xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนจี้รัฐอุทธรณ์เขตมลพิษบุกวางหรีดสอท.บิดคำสั่งศาลฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ภาคเอกชนแนะคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยื่นอุทธรณ์กรณีคำสั่งศาลปกครองประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ตั้งคณะทำงานศึกษาสิ่งแวดล้อมระดับชาติชี้ขาดข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย พร้อมเตรียมถกในเวที กรอ.อีกรอบ 18 มี.ค.นี้ศึกษาผลดี-ผลเสีย โอดแผนร่วมกับ 25 ชุมชนแก้ไขสิ่งแวดล้อมช่วงรัฐบาลขิงแก่ทำมา 2 ปีสูญเปล่า ด้านเครือข่าย ปชช.ภาคตะวันออกบุกวางหรีดประท้วง ส.อ.ท. บิดเบือนเจตนารมณ์ศาลปกครอง

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กรณีศาลปกครองระยองประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษนั้นยอมรับว่าในที่สุดคงจะต้องมีการหารือในเวทีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือกรอ. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 18 มี.ค.เพื่อสรุปถึงผลดีและเสียหากประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษให้นายกฯรับทราบ โดยเอกชนได้ร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมกับ 25 ชุมชนในพื้นที่มาบตาพุดตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์มาเกือบ 2 ปีแล้วเมื่อประกาศเป็นเขตควบคุมก็เท่ากับว่าสิ่งที่ทำมาในอดีตสูญเปล่าทันที
“ ข้อเสนอจากที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองกกร.ที่ต้องการให้อุทธรณ์นั้นคงจะมีการนำเสนอผ่านรมว.อุตสาหกรรมในฐานะเป็นกรรมการในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่จะมีการประชุมวันที่ 16 มี.ค.นี้อีกทางหนึ่งแต่เวทีกรอ.คงต้องคุยกันแน่นอน”นายสันติกล่าว
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานส.อ.ท. กล่าวหลังการหารือในคณะกรรมการกลั่นกรองร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ได้แก่ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย วานนี้ (9มี.ค.) ว่า จากการหารือภาคเอกชนเกี่ยวกับปัญหาที่ศาลปกครองระยองการประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษเห็นพ้องที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติควรจะมีการยื่นอุทธรณ์เรื่องดังกล่าวและระหว่างนี้ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตชุมชนเพื่อให้ข้อมูลเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย
“กำลังสรุปว่าจะเสนอให้อุทธรณ์ผ่านเวทีไหนเนื่องจากเดิมคิดว่าจะหารือในเวทีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนหรือกรอ.วันที่ 18 มี.ค.ที่มีนายกฯเป็นประธาน แต่ล่าสุดทราบว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติวันที่ 16 มี.ค.นี้ซึ่งอาจทำหนังสือถึงรมว.อุตสาหกรรมเพื่อให้หารือในเวทีนี้ด้วย”นายพยุงศักดิ์กล่าว
ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต้องการให้ประเด็นทั้งหมดมีความชัดเจนเพราะจากข่าวที่ออกไปส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนหากมีข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับทุกฝ่ายเพราะภาคเอกชนเองไม่ต้องการมีปัญหาเผชิญหน้ากับใครและไม่ต้องการทำความเสียหายให้กับชุมชนแต่ต้องการให้ข้อสรุปมาจากข้อเท็จจริงที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเอกชนก็ร่วมมือกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในข่ายจะได้รับผลกระทบตามคำพิพากษานั้น มี 6 นิคมอุตสาหกรรม 138 โรงงาน มีเม็ดเงินลงทุนรวมกันประมาณ 4 -5 แสนล้านบาท และขณะนี้ยังมีโครงการรอการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกหลายโครงการซึ่งยอมรับว่าพื้นที่จ.ระยองนั้นในอนาคตก็คงจะมีจำกัดต่อการลงทุนในที่สุดเอกชนจึงได้เสนอให้มีโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือเซาท์เทิร์นซีบอร์ดขึ้นมาเพื่อรองรับการลงทุนในระยะยาวหากผลศึกษาออกมาก็จะได้ร่วมกำหนดว่าในที่สุดการลงทุนในระยองควรมีอีกมากน้อยเพียงใด
“การลงทุนในมาบตาพุดที่ผ่านมาหากเอกชนลดมลพิษได้ 100% ก็จะขยายงานได้ 80 % และมีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเห็นว่าหากมีปัญหาคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเองก็มีอำนาจในการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษได้”นายพยุงศักดิ์กล่าว

*******วางพวงหรีดประท้วงเอกชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่คณะกรรมการกลั่นกรอง กกร.หารืออยู่ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์นั้นได้มีตัวแทนชาวบ้านจากมาบตาพุดและบ้านฉาง รวมทั้งกลุ่มกรีนพีช กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก มูลนิธินโยบายสุขภาวะ เป็นต้น ได้ไปยื่นพวงหรีดระบุข้อความแด่ “สภาอุตสาหกรรมทำลายสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย” โดยเรียกร้องให้ ส.อ.ท.หยุดให้ข่าวบิดเบือน ว่าการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษจะกระทบการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของจังหวัด พร้อมระบุว่าแม้จะมีการให้ข่าวว่าหลายโรงงานมีมาตรฐานดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีคำบ่งชี้จากสถาบันมะเร็งว่า ที่จังหวัดระยอง มีค่าความเสี่ยงมะเร็งสูงกว่าจังหวัดอื่น 3-5 เท่า พร้อมกับ เรียกร้อง ให้ผู้ที่ออกมาให้ข่าวแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ
นายสุทธิ อัศฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า การมาวางหรีดประท้วงเพื่อประณามภาคเอกชนที่บิดเบือนเจตนารมย์ของศาลปกครองที่มีคำพิพากษาให้ประกาศพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพราะมีปัญหาที่มีแนวโน้มก่ออันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมรุนแรง ข้อเสนอที่ต้องการให้อุทธรณ์หรือเลื่อนการประกาศออกไปจึงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง เป็นจุดยืนที่มุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก
นอกจากนี้ การให้ข้อมูลต่อสาธารณะของภาคเอกชนยังบิดเบือน ไม่ได้ศึกษาหลักการเกี่ยวกับการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ทำให้สังคมเข้าใจผิด โดยการกล่าวอ้างว่ากระทบต่อการท่องเที่ยว การเกษตร แม้แต่การลงทุน ซึ่งจริงๆ แล้วการประกาศเขตควบคุมมลพิษไม่ได้ห้ามการลงทุน ไม่ได้ทำให้การท่องเที่ยวหรือเกษตรกรรมมีปัญหา แต่เป็นการกำหนดให้การลงทุนมีประสิทธิภาพด้านการจัดการมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม
ในวันเดียวกันนี้ เครือข่ายภาคประชาชนฯ ยังเดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อให้มีการตรวจสอบนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ชุดที่มีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ในข้อหาละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย

*** ส.อ.ท.นัดสมาชิกถกผลกระทบวันนี้
นายศุภชัย วัฒนางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส.อ.ท. กล่าวว่าในวันนี้ ส.อ.ท.จะนัดประชุมหารือสมาชิกเกี่ยวกับผลกระทบจากการประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ รวมทั้งหาจุดยืนร่วมกันในกรณีดังกล่าวด้วย ซึ่งเห็นว่าจะต้องศึกษาอย่างชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วมีผลกระทบอย่างไร และประเทศชาติได้หรือเสียหากมีประกาศดังกล่าว
นอกจากนี้ ทางกลุ่มปิโตรเคมี ส.อ.ท.มีความพร้อมที่จะสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการโดยเปรียบเทียบมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของไทยเทียบกับต่างประเทศ หากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติร้องขอ เพื่อนำไปใช้ในการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง ซึ่งตนอยากให้มีการอิงข้อเท็จจริงด้านวิชาการมาใช้ในการพิจารณา รวมทั้งผลกระทบต่อประเทศชาติ แทนการใช้ความรู้สึกมาตัดสิน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น