สทน.จับมือ SIIT ผลิตนักวิจัยนิวเคลียร์ฟิวชัน ตามให้ทันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชัน "ไอเทอร์" ที่ชาติมหาอำนาจร่วมวิจัยกันมา 50 ปี และเริ่มก่อสร้างแล้วที่ฝรั่งเศส
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 มี.ค.52 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ได้กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้เกิดการผลิตบุคลากรทางด้านนิวเคลียร์ฟิวชัน
ก่อนหน้านี้ สทน.ได้ลงนามความร่วมมือ กับคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อประเทศฝรั่งเศส (CEA) โดยมี SIIT เป็นผู้วิจัยร่วมซึ่งความร่วมมือล่าสุดจะช่วยสนับสนุนความร่วมมือดังกล่าวได้ และทำให้ไทยสามารถตามติดเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นได้
ดร.สมพรกล่าวว่า นิวเคลียร์ฟิวชันคือปฏิกิริยาแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ ซึ่งอาศัยรวมตัวของไฮโดรเจนที่มีอยู่บนโลกปริมาณมากด้วยปฏิกิริยานิวเคลียร์ แลวเกิดเป็นฮีเลียม ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวทำนทำให้เกิดอุณหภูมิสูงถึงล้านองศาเซลเซียส แต่นักวิทยาศาสตร์รัสเซียได้ออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ที่สามารถเก็บอุณหภูมิดังกล่าวไว้ได้ด้วยสนามแม่เหล็กที่ป้องกันไม่ให้ผนังเตาสัมผัสกับอนุภาคที่มีอุณหภูมิที่สูงมากดังกล่าว
หลายประเทศทั่วโลกได้เริ่มต้นศึกษาความเป็นไปได้ ในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชัน ซึ่งเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ขนาดเล็กๆ บนโลกมาได้ประมาณ 50 ปีแล้ว และพบว่ามีโอกาสที่จะสร้างได้
อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าด้านนิวเคลียร์ฟิวชันยังไปไม่ถึงไหน จึงเกิดความร่วมมือกันหลายประเทศ คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย รัสเซีย จีนและ 20 ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการไอเทอร์ (ITER: International Thermonuclear Experimental Reactor) ซึ่งมีนักวิจัยในโครงการร่วม 3,500 คนและมีเงินลงทุนกว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเริ่มมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้นแบบที่เมืองคาดารัช ประเทศฝรั่งเศสในปี 2552 นี้
ดร.สมพรกล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีนักวิจัยทางด้านนิวเคลียร์ฟิวชันระดับด็อกเตอร์กระจายอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ 10 คน และความร่วมมือครั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรจะเป็นแม่ข่ายในการสร้างนักวิจัยทางด้านนี้ โดย สทน.จะให้ความร่วมมือที่จะสนับสนุนการส่งบุคลากรไปอบรมในโครงการไอเทอร์ ร่วมทั้งยังขอเงินสนับสนุนจากทบวงปรมาณูเพื่อสันติหรือไอเออีเอสำหรับความร่วมมือนี้ได้ในวงเงินปีละ 10 ล้านบาท
"ความร่วมมือทางด้านวิชาการเพื่อสร้างนักวิจัยนิวเคลียร์ฟิวชันนี้จะทำให้ไทยตามทันเทคโนโลยีดังกล่าวได้ โดยระหว่างปี 2543-2573 นี้ โครงการไอเทอร์จะศึกษาความเป็นไปได้ในทางวิศวกรรมของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบใหม่ และอีก 20 ปีหลังจากนั้นจึงจะเริ่มสร้างเพื่อขายได้ เราจึงจำเป็นต้องศึกษาเพื่อตามให้ทัน แต่เทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิชชันยังคงต้องศึกษาอยู่" ดร.สมพรกล่าว
ทางด้าน ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ทางสถาบันมีนักวิจัยระดับด็อกเตอร์ที่ศึกษาทางด้านนิวเคลียร์ฟิวชันอยู่ 2 คน ทั้งนี้ในระยะแรกจะร่วมกับ สทน.ส่งนักศึกษาและอาจารย์ไปประชุมเกี่ยวกับนิวเคลียร์ฟิวชันที่ต่างประเทศ
ส่วนระยะยาวจะนำเข้าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันขนาดเล็กมาประจำประเทศไทย เพื่อฝึกอบรมให้กับนักวิจัย ซึ่งอีก 30 ปีข้างหน้ามีเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันเข้ามา เราจึงต้องมีคนที่มีความรู้เตรียมให้พร้อม.