ทีมนักวิทยาศาสตร์เยอรมัน ผู้พบธาตุลำดับที่ 112 ในตารางธาตุ เสนอให้ตั้งชื่อธาตุใหม่ล่าสุดว่า "โคเปอร์นิเซียม" เพื่อยกย่อง "โคเปอร์นิคัส" นักดาราศาสตร์โปแลนด์ ผู้เปลี่ยนแปลงความเชื่อของมนุษยชาติไปตลอดกาล ด้วยการค้นพบว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน สหพันธ์เคมีบริสุทธิ์และประยุกต์สากล (International Union of Pure and Applied Chemistry) หรือไอยูแพค (IUPAC) ยืนยันการค้นพบธาตุชนิดใหม่ ของศูนย์วิจัยไออนหนักจีเอสไอ (GSI Helmholtzzentrum für Schwerionenforschung) ในเมืองดาร์มสตัดท์ เยอรมนี ที่ค้นพบตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 และจัดเป็นธาตุลำดับที่ 112 ในตารางธาตุ ซึ่งจะใช้เวลาอีกราว 6 เดือน จึงจะประกาศชื่อธาตุใหม่อย่างเป็นทางการ
ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบธาตุที่หนักสุดในตารางธาตุขณะนี้ เสนอให้ตั้งชื่อธาตุใหม่นี้ว่า "โคเปอร์นิเซียม" (Copernicium) และใช้ตัวย่อว่า "ซีพี" (Cp) เพื่อเป็นเกียรติแก่ "นิโคลัส โคเปอร์นิคัส" (Nicolus Copernicus) นักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ ที่มีชีวิตอยู่เมื่อเกือบ 500 ปีก่อน (ระหว่างพ.ศ. 2016-2086) และเป็นผู้ที่ค้นพบว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์
"หลังจากที่ไอยูแพค ยืนยันการค้นพบธาตุใหม่ของพวกเขาแล้ว ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนร่วมในการวิจัยนี้ ก็ได้ประชุมหารือกัน และมีความเห็นตรงกันว่าจะเสนอให้ใช้ชื่อ "โคเปอร์นิเซียม" เป็นชื่อของธาตุลำดับที่ 112 ในตารางธาตุ เพื่อสรรเสริญนักวิทยาศาสตร์ ผู้ที่เปลี่ยนมุมมองของเราต่อโลกไปตลอดกาล" ศ.ซีเกิร์ด ฮอฟมันน์ (Professor Sigurd Hofmann) หัวหน้าทีมในการค้นพบธาตุตัวนี้ กล่าวผ่านไซน์เดลี
ทั้งนี้ โคเปอร์นิคัส เป็นนักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ และเป็นผู้ค้นพบว่า โลกและดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ต่างโคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งการค้นพบนี้หักล้างกับความเชื่อเดิมของคนในสมัยนั้น ที่เชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และยังส่งผลต่อแนวคิดของผู้คนในสังคมทางด้านปรัชญาและศาสนาอย่างมากด้วย
อีกทั้งการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะ ยังเป็นโมเดลของระบบอื่นๆ ในธรรมชาติด้วย เพราะโครงสร้างของอะตอม เปรียบได้กับจักรวาลขนาดเล็ก ที่มีอิเล็กตรอนเคลื่อนที่อยู่รอบๆ นิวเคลียสของอะตอม
สำหรับธาตุใหม่ที่จะได้ชื่อว่าโคเปอร์นิเซียมนี้หนักกว่าไฮโดรเจนประมาณ 277 เท่า นับเป็นธาตุที่หนักที่สุดในตารางธาตุ (อย่างเป็นทางการ) โดยเป็นธาตุในลำดับที่ 112 ของตารางธาตุ ซึ่งมีเลขอะตอมเท่ากับ 112 ซึ่งเป็นผลบวกเลขอะตอมของสังกะสีและตะกั่ว (สังกะสีมีเลขอะตอม 30, ตะกั่วมีเลขอะตอม 82) และเลขอะตอมนี้ยังแสดงถึงจำนวนของโปรตอนในนิวเคลียส และมีเลขมวลเท่ากับ 277
ศ.ฮอฟแมนน์ และทีมนักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติจากเยอรมนี ฟินแลนด์ รัสเซีย สโลวาเกีย รวมทั้งหมด 21 คน ได้สร้างอะตอมตัวแรกของธาตุที่ 112 ขึ้นเมื่อปี 2539 ด้วยเครื่องเร่งอนุภาคภายในศูนย์จีเอสไอ โดยยิงไอออนของสังกะสีไปยังเป้าตะกั่ว นิวเคลียสของสังกะสีและตะกั่วจะหลอมรวมกันด้วยปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน เกิดเป็นนิวเคลียสของธาตุใหม่ และในปี 2545 พวกเขาสามารถผลิตอะตอมของธาตุตัวใหม่นี้ขึ้นได้อีกครั้ง
ต่อมาการทดลองของเครื่องเร่งอนุภาค "ริเคน" (RIKEN) ในญี่ปุ่นได้ผลิตธาตุที่ 112 ออกมาจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นการยืนการค้นพบของจีเอสไอ ก่อนที่จะได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากไอยูแพคเมื่อไม่นานมานี้
ทั้งนี้ เครื่องเร่งอนุภาคที่ศูนย์จีเอสไอช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบธาตุใหม่ถึง 6 ตัวแล้วนับแต่ปี 2524 โดยมีเลขอะตอมตั้งแต่ 107-112 ซึ่งได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการแล้ว 5 ธาตุ ดังนี้ ธาตุที่ 107 คือ บอห์เรียม (Bohrium: Bh), ธาตุที่ 108 คือ แฮสเซียม (Hassium: Hs), ธาตุที่ 109 คือ ไมท์เนอเรียม (Meitnerium: Mt), ธาตุที่ 110 คือ ดาร์มสตัดเทียม (Darmstadtium: Ds) และธาตุที่ 111 คือ เรินท์เกเนียม (Roentgenium: Rg)
อย่างไรก็ดี ณ ขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบธาตุใหม่ไปจนถึงธาตุลำดับที่ 118 แล้ว (ยกเว้นธาตุที่ 117) แต่ยังอยู่ระหว่างการรอยืนยันการค้นพบและตั้งชื่ออย่างเป็นทางการในตารางธาตุ โดยขณะนี้มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการ ได้แก่ ธาตุที่ 113 อูนอูนเทรียม (Ununtrium: Uut), ธาตุที่ 114 อูนอูนควอเดียม (Ununquadium: Uuq), ธาตุที่ 115 อูนอูนเพนเทียม (Ununpentium: Uup), ธาตุที่ 116 อูนอูนเฮกเซียม (Ununhexium: Uuh) และธาตุที่ 118 อูนอูนออกเทียม (Ununoctium: Uuo) ส่วนธาตุที่ 117 อูนอูนเซปเทียม (Ununseptium: Uus) ปัจจุบันยังไม่มีการค้นพบ แต่คาดว่าเป็นธาตุสังเคราะห์ และเป็นธาตุกัมมันตรังสี ที่น่าจะมีสมบัติคล้ายแอสทาทีน (Astatine: At, ธาตุที่ 85).