นักวิทย์เยอรมันพบไวรัสหวัดพันธุ์ใหม่ ระบาดได้รวดเร็วในหมูแต่ยังไม่แพร่ไปสู่ไก่ หวั่นหมูมีสิทธิ์ติดเชื้อจากคนได้ พร้อมเตือนควรเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ระบาดในหมูด้วย
ดร.โธมัส วาฮ์เลนคัมพ์ (Dr. Thomas Vahlenkamp) นักไวรัสวิทยาและทีมวิจัยของสถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์เอฟแอลไอ (Friedrich-Loeffler-Institut: FLI) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ศึกษาวิจัยและตีพิมพ์ในวารสารไวรัสวิทยาทั่วไป (Journal of General Virology) ว่า หมูอาจติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากคนได้ และแพร่ระบาดในหมูได้อย่างรวดเร็ว
ไซน์เดลีระบุว่า ทีมวิจัยได้ศึกษาการติดเชื้อและการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในหมู พบว่าหมูที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดในคนอยู่ขณะนี้จำนวน 5 ตัว สามารถแพร่กระจายไปสู่หมูตัวอื่นๆ ในฟาร์มเลี้ยงหมูถึง 3 แห่งด้วยกันในเวลาเพียงแค่ 4 วัน
แต่ในการศึกษาครั้งนี้นักวิจัยได้ดำเนินการภายใต้มาตรการระบบความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 3 (Biosafety Level BSL3+) ซึ่งไม่ทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายออกไปสู่นอกเขตการทดลองได้
"แม้ว่าในช่วงต้นของการระบาดของเชื้อไข้หวัดหมู จะมีความกังวลกันว่าหมูอาจเป็นต้นตอแพร่เชื้อมาสู่คน ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานว่าหมูหรือสัตว์อื่นๆ ยังไม่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ สายพันธุ์ เอช1เอ็น 1 (H1N1) จากคนแต่อย่างใด" ดร. วาฮ์เลนคัมพ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ดร. วาฮ์เลนคัมพ์ ย้ำว่า การที่จำนวนผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงมีความเป็นไปได้มากว่าหมูจะติดเชื้อไวรัสนี้จากคนได้ และควรให้ความสำคัญกับมาตรการการป้องกันการแพร่เชื้อจากคนสู่หมูไม่น้อยไปกว่ากัน เพื่อไม่ให้การระบาดครั้งนี้แพร่ไปสู่หมูได้
จากการทดลองแม้ว่าเชื้อไวรัสจะแพร่จากหมูสู่หมูได้อย่างรวดเร็ว ทว่าทีมวิจัยไม่พบการแพร่เชื้อจากหมูสู่ไก่ 5 ตัว ที่เลี้ยงไว้ในฟาร์มเดียวกันเลย ฉะนั้นจึงอาจบอกได้ว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่สามารถแพร่จากคนสู่หมูได้ แต่ยังไม่สามารถแพร่จากหมูสู่ไก่ได้
ทั้งนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังแนะนำด้วยว่า ผู้ที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 นอกจากจะต้องป้องกันตัวเองไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้อื่นแล้ว ยังต้องป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่หมูด้วย โดยไม่ควรไปสัมผัสกับหมู และควรมีมาตรการที่เหมาะสมในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่เอ เอช1เอ็น1 ในหมูของพื้นที่ที่มีการตรวจพบเชื้อดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังกำลังศึกษาต่อไปว่า วัคซีนที่มีอยู่แล้วในขณะนี้จะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวในหมูได้หรือไม่.