xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ ทรงบรรยายถึงผลของรังสีแกมมาระดับต่ำต่อสิ่งมีชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฯ ทรงเปิดงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ครั้งที่ 11
เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ เสด็จทรงเปิดการประชุมเทคโนโลยีนิวเคลียร์ครั้งที่ 11 พร้อมทรงบรรยายพิเศษ ตรัสถึงผลของรังสีแกมมาในระดับต่ำที่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของ "ดีเอ็นเอ" ทั้งทางตรงและทางอ้อม

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ครั้งที่ 11 หัวข้อ "เทคโนโลยีนิวเคลียร์สู่สังคมไทย" เมื่อวันที่ 2 ก.ค.52 ณ หอประชุมมหิศร ไทยพาณิชย์ปาร์คพลาซ่า ถ.รัชดา ทรงมีพระดำรัสเปิดงานว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์มีบทบาทสำคัญในหลายๆ ด้าน ทั้งพลังงาน การแพทย์ สาธารณสุข เกษตร อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม อาหารและโภชนาการ

"การเผยแพร่งานวิจัยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของท่านทั้งหลาย จะส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ต่อไป"

พร้อมทรงบรรยายพิเศษเป็นภาษาอังกฤษในหัวข้อ "ผลของรังสีแกมมาระดับต่ำต่อสิ่งมีชีวิต" (Biological on Low Dose Gamma Radiation) ทั้งนี้รังสีแกมมาเป็นรังสีที่มีอยู่ในธรรมชาติและมีพลังงานสูงมาก สามารถทะลุทะลวงทุกอย่าง รวมทั้งเนื้อเยื่อของมนุษย์ ซึ่งรังสีแกมมาส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตได้ทั้งแบบเฉียบพลัน (Acute effect) ส่งผลให้คลื่นไส้ อาเจียน กระทบต่อเลือด ทางเดินอาหารและระบบประสาทส่วนกลาง เป็นต้น และผลกระทบแบบเรื้อรัง (Delayed effect) ที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้

สำหรับผลกระทบระยะยาวของรังสีแกมมานั้น เกิดขึ้นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับทางตรงรังสีแกมมาจะส่งผลกระทบต่อโมเลกุลที่สำคัญอย่างดีเอ็นเอ (DNA) โดยตรง ส่วนทางอ้อมนั้น รังสีแกมมาจะถ่ายเทพลังงานให้น้ำในร่างกายแล้วเกิดเป็นอนุมูลอิสระที่จะไปทำลายดีเอ็นเอต่อไป สำหรับความเสียหายที่เกิดนั้น เซลล์ในร่างกายสามารถซ่อมแซมได้เหมือนเดิม แต่ถ้าซ่อมแซมได้ไม่สมบูรณ์จะกลายเป็นมะเร็งได้ ทั้งนี้ในร่างกายมีเม็ดเลือดขาวซึ่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับีร่างกาย 5 ชนิด แต่เม็ดเลือดขาวชนิด "ลิมโฟไซต์" (lymphocyte) เป็นเม็ดเลือดขาวที่ไวต่อรังสีมากที่สุด

ความเสียหายจากรังสีแกมมา ที่เกิดขึ้นต่อดีเอ็นเอนั้นเกิดขึ้นได้หลายแบบ โดยความเสียหายต่อเกลียวคู่ของดีเอ็นเออาจเกิดขึ้นต่อสายดีเอ็นเอข้างเดียวหรือเกิดขึ้นกับสายคู่ของดีเอ็นเอทั้งสองข้างก็ได้ และยังมีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเบสในดีเอ็นเอ ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงได้หลายแบบ อาทิ เบสกัวนิน (Guanine: G) เมื่อได้รับรังสีแกมมาแล้วจะเกิดออกซิเดชัน ทำให้เบสดังกล่าวเปลี่ยนรูปไปเป็น "ออกซี-กัวนิน" (Oxy-Guanine) เป็นต้น

ทั้งนี้ ระดับรังสี 50 mSv เป็นระดับรังสีที่เป็นสาเหตุให้ดีเอ็นเอเสียหายได้ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับรังสีได้รับรังสีไม่เกินปีละ 50 mSv สาธารณชนได้รับไม่เกินปีละ 1 mSv ผู้ป่วยไม่เกิน 10 mSv และผลิตภัณฑ์สำหรับอุปโภคต้องให้รังสีไม่เกิน 0.1 mSv ต่อปี

นอกจากนี้สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฯ ยังได้ประทานรางวัลแก่นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดีเด่น แก่ รศ.อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์ ข้าราชการเกษียณและที่ปรึกษาศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรางวัลนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดาวรุ่ง แก่ ผศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ จากหน่วยวิจัยพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชัน สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้าน อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า รังสีนั้นให้ทั้งคุณและโทษ ซึ่งจำเป็นต้องรู้ทั้งสองด้าน เหมือนไฟฟ้าที่ให้ประโยชน์มากมาย แต่ก็เป็นอันตรายได้หากถูกไฟดูด ในส่วนประโยชน์จากรังสี อาทิ การแพทย์ที่ใช้เพื่อการวินิจฉัยและรักษา ด้านอุตสาหกรรมใช้เพื่อตรวจสอบคุณภาพของวัตถุ การเกษตรที่ใช้ประโยชน์ได้เยอะ เช่น ฉายรังสีเพื่อถนอมอาหาร ปรับปรุงพันธุ์พืช เป็นต้น

การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์นี้ จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 11 และจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 ก.ค.52 ณ หอประชุมมหิศร ไทยพาณิชย์ปาร์คพลาซ่า โดยความร่วมมือกับ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร และบริษัทสามารถ คอร์ปอเรชัน จำกัด.

สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฯ ประทานโล่รางวัลนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดีเด่น แก่ รศ.อรุณี วงศ์ปะยะสถิตย์ (ภาพทั้งหมดจากฝ่ายจัดงาน)
กำลังโหลดความคิดเห็น