xs
xsm
sm
md
lg

นายกฟิสิกส์อาเซียนชี้มี "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" กระตุ้นการเรียนนิวเคลียร์ในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.วิรุฬห์ สายคณิต
นายกฟิสิกส์อาเซียนชี้ช่วงก่อสร้าง "ปฏิกรณ์นิวเคลียร์" เครื่องแรกมีคนเรียนฟิสิกส์นิวเคลียร์และกลับมาเป็นอาจารย์จำนวนมาก แต่ความไม่ชัดเจนของรัฐบาลเรื่องสร้าง-ไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นเหตุให้คนเรียนน้อยลง เพราะหางานยาก ถ้ารัฐบาลยังไม่ชัดเจนการเรียนด้านนี้ก็ยังคงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร แต่หากชัดเจนแล้วส่งเสริมให้มีการสอนในมหาวิทยาลัยก็จะสร้างคนได้มาก

ศ.ดร.วิรุฬห์ สายคณิต นายกสมาคมฟิสิกส์อาเซียน และประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ ได้กล่าวบรรยายพิเศษภายในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 3 ก.ค.52 ณ หอประชุมมหิศร ไทยพาณิชย์ปาร์คพลาซ่า ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนลไน ได้ร่วมฟังบรรยายที่กล่าวถึงความน่าสนุกและน่าสนใจของฟิสิกส์นิวเคลียร์ โดยช่วงหนึ่งยกตัวอย่างการค้นคว้าและทดลองของเซิร์น (Cern) ในการค้นหาอนุภาคขนาดเล็กที่จัดอยู่ใน "เวคเตอร์โบซอน" (Vector boson) ซึ่งยังไม่พบ และเล่าถึงเรื่องหลุมดำที่หลายคนหวาดกลัวว่าจะเกิดขึ้นภายในห้องทดลองใต้ดินขนาดใหญ่นี้ ซึ่งการค้นคว้าของ "สตีเฟน ฮอว์กิง" (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์ที่เหลือเพียงสมองที่ทำงานได้ดีนั้นชี้ให้เห็นว่าหลุมดำที่เกิดขึ้นไม่ก่ออันตราย

ภายหลังการบรรยาย ทีมข่าววิทยาศาสตร์ยังได้สอบถามถึงเรื่องการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ในเมืองไทยกับ ศ.ดร.วิรุฬห์ ผู้ซึ่งได้รับความเคารพยกย่องจากนักวิทยาศาสตร์ในแวดวงนิวเคลียร์ของไทย ว่าโดยภาพรวมแล้วบรรยากาศการเรียนการสอนทางด้านนี้เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งนักฟิสิกส์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเซมิคอนดักเตอร์หรือสารกึ่งตัวนำผู้นี้ ได้ให้ความเห็นว่า ช่วงที่มีการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ที่บางเขนของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พปส.) หรือ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในปัจจุบันนั้น มีการตื่นตัวด้านการเรียนนิวเคลียร์อย่างมาก และมีคนไปศึกษาต่อต่างประเทศทางด้านนี้ แล้วกลับมาเป็นอาจารย์สอนจำนวนมาก

แต่หลังจากนั้นก็ซาลงไป เนื่องจากไทยไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และรัฐบาลไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ การเรียนนิวเคลียร์จึงไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากจบแล้วหางานยาก ต่างจากการเรียนฟิสิกส์ประยุกต์ทางด้านวัสดุศาสตร์ซึ่งหางานง่ายกว่า

"ตอนนี้เราขาดกำลังคนอย่างมาก หากรัฐบาลยังคงไม่ความชัดเจนในเรื่องนี้ การเรียนนิวเคลียร์ในเมืองไทยก็ยังคงไม่ได้รับความสนใจต่อไป และอีกหน่อยไทยจะแพ้เวียดนามซึ่งตั้งเป้าจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เช่นเดียวกัน แต่ถ้ารัฐบาลตัดสินใจชัดเจน และสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนนิวเคลียร์ในมหาวิทยาลัย ก็จะสร้างบุคลากรทางด้านนี้ได้มาก" ศ.ดร.วิรุฬห์ให้ความเห็น

ทั้งนี้ ศ.ดร.วิรุฬห์ ประจำอยู่ที่ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านฟอรัมวิทยาศาสตร์ทฤษฎี ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับรางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" เมื่อปี 2525 จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมีผลงานเด่นด้านฟิสิกส์ทฤษฎีซึ่งนำไปสู่การอธิบายคุณสมบัติต่างๆ ของสารกึ่งตัวนำ

สำหรับงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์นั้น จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ซึ่งแยกมากจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และปีนี้ได้จัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 ก.ค.52 และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานเมื่อวันที่ 2 ก.ค.52 ที่ผ่านมา พร้อมทรงบรรยายพิเศษเป็นภาษาอังกฤษในหัวข้อ "ผลของรังสีแกมมาระดับต่ำต่อสิ่งมีชีวิต" (Biological on Low Dose Gamma Radiation).
กำลังโหลดความคิดเห็น