่อยๆ มีคนให้ความสนใจมากขึ้น และเข้าใจในหลักการพับกระดาษมากขึ้นด้วย อีกทั้งมาตรฐานเริ่มใกล้เคียงการแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่น และเจ้าหน้าที่จากญี่ปุ่นเองยังให้ความเห็นอนาคตไทยจะเป็นศูนย์กลางในการแข่งขันได้
อย่างไรก็ดียังต้องมีการปรับปรุงในเรื่องสนามที่ควรมีพื้นที่มากขึ้น ไม่มีสิ่งกีดขวางและลมที่รบกวนเครื่องบินจากเครื่องปรับอากาศ ซึ่งหากตัดสิ่งรบกวนเหล้านี้ สถิติการปาของผู้แข่งขันน่าจะดีกว่านี้
สำหรับเทคนิคการแข่งขันนั้น อย่างแรกต้องพับกระดาษให้สม่ำเสมอ และเทคนิคการปา ต้องปาให้สูงที่สุดซึ่งจะทำให้มีลมพยุงที่ปีก ช่วยให้การร่อนลงของเครื่องบินกระดาษหมุนวนเป็นวงกลมและค่อยๆ ลงสู่พื้น ทำให้เครื่องบินร่อนได้นาน
ทั้งนี้สมาคมเครื่องบินกระดาษพับได้จัดการแข่งขนเพื่อคัดตัวแทนจาก 4 ภูมิภาคในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. แล้วตัวแทนจึงเข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ส่วนการแข่งขันที่ญี่ปุ่นนั้นได้รับความนิยมกันมาก โดยเฉพาะการแข่งขันประเภทร่อนนาน
พร้อมกันนี้ นายทาคูโอะ โทดะ ผู้เชี่ยวชาญเครื่องบินกระดาษพับจากญี่ปุ่น ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า เด็กไทยมีฝีมือในการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับใกล้เคียงเด็กญี่ปุ่น อีกทั้งสถิติจากการซ้อมนั้นเด็กไทยทำได้ดี แต่ในการแข่งขันจริงทำได้ไม่ดีเท่าไหร่เนื่องจากความตื่นเต้น ซึ่งหากฝึกฝนดีๆ จะทำได้ดีมาก
ทั้งนี้ที่ญี่ปุ่นมีการแข่งขันเครื่องบินกระดาษ 5 ประเภทได้แก่ ก่อนประถมศึกษา ประถม มัธยม-ผู้ใหญ่ ระดับอาวุโสเกิน 60 ปีขึ้นไป และปีนี้มีการแข่งขันประเภทผู้หญิง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่ที่นำลูกมาแข่งขัน แต่พ่อมักไม่แข่งเนื่องจากกลัวเสียหน้าหากแพ้แม่