"ฮอว์กิง" เจ้าของงานเขียน "ประวัติย่อกาลเวลา" รับเกียรติเปิดตัวนาฬิกาสุดแปลก "ตัวกินเวลา" ไม่มีเข็ม ไม่มีตัวเลข แต่อาศัยกลไก "ตั๊กแตน" เดินก้าวละ 1 วินาที ทำงานด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ที่ใช้งานได้ถึง 25 ปี สร้างเป็นเกียรติแก่นักประดิษฐ์เครื่องเกาะฟันเฟืองนาฬิกาในศตวรรษที่ 18
สตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) ศาสตราจารย์คณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) สหราชอาณาจักร เจ้าของงานเขียน "ประวัติย่อของกาลเวลา" (A Brief History of Time) ได้รับเกียรติเปิดตัว "นาฬิกาคอร์ปัส" (Corpus Clock) โดยติดตั้งไว้หน้าห้องสมุดมหาวิทยาลัยคอร์ปัส คริสตี (Corpus Christi College) ซึ่งเป็นแคมปัสหนึ่ง ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามรายงานของเอพีและบีบีซีนิวส์
บีบีซีนิวส์ระบุว่า นาฬิกาเรือนนี้ ได้รับการกล่าวขานให้เป็นนาฬิกาที่แปลกที่สุดในโลก ไม่มีเข็มนาฬิกาและไม่มีแม้แต่ตัวเลข รูปลักษณ์ที่เห็นคือมีตั๊กแตน หรือ "โครโนเฟจ" (chronophage) ที่แปลว่า "ตัวกินเวลา" ขนาดกว้าง 4 ฟุต ที่เดินไปเรื่อยๆ ในจังหวะก้าวละ 1 วินาที
นาฬิกายักษ์ที่มีลักษณะวงกลมนี้ มี 3 วงล้อล้อมกันอยู่ ซึ่งวงรอบนอกสุดคือสัญญลักษณ์แสดงวินาที มี 60 จุด และวงกลางมี 60 จุดเป็นเวลาตามนาที ส่วนวงในสุดแสดงเวลา ตามหน้าปัดนาฬิกาที่มี 1-12 ตามจำนวนชั่วโมง
ขณะที่ปิศาจตั๊กแตนกำลังก้าวเดินไปทุกๆ วินาที แสงไฟสีน้ำเงิน ก็เคลื่อนที่ไปรอบหน้าปัด ทั้งเดินหน้าและถอยหลัง แต่จะหยุดนิ่งครู่หนึ่ง เมื่อแสงผ่านช่วงเวลาที่ถูกต้องขณะนั้น
ดร.จอห์น เทย์เลอร์ (Dr.John Taylor) ผู้ออกแบบ อธิบายผ่านวิดิโอคลิประหว่างการเปิดตัวว่า เขาจำลองรูปแบบของจักรวาลมาไว้ในนาฬิกา อีกทั้งเวลาของแต่ละคนไม่เท่ากัน ตามคำกล่าวของไอน์สไตน์ในทฤษฎีสัมพัทธภาพ ดังนั้นแสงไฟที่นาฬิกาของเขา จึงมีทั้งเร็วและช้าสลับต่างกันไป
อย่างไรก็ดี นาฬิกานี้สามารถดูได้อย่างแม่นยำทุกๆ 5 นาทีเท่านั้น ส่วนแสงที่เหลือแสดงเพื่อความสวยงาม
ที่สำคัญ นาฬิกาเรือนนี้มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก โดย ดร.เทย์เลอร์ ต้องการสร้างความน่าสนใจ ให้นาฬิกาคอร์ปัส
อีกทั้งเขาได้ ประดิษฐ์นาฬิกาเรือนนี้ ขึ้นมาเพื่อคารวะแก่ จอห์น แฮร์ริสัน (John Harrison) นักประดิษฐ์นาฬิกาชาวอังกฤษ ที่คิดค้นเครื่องเกาะฟันเฟืองในนาฬิกาที่เลียนแบบลักษณะของตั๊กแตน ในช่วงศตวรรษที่ 18
ทั้งนี้ ดร.เทย์เลอร์ผู้เป็นทั้งนักประดิษฐ์และผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างนาฬิกาซึ่ งปัจจุบันอายุ 72 ปีแล้วนั้น เคยเป็นนักศึกษาของวิทยาลัยคอร์ปัสคริสตี เมื่อช่วงคริสตศักราช 1950 ซึ่งนอกจากแสดงความคารวะต่อแฮร์ริสันแล้ว เขายังประดิษฐ์นาฬิกาเรือนนี้ขึ้น เพื่อเป็นของขวัญแก่อดีตสถานศึกษาของเขาด้วย
สำหรับเครื่องเกาะฟันเฟืองนาฬิกาที่แฮร์ริสันประดิษฐขึ้นมานั้น เป็นเพียงอุปกรณ์เล็กๆ ที่ช่วยให้เฟืองนาฬิกาแกว่งไปตามปกติเท่านั้น แต่ ดร.เทย์เลอร์กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดลีเมล์ว่า เขาตัดสินใจนำอุปกรณ์ชิ้นดังกล่าว ออกมาอยู่ด้านนอกของนาฬิกา
ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่า แต่ละวินาทีกำลังถูกกินไปเรื่อยๆ อีกทั้งนาฬิกาแบบเดิม ที่มีเข็มนั้นเป็นสิ่งที่จำเจ เขาจึงอยากทำนาฬิกาที่เร้าใจขึ้นมา
"ผมยังอยากทำให้เห็นว่า เวลานั้นคือตัวทำลาย เมื่อนาทีหนึ่งได้ผ่านไปแล้ว คุณก็ไม่สามารถนำมันกลับคืนมาได้อีก และนั่นก็เป็นเหตุผลว่า ทำไมตั๊กแตนของผม จึงไม่มีลักษณะเหมือนตัวการ์ตูนของดิสนีย์ มันคืออสูรที่ดุร้าย เมื่อแลบลิ้นออกมากินวินาที กรามของมันอ้าออก และในวินาทีที่ 59 มันก็กลืนเวลาลงไป" ดร.เทย์เลอร์กล่าว
นาฬิกาคอร์ปัสคล็อก มูลค่า 1 ล้านปอนด์ (หรือประมาณ 63 ล้านบาท) นี้ ต้องใช้ทีมวิศวกรและช่างฝีมือ 8 คน เพื่อหล่อทองคำ 24 กะรัตปิดหน้าปัดนาฬิกา และใช้เวลาถึง 5 ปีในการสร้าง โดยนาฬิกาเรือนนี้ทำงานได้ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า และจะเดินได้ยาวนานถึง 25 ปี
"เป็นความคิดที่มหัศจรรย์มาก และมีเพียง "เวลา" เท่านั้น ที่จะบอกได้ว่าเครื่องบอกเวลานี้ จะมีชื่อเสียงได้เทียมหอนาฬิกาบิกเบน (Big Ben) หรือไม่ ผมบอกได้เลย ว่าเป็นได้แน่" ความเห็นของ อลัน มิดเลตัน (Alan Midleton) หัวหน้าผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งสถาบันศิลปะการทำเครื่องบอกเวลาอังกฤษ (British Horological Institute)
คลิก! ชมภาพแนะนำการทำงานของนาฬิกาคอร์ปัส โดย ดร.จอห์น เทย์เลอร์ ได้ที่
http://www.admin.cam.ac.uk/offices/communications/1522.html
หรือ ชมคลิปจากยูทูบ