ประจวบคีรีขันธ์ – พบเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ บนหาดทับสะแก จ.ประจวบฯ หน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.ศูนย์วิจัยชายฝั่งทะเลชุมพร ประกาศหาดทับสะแก 2 กม.เป็นเขตเฝ้าระวังเต่าทะเล ขณะที่ชาวบ้านระบุพื้นที่นี้ควรค่าแก่การอนุรักษ์มากกว่าสร้างโรงไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา นายประจินต์ ธารศิริสิน นายอำเภอทับสะแก ประมงอำเภอ นายกอบต.นาหูกวาง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ตำบลนาหูกวาง และตัวแทนชาวบ้านจากอำเภอทับสะแก ได้ร่วมกันปักป้ายประกาศ เขตอนุรักษ์เต่าทะเล ณ บริเวณหาดดอนตาเหว่า บ้านแหลมกุ่ม อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นหาดหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกของ กฟผ.
ต่อจากนั้นกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ได้ชูป้ายร่วมอนุรักษ์พื้นที่วางไข่เต่าทะเลในบริเวณเดียวกัน และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยชายฝั่งทะเลชุมพร ได้ประกาศให้บริเวณหาดดังกล่าวซึ่งมีระยะทางยาวประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นเขตเฝ้าระวังเต่าทะเล
น.ส.สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าว ว่า การพบว่าที่อำเภอทับสะแกเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล เป็นเรื่องที่สร้างความสุขใจให้แก่ชาวทับสะแกมาก สิ่งที่สำคัญของการค้นพบครั้งนี้ไม่ใช่มีคุณค่าเพียงแค่งานในเชิงอนุรักษ์เผ่าพันธุ์ของสัตว์ แต่เต่าได้ให้คุณค่าที่ลึกกว่าคือการทำให้คนในชุมชนได้หันมามองรากฐานของชุมชนว่า มีสิ่งที่ดี มีคุณค่าที่จะต้องช่วยกันดูแล รักษาไว้อย่างยั่งยืน ส่งทอดสู่ลูกหลาน เราเชื่อว่าชุมชนที่ดีและเข็มแข็งต้องมาจากความรู้สึกหวงแหนในถิ่นเกิดก่อน นี่เป็นสัญชาตญาณที่ดีในร่วมกันการปกป้องรักษาให้คงอยู่ต่อไป
แต่ถึงแม้คนในชุมชนทับสะแกจะร่วมมือกันดูแลพื้นที่อนุรักษ์เต่าให้ดีแค่ไหน ก็จะหมดความหมายหาก กฟผ.สามารถขอเปลี่ยนผังเมืองรวมชุมชนทับสะแกในบริเวณที่ดินของ กฟผ. 4,000 ไร่ ซึ่งเป็นสวนมะพร้าวโอบล้อมหาดดอนตาเหว่า ซึ่งเป็นพื้นที่วางไข่เต่าทะเลทั้งหมดไป เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ในคณะกรรมการระดับจังหวัดและระดับกรม ได้มีความเห็นยกคำร้องของ กฟผ.ขณะนี้ถึงขั้นตอนสุดท้ายคณะกรรมการผังเมืองประเทศต้องพิจารณา เราจึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการผังเมือง ได้มองเห็นคุณค่าการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีมูลค่ามากกว่าการให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างแน่นอน
น.ส.ภาวินี วงษ์เณร ชาวบ้านบ้านแหลมกุ่ม ตำบลทับสะแก อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้พบเห้นเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่ เล่าเหตุการณ์วันนั้นว่า เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. ขณะเดินเล่นอยู่ได้เจอลูกเต่าตาย 1ตัว เมื่อสังเกตทรายพบบางสิ่งผิดปกติก็ลองเอามือขุดดูแค่ 2 ครั้งก็ต้องตกใจและตื่นเต้นมาก เพราะเจอลูกเต่าแหวกทรายออกมาเกือบร้อยตัว ได้ปล่อยลงทะเลไป ที่ผ่านมาเคยดูแต่ในสารคดี ไม่คาดคิดว่าจะเจอจากธรรมชาติจริง และได้ทำเครื่องหมายเป็นสัญลักษณ์เพื่อให้นักวิชาการที่มีความรู้มาสำรวจต่อ และอยากให้สงวนหาดบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่อนุรักษ์ ให้เต่ามาวางไข่ทุกปี
นายอติชาติ อินท์ทองคำ นักวิชาการประมงผู้ชำนาญการรับผิดชอบโครงการสัตว์ทะเลหายาก จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลางชุมพร ซึ่งได้รับแจ้งให้มาร่วมสำรวจพื้นที่พบแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล กล่าวว่า ได้ทำการขุดหลุมในจุดที่ชาวบ้านระบุว่าเจอลูกเต่า ลงไปประมาณ 80 เซนติเมตร ก็พบลูกเต่าตนุที่ออกจากไข่กำลังแหวกทรายขึ้นมาพอดี 8 ตัว พบซากเปลือกไข่เต่ามีร่องรอยการแตกตัวไปแล้วจำนวน 118 ฟอง และพบไข่เต่าที่ไม่สมบูรณ์ อีก10 ฟองที่จะเก็บไปเพื่อศึกษาวิจัย
ทั้งนี้ ชาวบ้านได้มอบลูกเต่าที่อนุบาลไว้อีก 26 ตัว ให้กับเจ้าหน้าที่ไปอนุบาลต่อ และได้ขอให้นำลูกเต่าที่ผ่านการเลี้ยงดู จนกว่าจะแข็งแรงให้นำกลับมาปล่อยในพื้นที่วางไข่เดิมร่วมกับชาวบ้านต่อไปในอนาคต
นายอติชาติ กล่าวอีกว่า นี่เป็นการบันทึกครั้งแรกของประเทศไทยในการพบเจอแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลบริเวณหาดทรายชายฝั่งของอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบฯ ไปจนถึงก้นอ่าวไทย ปกติจะมีรายงานพบแค่ 2 พื้นที่ คือ ที่เกาะคราม จ.ชลบุรี และเกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับงานวิชาการ และเป็นเรื่องที่น่าดีใจ เพราะเหลือพื้นที่เหมาะสมไม่มากที่เต่าทะเลจะใช้วางไข่ได้ เพราะต้องเป็นชายหาดที่สงบปราศจากการรบกวนของกิจกรรมมนุษย์
พื้นที่ไหนเป็นที่พื้นที่วางไข่เมื่อลูกเต่าโตถึงวัยเจริญพันธุ์ เต่าจะกลับมาวางไข่ในชายหาดที่เกิด ซึ่ง เต่าทะเลจะวางไข่ได้หลายชุด เว้นระยะประมาณ 7-10 วันต่อ 1 ชุด ที่เจอน่าจะเป็นไข่ชุดที่2
เต่าตนุถือเป็นสัตว์สงวนและคุ้มครองและอยู่ในบัญชีอนุสัญญาไซเตสบัญชีที่1 ถือว่าใกล้สูญพันธุ์ เป็นเรื่องที่ดีมากที่ชาวบ้านได้ตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ตั้งแต่พื้นที่วางไข่ไปจนถึงแหล่งหากิน เพราะเราได้รับแจ้งการพบเจอเต่าตนุ ครั้งแรกที่ทับสะแกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ในสถานที่พบเจอ คือ หน้าหาดทรายที่เป็นจุดวางไข่ของเต่านี้ และชาวบ้านได้ให้ข้อมูลเพิ่มว่า หาดแห่งนี้พบเต่าตนุมาวางไข่ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว