ตัวแทนเครือข่ายพลังงานจากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติเผย ตัวเลขคนไทยใช้ไฟฟ้าลดลงต่อเนื่อง 3 ปี และยังมีกำลังการผลิตที่เกินความต้องการใช้จริงอีกกว่า 10,000 เมกะวัตต์ พร้อมข้อมูลจากเวทีเสวนาเผยต้นทุนถ่านหินที่ภาครัฐลืมคำนึงถึงสุขภาพประชาชน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม เสนอทำแผนพลังงานเองจากภาคประชาชน
วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ จากเครือข่ายพลังงาน เพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (Mekong Energy and Ecology Network:MEE-NET) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เผยภายในเวทีสาธารณะ "ต้นทุนจริงของถ่านหิน : นโยบายพลังงานและความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ" ซึ่งจัดขึ้น เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.52 ณ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ มี.ค.2550 ซึ่งตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าจนถึง ธ.ค.51 ลดลง 12.23%
ข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลที่อ้างอิงจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ซึ่งวิฑูรย์กล่าวว่าเป็นตัวเลขที่สวนทางกับการคาดการณ์ของภาครัฐที่เผยว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นปีละ 6-7% แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาการใช้ไฟฟ้าช่วงความต้องการสูงสุดลดลงต่อเนื่อง โดยช่วงสูงสุดของปี 2551 อยู่ที่ 22,562.20 เมกะวัตต์ ขณะที่ช่วงสูงสุดของปีนี้ในช่วงเดือน เม.ย.ลดลงจากปีที่ผ่านมา 2.4%
"ดังนั้นความต้องการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟ้ฟ้าเพิ่มอีก 6,000 เมกะวัตต์ ตัดออกไปจากระบบได้เลย เรายังมีโรงไฟฟ้าระดับชุมชนที่พร้อมขายไฟฟ้าเข้าระบบรวมๆ แล้วประมาณ 12,000 เมกะวัตต์ มันไม่จำเป็น และมันกลายเป็นภาระจากการวางแผนสร้างโดยสมมติฐานที่เกินจริง และโรงไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่ก็มีกำลังผลิตถึง 31,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ใช้จริง 20,000 เมกะวัตต์ แต่ถ้าอนาคตเราต้องการจะทำยังไง เรื่องนี้ก็เหมือนเราซื้อรถสิบล้อ 3 คันมารอใช้งานอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้ใช้หรือไม่ ทั้งๆ ที่ยังทีรถสิบล้อที่จอดทิ้งไว้อยู่" ตัวแทนจากเครือข่ายพลังงาน เพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขงกล่าว
วิทูรย์ยังได้ยืนยันตัวเลข กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมของเมืองไทยว่า ในภาคครัวเรือนซึ่งเป็นเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้าทั้งหมดประมาณ 14 ล้านมิเตอร์นั้น มีครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 เมกะวัตต์รวม 11 ล้านมิเตอร์ ซึ่งคิดเป็นปริมาณการใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 5% ของทั้งประเทศ ดังนั้น 70-80% ของผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย
พร้อมทั้งเสนอทางเลือกให้ภาครัฐว่า จากนี้ไปอีก 10 ปี ไม่ควรสร้างโรงไฟฟ้า หลังจากนั้นค่อยกลับมาคุยกันต่อว่าจะใช้พลังงานอะไรซึ่งยังไม่สาย อีกทั้งกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบสามารถเพิ่มไฟฟ้าได้อีก 2,000 เมกะวัตต์ได้สบายๆ โดย กฟผ.มีระบบที่สามารถปรับการผลิตขึ้นไปได้อีก 900 เมกะวัตต์ จากการปรับอุณหภูมิก่อนจุดระเบิดก๊าซธรรมชาติ และยังมีเทคโนโลยีที่ช่วยลดการสูญเสียพลังงานซึ่งจะช่วยเพิ่มไฟฟ้าในระบบได้อีก
สำหรับต้นทุนของถ่านหินซึ่งถูกเลือกเป็นพลังงานราคาถูกในหลายๆ ประเทศนั้น ธารา บัวคำศรี ตัวแทนจากกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกริ่นไว้ก่อนเสวนาว่า มีคำถามว่าค่าใช้จ่ายจริงสำหรับพลังงานถ่านหินนั้นเป็นเท่าไหร่? ใช่เงินที่มองเห็นเป็นราคาตลาดหรือไม่? ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเมืองไทยก็มีการศึกษาเรื่องนี้ โดยพบว่าต้นทุนผลกระทบภายนอก (external cost) นั้นแพงกว่าน้ำมันหน่วยละ 2-3 บาท และเมื่อคำนวณต้นทุนทั้งระบบพลังงานถ่านหินมีต้นทุนที่แพงกว่าพลังงานรูปแบบอื่น ทั้งนี้ไม่นับรวมพลังงานนิวเคลียร์
ธาราเผยว่า การคำนวณต้นทุนพลังงานทั้งหมดจะรวม 1.ค่าเสียหายที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2.ผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ที่มีสาเหตุจากมลพิษทางอากาศ และ 3. การป่วยตายเนื่องจากอุบัติเหตุครั้งสำคัญเนื่องจากการประกอบกิจการเหมือง พร้อมทั้งเผยภาพข้อมูลภาคสนามจากประเทศต่างๆ อาทิ โคลัมเบียซึ่งส่งออกถ่านหิน แต่มีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิผู้คนในพื้นที่ รัสเซียมีเหมืองถ่านหินใต้ดินและมีอุบัติเหตุจนเกิดคนตาย และที่แอฟริกาใต้มีเหมืองที่ถูกทิ้งร้าง และเกิดสารพิษจากเหมือนเจือปนในแหล่งน้ำ สหรัฐฯ ก็มีการย้ายภูเขาทั้งลูกเพื่อทำเหมืองใต้ภูเขา เป็นต้น
ทางด้าน ศุภกิจ นันทะวรการ ตัวแทนจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ได้ให้ข้อมูลตัวเลขต้นทุนของพลังงานถ่านหิน โดยอ้างงานวิจัยของ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าหากเปรียบเทียบกับพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่นแล้ว พลังงานถ่านหินมีต้นทุนต่อหน่วยมากกว่า 7% และบอกด้วยว่าต้นทุนผลกระทบภายนอกนั้นเกิดขึ้นทุกวัน
แต่การกำหนดนโยบายพลังงานพยายามหลบเลี่ยงต้นทุนดังกล่าว จึงเสนอให้ประชาชน นักวิชาการและทุกคนในสังคมร่วมกันทำแผนพลังงานทางเลือกเพื่อเสนอต่อรัฐบาล แทนที่จะรอเป็นฝ่ายถูกเสนอ
สำหรับพลังงานทางเลือก ที่ส่วนใหญ่มองว่าเป็นพลังงานสะอาดที่สุดนั้น ศุภกิจบอกว่าไม่ใช่แต่ชี้ว่าพลังงานทางเลือกคือพลังงานที่ย้อนกลับได้ อย่างเช่นการสร้างกังหันลม หากไม่ดีเราก็สามารถรื้อถอนลงมาได้ โดยไม่ทำให้สภาพพื้นที่บริเวณนั้นเสียหาย ต่างจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งสร้างแล้วไม่สามารถย้อนกลับสภาพพื้นที่ให้เป็นเหมือนเดิมได้ ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่เป็นที่พูดถึงกันมากนักในเมืองไทย
นอกจากนี้ ในเวทีดังกล่าวยังได้เชิญตัวแทนจากกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี, กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทับสะแก, เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ, เครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต.เขาหินซ้อน และคณะทำงานโลกร้อนอย่างเป็นธรรม (Thai Working Group for Climate Justice) มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของภาครัฐด้วย.