xs
xsm
sm
md
lg

พบเชื้อ "อีโบลา" ครั้งแรกใน "หมู" หวั่นกลายพันธุ์ก่อโรคอุบัติใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมู เจ้าบ้านในอุดมคติของเชื้อไวรัส ที่อาจเป็นแหล่งฟูมฟักเชื้อไวรัสธรรมดาให้กลายเป็นเชื้อโรคร้ายได้ และติดต่อสู่คนง่ายดาย (ภาพจากแฟ้ม)
ฟิลิปปินส์พบไวรัสอีโบลาในหมูครั้งแรก ยันไม่ก่อโรคในคน แต่นักวิทย์หวั่นอนาคตอาจกลายพันธุ์เป็นเชื้อรุนแรง และยังติดต่อได้ง่ายจากหมูสู่คน สงสัยต้นตอเชื้ออาจอยู่ในค้างคาว

ทีมนักวิทยาศาสตร์ฟิลิปปินส์ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารไซน์ (Science) เมื่อต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ถึงการค้นพบเชื้อไวรัสอีโบลาครั้งแรกในหมู ซึ่งในไซน์แมกกาซีนระบุว่าเป็นเชื้อไวรัสอีโบลา-เรสตัน (Ebola-Reston virus: REBOV) โดยก่อนหน้านี้พบเชื้อดังกล่าวเฉพาะในลิงและในคนเท่านั้น ทั้งยังเป็นเชื้อที่ไม่ก่อโรคร้ายแรงด้วย

ทว่านักวิจัยห่วงกังวลว่า หมูอาจเป็นแหล่งรวมของไวรัสและทำให้ไวรัสที่ไม่มีอันตรายกลายพันธุ์ เป็นเชื้อร้ายที่เป็นภัยต่อมนุษย์มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม บีบีซีนิวส์ระบุว่านักวิจัยของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) สหรัฐฯ เน้นย้ำว่าตอนนี้เชื้อไวรัสดังกล่าวยังไม่ปรากฏว่าเป็นอันตรายแก่มนุษย์

ด้านแมกดาเลนา ครูซ (Magdalena Cruz) หัวหน้าศูนย์สุขภาพสัตว์ฟิลิปปินส์ (Philippine Animal Health Center) ซึ่งร่วมในงานวิจัยนี้ด้วย กล่าวว่าแม้ขณะนี้เชื้ออีโบลา-เรสตัน ยังไม่ปรากฏว่าเป็นอันตรายกับมนุษย์ แต่มันอาจกลายพันธุ์ในระหว่างที่แฝงอยู่ในหมูจนกลายเป็นเชื้อโรคร้ายได้

"เราได้รับการเตือนเรื่องนี้ จากสถานการณ์การติดเชื้อในหมู" ครูซ กล่าวในไซน์เดฟด็อทเน็ต ซึ่งในไซน์เดลีระบุว่า นักวิจัยกังวลว่าการติดเชื้อไวรัสอีโบลา-เรสตันในหมูเลี้ยงนั้น อาจทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ได้ทั้งที่แพร่ระบาดในหมู่คนและในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ซึ่งขณะนี้มีการตรวจพบเชื้อในเจ้าหน้าที่ของฟาร์มเลี้ยงหมูแล้ว ทว่ายังไม่มีใครที่แสดงอาการป่วยเนื่องจากเชื้อดังกล่าว

ทั้งนี้ เชื้ออีโบลา-เรสตัน เป็นเชื้อไวรัสในตระกูลฟิโลไวรัส (filovirus) ซึ่งไวรัสในตระกูลนี้จะพบเฉพาะในสัตว์ตระกูลไพรเมต และเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกและรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ โดยเชื้ออีโบลา-เรสตัน ถูกพบครั้งแรกในห้องแล็บในปี 2532 ซึ่งแยกเชื้อได้จากลิงที่ถูกส่งมาจากฟิลิปปินส์ไปยังเมืองเรสตัน มลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐฯ

ทว่าจากการศึกษาล่าสุดที่นักวิทยาศาสตร์ฟิลิปปินส์ได้ทดลอง โดยนำตัวอย่างชิ้นเนื้อเยื่อของหมูที่มีอาการของโรคติดเชื้อในทางระบบทางเดินหายใจที่ผิดปกติอย่างรุนแรงจากแหล่งต่างๆ ในฟิลิปปินส์มาตรวจวิเคราะห์ พบว่ามีเชื้อไวรัสอีโบลา-เรสตันหลากหลายสายพันธุ์ในหมูที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ซึ่งชี้ว่าเชื้อไวรัสมันอาจจะแพร่กระจายไปในหมูได้อย่างอิสระและเป็นวงกว้างมานานก่อนที่มันจะถูกพบครั้งแรกในลิงที่ถูกส่งไปยังสหรัฐฯ

นักวิจัยกล่าวว่า อาจเป็นไปได้ที่ต้นกำเนิดของเชื้อไวรัสอีโบลา-เรสตัน เกิดขึ้นในสัตว์ชนิดอื่นที่ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ยังแยกเชื้อออกจากสัตว์ดังกล่าวไม่ได้ เช่น ค้างคาวผลไม้ ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นแหล่งที่แฝงตัวของเชื้อไวรัสชนิดนี้ และผู้เชี่ยวชาญยังบอกอีกว่า หมูเป็นเจ้าบ้าน (host) ในอุดมคติของเชื้อไวรัส ในการแปรเปลี่ยนกลายพันธุ์ และเป็นแหล่งแฝงตัวของเชื้อโรคอย่างดี เพราะหมูอยู่ในห่วงโซ่อาหารที่สำคัญของมนุษย์ และยังมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับคนด้วย

"เรารู้ว่าไวรัสในวงศ์นี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคร้ายในคน แม้ว่ายังไม่มีหลักฐานในตอนนี้บ่งบอกว่าเชื้ออีโบลา-เรสตัน เป็นสาเหตุก่อโรคในคนได้ ทว่าก็ดูเหมือนว่ามันจะสามารถติดต่อสู่คนได้ และติดต่อได้จากหมูสู่คน และการติดเชื้อในโฮสต์ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นคนหรือหมู ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยใดบ้างและมีผลอย่างไร" ดร.ไมเคิล แมคอินทอช (Dr Michael McIntosh) กล่าว ซึ่งขณะนี้องค์การอนามัยโลกรับรองว่าเนื้อหมูดังกล่าวยังคงปลอดภัยต่อการบริโภค หากปรุงให้สุกด้วยวิธีที่เหมาะสม.
นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าค้างคาวอาจเป็นแหล่งรังโรคของเชื้ออีโบลา-เรสตัน (ภาพจากแฟ้ม)
กำลังโหลดความคิดเห็น