xs
xsm
sm
md
lg

ดูกัน ! นักเรียนเลือดสาดได้แผลสดกลับบ้าน จากงานมหกรรมวิทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเรียนจำนวนมากที่มาเข้าชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2552 ให้ความสนใจเข้าคิวรอชมการสาธิตการทำบาดแผลเทียมด้วยเนื้อเทียมประดิษฐ์ ผลงานของกรมแพทย์ทหารบก กระทรวงกลาโหม
มาชมงานมหกรรมวิทย์กันทีไร เด็กๆ เป็นต้องได้แผลได้เลือดกลับบ้านไปทุกปี แต่อย่าเพิ่งตกใจกันไปใหญ่ เพราะไม่ใช่ว่านักเรียนเปิดศึกทะเลาะวิวาทกันกลางงาน แต่เป็นผลงานของกระทรวงกลาโหมที่มาร่วมสร้างสีสันและความตื่นเต้นให้เด็กๆ ด้วย นวัตกรรมการทำบาดแผลเทียมให้ดูกันสดๆ

หน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมได้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการและนวัตกรรมทางการทหารภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประจำทุกปี และปีนี้ก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะนวัตกรรมการทำบาดแผลเทียมที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากทุกปี เพราะมีการสาธิตวิธีการแต่งบาดแผลบนร่างกายให้ดูกันจะจะ สร้างความตื่นเต้นให้เด็กๆ กันยกใหญ่ และเข้าคิวรอทำแผลเทียมกันยาวเหยียด
พันโทหญิงยุพาภรณ์ กรินชัย ผู้ริเริ่มโครงการทำเนื้อเทียมประดิษฐ์สำหรับตกแต่งบาดแผลสมมติ
พันโทหญิงยุพาภรณ์ กรินชัย นายทหารประชาสัมพันธ์ กรมแพทย์ทหารบก เล่าให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงที่มาของการทำบาดแผลเทียมว่าใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้กับนักเรียนแพทย์ด้านการแพทย์และการพยาบาล โรงเรียนเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก โดยแสดงให้นักเรียนเห็นลักษณะของการเกิดบาดแผลประเภทต่างๆ เช่น บาดแผลถูกยิง โดนระเบิด ถูกของมีคม จะต้องปฐมพยาบาลกันอย่างไร

"เดิมทีใช้แผลเทียมที่ทำจากยางมาใช้สาธิตการปฐมพยาบาล แต่ขาดความน่าสนใจและผู้เรียนไม่รู้สึกตื่นเต้น ต่อมาอาจารย์หมอท่านหนึ่งได้ไปดูงานในสหรัฐฯ และพบว่าที่นั่นมีการทำบาดแผลเทียม จึงได้เปลี่ยนไปใช้วิธีการทำบาดแผลเทียมเพื่อการเรียนการสอน สร้างความตื่นเต้นและสมจริงในการเรียนได้เป็นอย่างดี โดยช่วงแรกได้นำเข้าวัสดุการทำแผลเทียมมาใช้ แต่ราคาแพงมาก ต่อมาจึงคิดหาวิธีทำให้ต้นทุนการทำแผลเทียมถูกลง" พันโทหญิงยุพาภรณ์ ผู้ริเริ่มโครงการนวัตกรรมการทำบาดแผลเทียม

วัสดุหลักที่ใช้ในการทำบาดแผลเทียมประกอบด้วย เนื้อเทียม เลือดเทียม และสีชนิดต่างๆ เช่น สีน้ำมัน สีโปสเตอร์ สีผสมอาหาร โดยเนื้อเทียมมีแป้งสาลีเป็นส่วนผสมหลัก และมีสูตรเฉพาะในการกวนเพื่อให้ได้เนื้อเทียมที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเนื้อและผิวหนังของคนจริงๆ และน้ำเนื้อเทียมที่ได้มาแต่งแต้มลงบนผิวหนัง ทำรูปแบบ ใส่สี หรือใช้อุปกรณ์อื่นช่วย เพื่อให้ดูเหมือนแผลสดจริงๆ ได้มากกว่า 100 แผล เช่น แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก กระดูกหัก งูกัด ถูกยิง ถูกแทง แขนขาด ขาขาด เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยากมาก หากมีความชำนาญแล้วก็สามารถตกแต่งบาดแผลเทียมให้สมจริงได้ภายในเวลาไม่กี่นาที

ผลงานการคิดค้นเนื้อเทียมสำหรับทำแผลเทียมของพันโทหญิงยุพาภรณ์ นำไปใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียนเสนารักษ์มานานกว่า 10 ปี ซึ่งทำได้ง่าย สะดวกใช้งาน ไม่ต้องนำเข้าเนื้อเทียมจากต่างประเทศที่มีราคาแพงอีกต่อไป และ เนื้อเทียมประดิษฐ์บาดแผลสมมติ นี้ยังเคยได้รับรางวัลดีเด่น จากกองทัพบก และรางวัลชมเชย จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันได้เผยแพร่เทคนิคการทำเนื้อเทียมและบาดแผลเทียมให้กับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ ไปแล้วมากมาย ทั้งใช้ในการเรียนการสอน และประกอบการแสดงด้านต่างๆ

หากใครสนใจอยากมีบาดแผลเทียมตามร่างกายบ้าง สามารถไปดูการสาธิตและทำบาดแผลสมมติได้ที่บูธกระทรวงกลาโหม ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2552 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ตั้งแต่วันนี้ถึง 23 ส.ค. 52
เนื้อเทียมทำจากแป้งสาลีและสีชนิดต่างๆ อุปกรณ์สำคัญสำหรับการทำบาดแผลสมมติ ใช้ได้ทั้งในการเรียนการสอนและประกอบการแสดงต่างๆ
เจ้าหน้าที่กำลังตกแต่งบาดแผลสมมติให้กับนักเรียนที่สนใจทำบาดแผลเทียมเป็นที่ระลึกในงานมหกรรมวิทย์
แผลน้ำร้อนลวกดูสมจริง แต่ทำจากเนื้อเทียมนี่เอง
เจ้าหน้าที่กำลังตกแต่งผิวหนังของนักเรียนให้เหมือนแผลไฟไหม้โดยใช้เนื้อเทียมจากแป้งสาลี
เจ้าหน้าที่ใช้พู่กันช่วยตกแต่งบาดแผลเทียมให้ดูเหมือนแผลถูกของมีคมบาด
สาวน้อยผู้นี้มีแผลเหวอะหวะบนฝ่ามือ แต่เธอกลับดูยิ้มแย้มแจ่มใสไม่เจ็บปวดใดๆ เพราะนี่เป็นแค่แผลเทียมเท่านั้นเอง
แผลที่แขนของน้องหนูคนนี้เหมือนถูกของมีคมบาด และผ่านการเย็บแผลมาแล้ว แต่ก็เป็นแผลเทียมอีกเหมือนกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น