xs
xsm
sm
md
lg

ยีนไวรัสหวัดพันธุ์ใหม่ชี้ ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่มากๆ อย่างที่เข้าใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชาชนในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของใต้หวันสวมใส่หน้ากากอนามัย แนวทางหนึ่งในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโรคระบบทางเดินหายใจ (รอยเตอร์)
มะกันศึกษาเชื้อหวัดพันธุ์ใหม่ 2009 ระบุเป็นเชื้อพันธุ์ที่มียีนหมู คน และ นก มาจากการผสมผสาน ระหว่างเชื้อไวรัสสามเกลอที่มีอยู่ก่อนแล้ว เผยอาจมีไวรัสสามเกลออื่นๆ อีกหลายสายพันธุ์ซุ่มซ่อนอยู่ในหมูและสัตว์พาหะชนิดอื่น พร้อมสันนิษฐานการระบาดของ H1N1 2009 อาจมีต้นตอมาจากฟาร์มหมูที่ไหนสักแห่งในโลก ที่ไม่มีการตรวจสอบมานานหลายปี

ดร.แนนซี ค็อกซ์ (Dr.Nancy Cox) หัวหน้าแผนกไข้หวัดใหญ่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) สหรัฐอเมริกา เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า จากการศึกษายีนของเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1เอ็น1 (H1N1) สายพันธุ์ใหม่ 2009 จำนวน 70 ตัวอย่าง ที่ได้จากผู้ป่วยในสหรัฐฯ และเม็กซิโก บ่งชี้ว่าไม่ใช่เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่มากอย่างที่เข้าใจกัน แต่น่าจะมีที่มาจากหมูที่ไหนสักแห่ง โดยที่ไม่ได้มีการตรวจสอบสุขภาพมาเป็นเวลานานหลายปี

"ผลจากการศึกษาครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าทั่วโลกจำเป็นต้องมีระบบเฝ้าระวังเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในหมู ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม" ดร.ค็อกซ์ กล่าว ซึ่งเขาได้ร่วมกับทีมนักวิจัยจากนานาชาติ ในการศึกษาพันธุกรรมของเชื้อไวรัส H1N1 2009 และตีพิมพ์ผลการศึกษาลงในวารสารไซน์ (Science) โดยระบุเอาไว้ว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวนั้น จะต้องมีต้นตอการแพร่ระบาดมาจากฟาร์มหมูที่ไหนสักแห่งในโลก

ทั้งนี้ นักวิชาการยืนยันว่าไวรัส H1N1 สายพันธุ์ใหม่นั้น มียีนที่ผสมกันระหว่างยีนของหมู, คน และนก และขณะนี้ได้แพร่กระจายเป็นวงกว้างและมีผู้ติดเชื้อกว่า 11,000 คน ใน 42 ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้เสียชีวิตไปแล้วจำนวน 86 ราย และนักวิชาการยังคาดการณ์ว่า น่าจะมีไวรัสลูกผสมสามเกลอในลักษณะนี้อีกจำนวนหนึ่ง ที่แฝงตัวอยู่ในหมู เพียงแต่ว่ายังไม่มีการตรวจพบกัน

"ตามความเป็นจริงแล้ว เราสามารถระบุได้ว่า แต่ละยีนมีจุดเริ่มต้นมาจากไหน" ค็อกซ์ เผย โดยให้ข้อมูลว่าไวรัส H1N1 สายพันธุ์ใหม่เป็นสายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมกันของสายพันธุ์ลูกผสมอีกทีหนึ่ง โดยมียีนส่วนหนึ่งมาจากไวรัสสามเกลอ ที่มียีนของคน นก และหมู ที่พบครั้งแรกในปี 2541 และยังมีชิ้นส่วนเล็กๆ มาจากเชื้อไข้หวัดที่พบในคนยุโรปและเอเชีย รวมถึงชิ้นส่วนยีนที่ใกล้เคียงกับเชื้อไข้หวัดหมูที่พบในผู้ป่วยชาวฮ่องกงเมื่อปี 2542 ที่พบรวมอยู่ด้วย

นอกจากนั้นยังมีความเป็นไปได้ว่า สัตว์ชนิดอื่นนอกจากหมู อาจทำหน้าที่เหมือนกับเป็นพาหะที่เก็บสะสมเชื้อไวรัสชนิดนี้เอาไว้ได้ โดยที่ไม่แสดงอาการเจ็บป่วยออกมา แต่สามารถแพร่เชื้อดังกล่าวได้ เช่นเดียวกับกรณีของสัตว์ในตระกูลแมว ตั้งแต่สิงโตจนถึงแมวบ้าน ที่เป็นพาหะของเชื้อไข้หวัดนก เอช5เอ็น1 (H5N1) ซึ่งทีมสัตวแพทย์ของกระทรวงเกษตร สหรัฐฯ (U.S. Department of Agriculture: USDA) และที่อื่นๆ ก็กำลังเฝ้าระวังและตรวจสอบตัวอย่างเนื้อหมูแช่แข็ง รวมทั้งเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่อาจพบข้อมูลเกี่ยวกับรอยต่อที่ขาดหายไปของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว

"ถ้าเราสามารถระบุถึงต้นกำเนิดได้ เราก็จะสามารถประเมินได้อย่างแน่ใจว่าไวรัสสายพันธุ์นี้ไม่ใช่สายพันธุ์ที่ปรากฏขึ้นมาใหม่โดยมีรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิมเพียงเล็กน้อย" ค็อกซ์ อธิบาย

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยกล่าวว่าพวกเขายังไม่รู้ว่าไวรัส H1N1 2009 ได้รับความสามารถในการติดต่อสู่คนมาได้อย่างไร ซึ่งมันไม่น่าจะเป็นการกลายพันธุ์โดยปรกติของไวรัส ที่จะทำให้ไวรัสในสัตว์กระโดดข้ามไปสู่คน และติดต่อจากคนสู่คนได้อย่างง่ายดาย

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านไข้หวัดต่างก็วิตกกังวลเมื่อพบว่า ไวรัสจากสัตว์ติดต่อสู่คนได้ และโดยปกติมันจะไม่ติดต่อผ่านไปมากกว่า 1 คน ดังเช่น ความกังวลในกรณีของเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ที่ติดต่อสู่คนจำนวน 429 ราย และเสียชีวิต 262 ราย แต่แทบจะไม่มีเลยที่เป็นการติดต่อจากคนสู่คน 

จนกระทั่งเดี๋ยวนี้เชื้อไวรัส H1N1 สายพันธุ์ใหม่ ก็ยังแสดงให้เห็นว่า มีการผ่าเหล่าของพันธุกรรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งดูได้จากตัวอย่างเชื้อที่ได้จากผู้ป่วยชาวเม็กซิโกคนหนึ่งเหมือนกันกับตัวอย่างเชื้อที่ได้จากผู้ป่วยหลายรายในสหรัฐฯ และในประเทศอื่นๆ ซึ่งกรณีนี้บ่งชี้ว่าเชื้อ H1N1 สายพันธุ์ใหม่อาจถูกเหนี่ยวนำภายในร่างกายมนุษย์ให้ปรากฏออกมาโดยลำพัง หรือหากมีมากกว่า 1 คน ที่ติดเชื้อโดยตรงจากสัตว์หรือแหล่งอื่น แสดงว่าพวกเขาได้รับเชื้อที่มีสารพันธุกรรมตรงกันหรือเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดียวกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น