สดร.- อพวช. จัดนิทรรศการภาพถ่ายดาราศาสตร์ "ภาพถ่ายโลกรัตติกาล" เชื่อมความสัมพันธ์คนทั่วโลกผ่านภาพถ่ายบันทึกดาราศาสตร์และวัฒนธรรม กำหนดเปิดให้เข้าชมฟรีถึง 24 มิ.ย.นี้ คาดขยายเวลาให้ครบเดือน ก่อนย้ายนิทรรศการไปไว้ที่จามจุรีสแควร์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมจัดนิทรรศการ "ภาพถ่ายโลกรัตติกาล" (The World At Night) ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาตร์มหาราชินี อพวช. คลองห้า ปทุมธานี โดยได้ร่วมประสานความร่วมมือโครงการโลกรัตติกาล (The World at Night) หรือทะแวน (TWAN) ซึ่ง ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 52
ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่านิทรรศการภาพถ่ายโลกรัตติกาลนี้ได่นำลิขสิทธิ์ภาพถ่ายท้องฟ้ายามค่ำ คืนจากโครงการทะแวน จำนวน 50 ภาพมาจัดแสดง พร้อมภาพถ่ายท้องฟ้าฝีมือคนไทยอีกกว่า 30 ภาพ ซึ่งนอกจากเป็นภาพที่วยงามแล้วยังมีคุณค่าในการศึกษาปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่ ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เห็นได้ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพระดับมืออาชีพ
พร้อมกันนี้ อพวช.และ สดร.ยังได้ร่วมกันจัดอบรมการถ่ายภาพท้งฟ้ายามค่ำคืนสำหรับนักวิชาการ ช่างภาพมืออาชีพและมือสมัครเล่นในไทย ระหว่างวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ โดยวิทยากรจาก สดร.และ นายโอชิน ดี ซาคาเรียน (Oshin D.Zakarian) ผู้แทนโครงการทะแวน และมีกิจกรรมถ่ายภาพ ณ วัดทุ่งภูเขาทอง และวัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา
ทั้งนี้นิทรรศการจะจัดแสดง ณ อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มหาราชินี ถึงวันที่ 24 มิ.ย.นี้ แต่ ดร.พิชัยเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เนื่องจากมีผู้สนใจจองเข้ามาทัศนศึกษาจำนวนมาก จึงคาดว่าจะขยาย เวลาจัดแสดงออกไปเป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นจะย้ายนิทรรศการไปจัดที่จามจุรีสแควร์ และจะเผยแพร่ผ่านกิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์ของ อพวช.ต่อไป
ด้าน รศ. บุญรักษา สุทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่ากิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเนื่องในปีดาราศาสตร์สากล (International Year of Astronomy: IYA2009) ซึ่งเป็นปีที่องค์การยูเนสโก (UNESCO) และสหพันธ์ดาราศาสตร์ (International Astronomical Union: IAU) กำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงวาระครบรอบ 400 ปี ที่กาลิเลโอ กาลิเลอิ (Galileo Galilei) นักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียน ได้ประดิษฐ์กล้องดูดาวและใช้สำรวจท้องฟ้าเป็นครั้งแรกของโลก เมื่อปี 1609
ไทยในฐานะสมาชิกสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล รศ.บุญรักษากล่าวว่าได้ร่วมจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะในปี 2552 ได้วางแผนจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี อาทิ กิจกรรมสังเกตสุริยุปราคาบางส่วนเมื่อ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา และกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 22 ก.ค.นี้ กิจกรรมสังเกตฝนดาวตกลีโอนิดส์วันที่ 17 พ.ย.และฝนดาวตกเจมินิดส์ วันที่ 13 ธ.ค. รวมถึงสถาปนาสถานที่สำคัญทางดาราศาสตร์ของไทย เช่น ปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ที่แสงอาทิตย์ส่องผ่าน 15 ช่องประตู ทุกวันที่ 3 เม.ย. วัดสันเปาโล จ.ลพบุรี หอดูดาวแห่งแรกของไทย เป็นต้น
รศ. บุญรักษากล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ว่านิทรรศการภาพถ่ายดาราศาสตร์นี้ เป็นการรวบรวมภาพถ่ายดาราศาสตร์ที่มีองค์ประกอบเป็นสถานที่สำคัญหรือ โบราณสถานในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งนอกจากเพื่อฉลองปีดาราศาสตร์สากลแล้ว ยังเป็นการเชื่อมคนทั่วโลกผ่านดาราศาสตร์และวัตนธรรม โดยภาพถ่ายในโครงการทะแวนนั้นต้องมีองค์ประกอบของดาราศาสตร์และสถานที่สำคัญ หรือโบราณสถานของประเทศนั้นๆ
ทางด้าน ดร.คุณหญิง กัลยาเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์หลังได้ชมภาพถ่ายดาราศาสตร์ในนิทรรศการว่า ชอบภาพเกี่ยวกับพระจันทร์ยิ้มของไทย เนื่องจากที่ประเทศอื่นๆ ไม่ได้เห็นตำแหน่งของดวงจันทร์และดวงดาวเรียงตัวเหมือนของไทย ส่วนภาพถ่ายจากต่างประเทศก็มีความหลากหลายมาก ซึ่งตามที่นายโอชินบอกนั้นในการถ่ายภาพดาราศาสตร์นอกจากมีความรู้ วิทยาศาสตร์แล้วยังต้องมีศิลปะด้วย ขณะที่ รศ๑บุญรักษาเสริมว่าต้องมีความอดทนอย่างมากด้วย ดังนั้นดาราศาสตร์จึงเป็นเครื่องมือสร้างคน
พร้อมกันนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ได้บันทึกภาพถ่ายบางส่วนมาให้ชมก่อน และสำหรับผู้ที่สนใจสามารถไปชมได้ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ณ อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มหาราชินี ได้ถึงวันที่ 24 มิ.ย.นี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม