สดร. จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายดาราศาสตร์สุดสวยงามกลางงานมหกรรมวิทย์ พร้อมมอบรางวัลผลงานที่ชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ของปีนี้ มีทั้งพระจันทร์ยิ้ม, สุริยคราส, ดาวหาง, ดาวตก ขณะที่ภาพดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์คว้าชนะเลิศประเภทปรากฏการณ์ เจ้าของเดียวกับภาพแกแลกซี M-51 ที่คว้าชนะเลิศจากประเภทวัตถุอวกาศห้วงลึก
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ประกาศผลการตัดสินและมอบรางวัลโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ประจำปี 2552 ในหัวข้อ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย" เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2552 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานการมอบรางวัล
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผอ.สดร. กล่าวว่า โครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ สดร. จัดขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองปีดาราศาสตร์สากล (IYA 2009) และเป็นการส่งเสริมกิจกรรมการถ่ายภาพทางด้านดาราศาสตร์ในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้คนไทยเกิดความสนใจในด้านดาราศาสตร์มากขึ้น โดยมีผลงานที่ได้รับรางวัล แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้
ประเภท Deep Sky Objects (หรือ วัตถุในอวกาศห้วงลึก)
รางวัลชนะเลิศ นายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ จากภาพ M-51 “Whirlpool Galaxy”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายสมาพร ติญญนนท์ จากภาพ กระจุกดาวลูกไก่ M45
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายพรชัย รังษีธนไพศาล จากภาพ กระจุกดาวทรงกลม
ประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์
รางวัลชนะเลิศ นายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ จากภาพ Venus Transit 2004
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายโอภาส ชาญมงคล จากภาพ พระจันทร์ยิ้ม
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 Mr. Asger Mollerup จากภาพ Sunset Behind Linga at Prasat Phanomrung
และนายนิคม คุปตะวินทุ จากภาพ สุริยคราสที่เพรชบุรี
ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ
รางวัลชนะเลิศ นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต จากภาพ ดวงจันทร์บังดาวเสาร์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายโชติชัย ปิยวงศ์สิริ จากภาพ คราสบนดาวพฤหัสบดี
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ไม่มีผู้ผ่านการคัดเลือก
ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์
รางวัลชนะเลิศ นายกิตติพัฒน์ มหพันธ์ จากภาพ ภูชี้ฟ้าใต้พระจันทร์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต จากภาพ ดาวหางเฮล-บอพพ์ เหนือท้องฟ้าประเทศไทย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายโอภาส ชาญมงคล จากภาพ ดาวตกในวงรอบดาวเหนือ
นายตระกูลจิตร เจ้าของรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ถึง 2 ประเภท กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า การถ่ายภาพดาราศาสตร์ใน 2 ประเภท ที่ได้รับรางวัลนั้น ใช้อุปกรณ์การถ่ายภาพคล้ายคลึงกัน แต่อาศัยเทคนิคต่างกันเล็กน้อยจึงจะได้ภาพที่สวยงาม และการถ่ายภาพดาราศาสตร์ให้สวยงามนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องอาศัยประสบการณ์ ซึ่งตนก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์การถ่ายภาพดาราศาสตร์มานานกว่า 10 ปีแล้ว ด้วยความชื่นชอบในเรื่องดาราศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ลึกลับและน่าค้นหา เมื่อมองออกไปในท้องฟ้าแล้วเราได้เห็นสิ่งที่กว้างไกล ไม่ได้เป็นเหมือนกบในกะลา
ทั้งนี้ ผลงานภาพถ่ายที่ได้รับรางวัล รวมทั้งภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดแต่ไม่ได้รางวัล ได้นำมาจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมกันภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ประจำปีนี้ด้วย และ สดร. จะนำไปเผยแพร่ในโอกาสต่อไปโดยจัดทำเป็นสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ปฏิทิน สมุดภาพ และโปสการ์ด