ในขณะที่ไทยยังคงคงถกเถียง และหวั่นวิตกกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิชชันแบบเดิมๆ นั้น ฝรั่งตาน้ำข้าวและพี่ยุ่นลูกพระอาทิตย์ กำลังเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ของ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบใหม่ ที่มีปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบเดียวกับบนดวงอาทิตย์ แม้ว่าจะตกขบวนแต่ไทยก็มี "ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์" ที่ก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมเล็กๆ ในการศึกษานี้ด้วย
ผศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ จากภาควิชาการศึกษาร่วมและบัณฑิตศึกษา สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้แทนฟิสิกส์โอลิมปิกเมื่อปี 2536 เป็นคนไทยเล็กๆ ที่ได้เข้าไปร่วมศึกษาความเป็นไปได้ ในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชันภาย ใต้โครงการไอเทอร์ (ITER: International Thermonuclear Experimental Reactor) ซึ่งมีนักวิจัยในโครงการร่วม 3,500 คนและมีเงินลงทุนกว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเริ่มมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้นแบบที่เมืองคาดารัช ประเทศฝรั่งเศสในปี 2552 นี้
เขาบอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า มีโอกาสเข้าไปร่วมในโครงการด้านพลังงานใหญ่ยักษ์ดังกล่าว เนื่องจากขณะศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโท-เอกที่มหาวิทยาลัยลีไฮ (Lehigh University) ในมลรัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา อาจารย์ที่ปรึกษาของเขามีความร่วมมือกับต่างประเทศจำนวนมากและยังมีงานทาง ด้านนี้ เขาจึงมีโอกาสได้ทำวิทยานิพนธ์และศึกษาเกี่ยวกับพลังงานจากปฏิกิริยา นิวเคลียร์ฟิวชัน (Fusion) ปฎิกิริยานิวเคลียร์ที่เกิดจากการรวมตัวของนิวเคลียสธาตุและเป็นปฏิรกิริยา เดียวกับที่เกิดขึ้นในใจกลางดวงอาทิตย์
แรกเริ่มเดิมที หนุ่มใต้จากสงขลาวัย 34 ผู้นี้ สนใจทางด้านแสงเชิงควอนตัม (Quantum Optics) และได้พกพาทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (พสวท.) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ (University of Rochester) ในนิวยอร์ก สหรัฐฯ แต่หลังจากทำวิจัยหลายโครงการและศึกษาจนสำเร็จแล้ว จึงพบว่าตัวเองไม่ได้สนใจในเรื่องดังกล่าวมากนัก อีกทั้งกลับมาทำวิจัยเรื่องดังกล่าวในเมืองไทยได้ยาก จึงหันเหตัวเองมาศึกษาทางด้านนิวเคลียร์ฟิวชันด้วยความสนใจทางด้าน "พลังงาน" เป็นสิ่งชี้นำ
ในการศึกษาปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เป็นความหวังสร้างแหล่งพลังงานใหม่แก่โลก ดร.ธวัชชัยเลือกที่จะศึกษาทางด้านทฤษฎีและเชิงคำนวณ เพราะการศึกษาด้านการทดลองนั้นต้องใช้ทุนมหาศาล การทดลองแต่ละครั้งใช้เงินมากถึงล้านบาท เมื่อเลือกศึกษาในเชิงทฤษฎี จึงทำให้เขายังศึกษาและกลับมาทำงานในเรื่องนี้ ต่อที่เมืองไทยได้ โดยดึงข้อมูลการทดลองจากห้องปฏิบัติการใหญ่ๆ ที่มีการทดลองอยู่เรื่อยๆ มาศึกษาเปรียบเทียบ ซึ่งเขาบอกว่าการศึกษาแบบนี้ "ไม่แพงมาก" และได้รับการสนับสนุนคอมพิวเตอร์คุณภาพสูงจากทางมหาวิทยาลัย
ดร.ธวัชชัยบอกกับเราว่า แรกเริ่มมีคนสนใจนิวเคลียร์ฟิวชันในจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากคนยอมรับว่าเป็นเรื่องยากมาก อย่างไรก็ดี บรรยากาศในการคัดเลือกประเทศเพื่อเป็นสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชัน ในขั้นการทดลองนี้ มีการแข่งขันค่อนข้างสูง โดยขั้นสุดท้ายและการแข่งขันระหว่างจะตั้งโครงการที่ญี่ปุ่นหรือฝรั่งเศสดี ซึ่งสุดท้ายเมืองน้ำหอมก็ได้เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าต้นแบบ เหตุที่มีการแข่งขันกันนี้เนื่องจากการได้เป็นประเทศเจ้าภาพจะทำให้เกิด "การสร้างงาน" ในประเทศนั้นๆ และยังมีโอกาสได้เรียนรู้เทคโนโลยีมากกว่าและสะดวกกว่า แต่ก็ต้องลงทุนมาก
อย่างไรก็ดี หลายคนคงกลัวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จำลองปฏิกิริยาบนดวงอาทิตย์มาเกิดขึ้นบนโลก แต่ ดร.ธวัชชัยยืนยันว่าไม่ได้น่ากลัว ทั้งนี้ที่คนทั่วไปกลัวนั้นคือกลัวโรงไฟฟ้า "ระเบิด" แต่จากการศึกษาได้แสดงให้เห็นแน่ชัดแล้วว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบใหม่นี้ "ไม่ระเบิดแน่ๆ" ด้วยเหตุผลว่า หากเกิดการรั่วเครื่องจะดับทันที เนื่องจากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปฏิกิริยาต่อเนื่อง ส่วนเรื่องกัมมันตรังสีก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประเภทนี้ไม่ให้รังสีออกมาเหมือนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิชชัน (Fission)
"แม้แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิชชันในปัจจุบัน ก็ปลอดภัยมากๆ เพราะการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีกฎเกณฑ์เยอะมาก ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเอีเอ) เข้ามาตรวจสอบทุกปี" ดร.ธวัชชัยกล่าว แต่ก็ยอมรับว่าสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเก่านี้ยังคงมีปัญหาเรื่องการกำจัดกากกัมมันตรังสีซึ่งต้องมีการจัดการที่ดี
แม้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย แต่ด็อกเตอร์ทางด้านนิวเคลียร์ฟิวชันผู้นี้ ก็ได้รับการสนับสนุนการทำงานด้วยดี นับจากการกลับมาทำงานที่เมืองไทยได้ 5 ปี เมื่อมาถึงก็ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รวมทั้งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ซึ่งองค์กรหลังนั้นเพิ่งลงนามความเข้าใจกับฝรั่งเศสจึงทำให้ไทยได้มี ส่วนร่วมในโครงการไอเทอร์ แม้ไม่ใช่การมีส่วนร่วมอย่างเต็มตัว แต่ก็เป็นโอกาสให้คนไทยได้มีพื้นที่ในการเข้าไปศึกษา
อย่างไรก็ดี เขาบอกว่าตัวเองไม่ใช่คนไทยคนเดียวที่ศึกษานิวเคลียร์ฟิวชัน เพราะยังมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ศึกษาเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังมีคนไทยที่ไปทำงานในโครงการไอเทอร์อย่างเต็มตัว แต่เขานับเป็นคนไทยคนเดียวในตอนนี้ที่ศึกษานิวเคลียร์ฟิวชันด้านพลังงาน และกำลังพัฒนาคนโดยมีลูกศิษย์ในที่ปรึกษาจากมหาวทิยาลัยต่างๆ รวม 10 คน
ล่าสุดนักศึกษาในที่ปรึกษาของเขา 3 คนเพิ่งได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาทางด้านนิวเคลียร์ฟิวชันที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานดิเอโก (University of California, San Diego) สหรัฐฯ มหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London) สหราชอาณาจักร และอีกคนได้รับทุนจากยุโรปไปศึกษาต่อที่เยอรมนี โดยทุนหลังนั้น เป็นความร่วมมือของยุโรปในการพัฒนาบุคลากรเพื่อโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ฟิวชัน ซึ่งผู้รับทุนต้องเวียนศึกษาในประเทศสมาชิกจนครบ 3 ประเทศภายในเวลา 2 ปี
นอกจากจะได้รับการสนับสนุนในการทำงานด้วยดีแล้ว สทน.เพิ่งคัดเลือกให้เขาเป็น "นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดาวรุ่ง" ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการมอบตำแหน่งนี้ เคียงข้าง รศ.ดร.อรุณี วศ์ปิยะสถิตย์ จากภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่รับตำแหน่ง "นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดีเด่น"
แม้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิชชันไทย ก็ยังไม่มีความพร้อม แต่ ดร.ธวัชชัยกล่าวถึงความสำคัญที่ต้องศึกษาทางด้านนิวเคลียร์ฟิวชันว่า ในการใช้งานนั้นจำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าปฏิกิริยาของนิวเคลียร์ประเภท นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อมีองค์ความรู้จึงสามารถใช้งานได้ ขณะที่ไทยเองจำเป็นต้องรู้เพื่อว่าเมื่อเทคโนโลยีนี้เข้ามาถึงเราจะสามารถ เลือกได้
"ผมสนใจสนใจนิวเคลียร์เพราะประเทศต้องการพลังงาน และอนาคตเราหนีไม่พ้น และน่าสนใจว่านี่คือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ แล้วจะทำบนโลกได้อย่างไร พลังงานเป็นเรื่องจำเป็น ถ้าเรารอให้ประเทศอื่นคิดโดยที่เราไม่เตรียม เราก็จะซื้ออย่างเดียว แต่ถ้าเตรียมเราก็จะมีสถานภาพที่ดีกว่าในเลือกเทคโนโลยี" นักนิวเคลียร์ดาวรุ่งให้ความเห็น