xs
xsm
sm
md
lg

ท่องโลกความหลากหลายมหกรรมวิทย์ ทำความรู้จัก "ดาร์วิน-เอเลียนสปีชีส์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โอ้โห! กิ้งกือไทยมีตั้งร้อยกว่าชนิด
สิ่งมีชีวิตบางชนิดหน้าตาคล้ายกัน แต่กลับเป็นคนละเผ่าพันธุ์ ทว่าบางชนิดลักษณะแตกต่างกัน แต่กลับถูกจัดกลุ่มเป็นเครือญาติกัน เอ...แล้วอะไรเป็นสิ่งที่บอกให้รู้ถึงความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์กันแน่? ตามไปหาคำตอบได้ในงานมหกรรมวิทย์ 52 พร้อมตื่นตากับความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในเมืองไทย ชนิดที่เพิ่งค้นพบใหม่ และทำความรู้จักกับเอเลียนสปีชีส์กัน

ก่อนที่จะไปสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยในงานมหกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2552 ที่โซนนิทรรศการ "ความหลากหลายทางชีวภาพ" หรือ "ไบโอไดเวอร์ซิตี พาวิลเลียน" (Biodiversity Pavillion) ทุกคนต้องผ่านเข้าไปในกระโจมสีขาวก่อน เพื่อย้อนกาลเวลากับไปทำความรู้จักกับคุณลุง "ชาร์ลส ดาร์วิน" นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 200 ปีที่แล้ว ผู้วางรากฐานสำคัญของการศึกษาชีววิทยาสมัยใหม่ด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการ

ลุงดาร์วินเกิดในครอบครัวผู้มีฐานะดี มีบิดาเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียง ลุงดาร์วินในวัยเด็กไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือ แต่ชอบอยู่กับธรรมชาติ เมื่อโตขึ้นลุงดาร์วินก็เรียนแพทย์ตามความต้องการของครอบครัว แต่เรียนไม่ไหว จึงย้ายไปเรียนทางด้านศาสนา แต่ก็ยังชอบชื่นชมธรรมชาติอยู่ จนกระทั่งได้มีโอกาสร่วมเดินทางรอบโลกไปกับเรือหลวงบีเกิล ทำให้ลุงดาร์วินได้พบเห็นสิ่งมีชีวิตมากมาย โดยเฉพาะที่หมู่เกาะกาลาปากอส ประเทศเอกวาดอร์

หลังกลับมาถึงอังกฤษอีกครั้ง ลุงดาร์วินก็รวบรวมข้อมูลที่ได้พบเห็นมา พร้อมกับค้นคว้าเพิ่มเติมอีกร่วม 20 ปี จึงตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยการคัดสรรของธรรมชาติ (On the Origin of Species by Means of Natural Selection) ทว่าลุงดาร์วินก็ยังไม่เข้าใจว่าอะไรที่เป็นตัวกำหนดลักษณะของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด และถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้

ในเวลาต่อมาไม่นานนัก บาทหลวงเกรเกอร์ เมนเดล ชาวออสเตรียก็ได้อธิบายถึงลักษณะทางพันธุกรรมว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีบางสิ่งบางอย่างเป็นตัวกำหนดลักษณะต่างๆ และส่งผ่านไปถึงลูกหลานได้ ซึ่งภายหลังมีการค้นพบว่าสิ่งนั้นคือรหัสพันธุกรรม เจมส์ วัตสัน และฟรานซิส คริก ก็ได้ค้นพบโครงสร้างเกลียวคู่ของดีเอ็นเอที่เก็บรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต จนกระทั่งเข้าสู่ยุคแห่งการใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมและดีเอ็นเอ เช่น การโคลนนิง ที่ช่วยให้กำเนิดแกะดอลลี

เมื่อรู้จักลุงดาร์วินและนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ อีกหลายคนที่มีส่วนช่วยให้การศึกษาชีววิทยาสมัยใหม่ก้าวหน้าเร็วและคลี่คลายปมปริศนาแห่งชีวิตได้ง่ายขึ้น ก็ถึงเวลาที่เราจะไปท่องไปในดินแดนแห่งความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยกัน เริ่มต้นที่การสำรวจปลากัดไทยหลากสีสัน บางชนิดดูภายนอกไม่เหมือนกันเลยสักนิด แต่เมื่อตรวจลึกลงถึงระดับดีเอ็นเอแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกมันเป็นปลากัดในสปีชีส์เดียวกัน

กิ้งกือ มหัศจรรย์สัตว์ร้อยขา และนานาสัตว์พันธุ์ใหม่ที่พบในป่าเมืองไทย

กิ้งกือก็เป็นสัตว์ตัวจ้อยอีกชนิดหนึ่งที่มีมากในโลกนี้ถึง 12,000 ชนิด ซึ่งพบแล้วในไทยถึง 115 ชนิด จากการสำรวจจริงจังเมื่อไม่กี่ปีมานี้ และคาดว่ายังมีที่ยังไม่ถูกค้นพบอีกหลายร้อยชนิด แต่ที่แน่ๆ เจ้าร้อยขาบางชนิดมาโชว์ตัวในงานมหกรรมวิทย์ปีนี้ด้วย เช่น กิ้งกือกระสุน กิ้งกือกระบอก และกิ้งกือตัวแบน ซึ่งเจ้ากิ้งกือเหล่านี้มีคุณค่ามหาศาลต่อระบบนิเวศ เพราะทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ กลายเป็นแร่ธาตุที่หล่อเลี้ยงชีวิตพืชและสัตว์ หมุนเวียนเช่นนี้ต่อไป

นอกจากกิ้งกือแล้ว ในประเทศไทยยังมีการค้นพบสปีชีส์ใหม่อย่างต่อเนื่อง เพราะมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศที่หลากหลาย และเอื้อต่อการดำรงชีวิตของสัตว์และพืชนานาชนิด อาทิ

กิ้งก่าหัวยาวเขานัน อาศัยในป่าดิบเขา บนยอดเขานัน ที่มีระดับความสูง 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีความยาวจากหัวถึงหางประมาณ 30 เซนติเมตร ลำตัวแบนด้านข้าง ตัวผู้มีแผงหนามที่สันคอยาว ไม่มีแผงคอที่สันหลัง ตัวสีน้ำตาลอมเขียว เห็นถุงใต้คอชัดเจน

จิ้งเหลนห้วยหางหนาม ลักษณะเด่นคือ หางสั้น เกล็ดแหลมคล้ายหนาม พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ

หอยจิ๋วบีอาร์ที หอยทากจิ๋วชนิดใหม่ของโลก พบครั้งแรกที่เขาหินปูนบ้านท่าด่าน ใกล้กับอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา

มหาพรมหราชินี เป็นไม้วงศ์กระดังงา ลักษณะเด่นคือมีดอกใหญ่ที่สุดในสกุลมหาพรมห พบบริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำตกสุรินทร์ จ.แม่ฮ่องสอน

ปูราชินี หรือ ปูสามสี มีปากและขาเป็นสีแดงและส้ม ก้ามมีสีขาว กระดองมีสีน้ำเงินอมม่วง ตัวเต็มวัยมีขนาด 12.5 มิลลิเมตร พบครั้งแรกเมื่อปี 2527 ที่ จ.นราธิวาส ต่อมาพบว่าเป็นปูประจำถิ่นในป่าพรุน้ำจืด อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และอุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี และไม่เคยมีรายงานว่าพบที่ไหนอีกเลย

ปูเจ้าพ่อหลวง ปูน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ลักษณะเด่นคือมีกระดองสีน้ำตาลเข้ม ขาก้ามเป็นสีน้ำตาลเข้ม ด้านในขาก้ามหนีบอันล่างเป็นสีม่วง และปลายก้ามหนีบทั้งสองข้างเป็นสีส้ม พบบริเวณภูหลวง อ.สะพุง จ.เลย

นอกจากนี้แล้วยังมีพืชชนิดใหม่ของโลกที่พบครั้งแรกในไทยอีกหลายชนิด เช่น โมกราชินี เครือเทพรัตน์ จำปีสิรินธร กันภัยมหิดล กุหลาบพระนามสิรินธร และสิรินธรวัลลี เป็นต้น

เมื่อดำดิ่งไปใต้ทะเล เราก็จะพบกับสัตว์น้ำอีกหลากชนิดที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น ฟองน้ำ ดาวทะเล ปลานกแก้ว หอยงวงช้าง และในงานนี้ยังมีแมงกะพรุนกลับหัวมาโชว์ตัวให้ชมกันด้วย ถ้าใครไม่รู้ ดูเผินๆ อาจคิดว่าแมงกะพรุนเหล่านี้ตายแล้ว แต่ที่จริง แล้วมันยังมีชีวิตอยู่ และพฤติกรรมเด่นของมันก็คือเอาส่วนหัวไว้ด้านล่าง และเอาหนวดไว้ด้านบน คอยดักจับเหยื่อตัวเล็กๆ ที่ว่ายผ่านมากินเป็นอาหาร

ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในไทยไม่ได้มีเฉพาะพืชพันธุ์สัตว์ในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือ "เอเลียน สปีชีส์" (Alien Species) อีกจำนวนไม่น้อยที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ จนสามารถแพร่ขยายพันธุ์และครอบครองระบบนิเวศน์ในบริเวณนั้น เช่น ผักตบชวา หญ้าคา ปลาซักเกอร์ หอยเชอร์รี่ เต่าญี่ปุ่น ปลาหมอสียักษ์ ไมยราบยักษ์ บัวตอง ธูปฤๅษี และด้วงแรดมะพร้าว เป็นต้น

หากใครอยากรู้ว่าในเมืองไทยของเรามีความหลากหลายทางชีวภาพมากน้อยแค่ไหน และความหลากหลายนี้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดกับสิ่งมีชีวิตและมวลมนุษย์ เชิญไปร่วมกันพิสูจน์ได้ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2552 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ตั้งแต่วันนี้จนถึง 23 ส.ค. นี้เท่านั้น.
ลุงดาร์วินออกเดินเรือ ไขความลับวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต
โอ้โห! ปลากัดไทยหลากลวดลายหลายสีสัน รวมกันแล้วมีกี่ชนิดกันนะ
กิ้งก่าหัวยาวเขานัน อาศัยในป่าดิบเขา บนยอดเขานัน ที่มีระดับความสูง 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีความยาวจากหัวถึงหางประมาณ 30 เซนติเมตร ลำตัวแบนด้านข้าง ตัวผู้มีแผงหนามที่สันคอยาว ไม่มีแผงคอที่สันหลัง ตัวสีน้ำตาลอมเขียว เห็นถุงใต้คอชัดเจน
จิ้งเหลนห้วยหางหนาม ลักษณะเด่นคือ หางสั้น เกล็ดแหลมคล้ายหนาม พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ
หอยจิ๋วบีอาร์ที หอยทากจิ๋วชนิดใหม่ของโลก พบครั้งแรกที่เขาหินปูนบ้านท่าด่าน ใกล้กับอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา
มหาพรมหราชินี เป็นไม้วงศ์กระดังงา ลักษณะเด่นคือมีดอกใหญ่ที่สุดในสกุลมหาพรมห
ปูราชินี หรือ ปูสามสี มีปากและขาเป็นสีแดงและส้ม ก้ามมีสีขาว กระดองมีสีน้ำเงินอมม่วง เป็นปูประจำถิ่นในป่าพรุน้ำจืด อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และอุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี
ปูเจ้าพ่อหลวง ปูน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พบบริเวณภูหลวง อ.สะพุง จ.เลย
แมงกะพรุนกลับหัว ดูผิวเผินนึกว่าแมงกะพรุนตายแล้ว
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นบางชนิดที่รุกรานระบบนิเวศในไทย
ดูกัน เอเลียน สปีชีส์ ในไทยมีอะไรกันบ้าง
สำรวจความหลากหลายของพืชสัตว์ในไทยมีกี่ชนิด ในโลกมีกี่ชนิด
หุ่นยนต์ตั๊กแตนยักษ์ร่วมอวดโฉมใน Biodiversity Pavillion
กำลังโหลดความคิดเห็น