โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำเอาหลายคนหวาดผวาไปตามๆ กัน เพราะเกรงว่าร่างกายเราจะสู้กับมันไม่ได้ แต่หากเราทำความรู้จักกับเจ้าไวรัสตัวร้ายนี้ได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสเอาชนะมันได้มากขึ้น ไบโอเทคจึงรับหน้าที่สกัดดีเอ็นเอของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ แล้วนำมาให้ดูกันจะจะในงานมหกรรมวิทย์
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) นำนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มาจัดแสดงให้ชมกันภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2552 โดยอยู่ในบริเวณโซนของบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร
เริ่มต้นจากทำความรู้จักกับเจ้าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งมันคือเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ เอช1เอ็น1 (Influenza A H1N1) สายพันธุ์ใหม่ ที่ไม่เหมือนกับ H1N1 ที่เคยปรากฏแล้วก่อนหน้านี้ เพราะเจ้าเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้มีบรรพบุรุษหลายสายพันธุ์ โดยสารพันธุกรรมของมันที่ประกอบด้วยอาร์เอ็นเอ 8 เส้น ที่มาจากเชื้อไวรัสในหมู ในนก และในคน ทำให้มันมีหน้าตาไม่เหมือนกับเชื้อไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู และไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในคน จึงเป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ที่จะต้องหาวิธีปราบเชื้อร้ายตัวใหม่นี้ให้ได้ ถ้าไม่ได้ด้วยยา ก็ต้องเอาให้อยู่หมัดด้วยวัคซีน
แม้ว่ายาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังใช้ได้ดีกับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้อยู่ก็ตาม แต่เชื้อก็มีโอกาสกลายพันธุ์จนดื้อยาได้ นักวิทยาศาสตร์จึงทำงานกันอย่างหนักเพื่อพัฒนาวัคซีนที่สามารถสยบเชื้อไวรัสชนิดนี้ให้ได้ ซึ่งหลักการของวัคซีนก็คือไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ให้ร่างกายมีโอกาสทำความรู้จักกับเชื้อโรคที่ไม่เคยเจอมาก่อนในปริมาณน้อยๆ เพื่อจะได้เรียนรู้ว่าจะรับมืออย่างไรหากได้เจอเชื้อโรคนี้อีก
เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นรูปแบบที่ยังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือการใช้ไข่ไก่ฟัก โดยฉีดเชื้อไวรัสที่ต้องการใช้ผลิตวัคซีน และเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่จำเป็นสำหรับการร่วมผลิตวัคซีน เข้าไปในไข่ไก่ฟักฟองเดียวกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมระหว่างกัน จากนั้นคัดเลือกไวรัสตัวที่เหมาะสมไปผลิตเป็นวัคซีนต่อไป
ส่วนเทคนิคการผลิตวัคซีนแบบใหม่ที่เริ่มนำมาใช้กันบ้างแล้วนั้นเรียกว่า รีเวิร์ส เจเนติกส์ (Revers Genetics) โดยสกัดแยกยีนของไวรัสที่สร้างโปรตีนส่วนผิวของไวรัส คือ H และ N แล้วนำมาปรับเปลี่ยนพันธุกรรมให้เหมาะสม และสกัดแยกยีนอื่นๆ จากไวรัสสายพันธุ์ที่จำเป็นสำหรับการร่วมผลิตวัคซีน นำยีนจากไวรัสทั้งสองสายพันธุ์มาผสมกันสร้างเป็นไวรัสสายพันธุ์ลูกผสม และคัดเลือกไวรัสที่เหมาะสมไปผลิตวัคซีน ซึ่งข้อดีของวิธีใหม่นี้คือสามารถสร้างไวรัสที่เหมาะสำหรับเป็นวัคซีนได้รวดเร็วกว่าโดยไม่ต้องใช้ไข่ไก่ฟัก
จะรู้ได้ไงว่าเราเป็นไข้หวัดใหญ่หรือเปล่า
หากเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีไข้ ตัวร้อน มีอาการไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ง่วงซึม ปวดกล้ามเนื้อและตามข้อ หรือมีอาการของระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ และรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
สำหรับบางคนที่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เข้าไปแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แล้วยังไม่ไปพบแพทย์ ก็อาจมีส่วนช่วยแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้ ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับตรวจวัดอุณหภูมิระยะไกล "เทอมสกรีน 2.0" (ThermScreen 2.0) ใช้ร่วมกับกล้องตรวจวัดรังสีความร้อน ที่ช่วยให้ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายได้โดยไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วย ตรวจวัดได้ครั้งละหลายคน รู้ผลภายใน 0.03 วินาที และเทคโนโลยีนี้ก็นำมาใช้คัดกรองผู้ที่จะเข้าชมงานมหกรรมวิทย์ปีนี้ด้วย
จะรู้ได้ไงว่าผู้ป่วยคนไหนเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
แพทย์จะวินิจฉัยผู้ป่วยที่สังสัยว่าอาจเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โดยนำสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น เสมหะ หรือน้ำมูก ไปสกัดแยกเอาสารพันธุกรรมของไวรัส ซึ่งคืออาร์เอ็นเอ จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการเปลี่ยนให้เป็นดีเอ็นเอ แล้วนำไปเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่โพลิเมอเรส หรือ พีซีอาร์ (PCR) เมื่อได้ดีเอ็นเอไวรัสจำนวนมากพอ ก็นำไปแยกด้วยไฟฟ้าบนแผ่นวุ้น หรือ เจล อิเล็กโตรโฟเรซิส (Gel electrophoresis) เปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดต่างๆ ก็จะรู้ว่าผู้ป่วยรายนี้ได้รับเชื้ออะไร ซึ่งวิธีนี้เป็นวิถีมาตรฐานที่ใช้ในห้องแล็บตรวจเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่โดยทั่วไป และไบโอเทคก็นำเอาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดต่างๆ มาให้ดูกันในงานมหกรรมวิทย์ด้วย
"สมุนไพร 5 ราก" รักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ตามแบบแพทย์แผนไทย
เมื่อยาฝรั่งใช้ไม่ได้ผลหรือมีราคาแพงเกินไป ยาสมุนไพรจึงกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรค โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็เช่นเดียวกัน ที่มีสูตรตำหรับยาสมุนไพรรักษาโรคนี้ได้อยู่ แม้จะยาปัจจุบันยังใช้ได้ผลอยู่ก็ตาม แต่การรักษาโรคตามแบบแพทย์แผนไทยด้วยยาสมุนไพร ก็ยังแสดงถึงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยและช่วยประหยัดเงินตราเพื่อนำเข้ายาจากต่างประเทศได้
ในงานมหกรรมวิทย์ปีนี้ คณะการแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต จึงภูมิใจเสนอวิธีรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ตามคัมภีร์ตักศิลา ที่บันทึกไว้ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ที่ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกให้ยากระทุ้งพิษไข้ เพื่อขับพิษไข้ออกจากร่างกาย จากนั้นให้ยาแปรไข้ เพื่อดับพิษไข้ แปรไข้จากร้ายเป็นดี และขั้นสุดท้ายให้ยาครอบไข้ เพื่อครอบไข้มิให้กลับมาเป็นอีก และบำรุงร่างกายไปพร้อมกัน
พระเอกของการรักษาด้วยวิธีนี้คือ ตำรับ "ยา 5 ราก" หรือ "เบญจโลกวิเชียร" ที่ใช้ในการกระทุ้งพิษไข้ ซึ่งมีส่วนประกอบของสมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ ชิงชี่ คนทา ย่านาง ท้าวยายม่อม และมะเดื่อชุมพร
นอกจากนี้ยังมีการเปิดอบรมการทำเจลล้างมือป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วย ทั้งในส่วนของกรมวิทยาศาสตร์บริการ และห้องแล็บขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
หากใครสนใจเรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ การทำเจลล้างมือ เทคโนโลยีและภูมิปัญญาไทยสู้หวัดสายพันธุ์ใหม่ สามารถไปเยี่ยมชมและหาความรู้กันได้ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2552 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ระหว่างวันที่ 8-23 ส.ค. 2552 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 2-8 ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. สำหรับโรงเรียนที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อได้ที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โทร. 0-2577-9999 ต่อ 1833 หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nsm.or.th และ Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์ โทร. 1313