ยุคไอทีทั้งที จะทำเกษตรแบบไม่รู้ชะตากรรม ไม่รู้อนาคตผลผลิต ไม่ได้แล้ว เพราะนับวัน "อะกริทรอนิกส์" เกษตรแบบพึ่งพาอิเล็กทรอนิกส์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเกษตรหรือ "อะกริทรอนิกส์" (Agritronics) คือ การทำเกษตรโดยนำเทคโนโลยีทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้บริหารจัดการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการ เกษตร อาทิ การคัดเลือกพันธุ์ การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว แปรรูปและขนส่ง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ระบบการเกษตรแบบนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกษตรความแม่นยำสูง (precision agriculture) ที่นำเอาเทคโนโลยีหลายด้าน อาทิ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีสื่อสาร เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น มาใช้เพื่อการเกษตรที่มีความแม่นยำเหมือนระบบอุตสาหกรรมและทำนายผลผลิตได้
เกษตรแบบอะกริทรอนิกส์น่าสนใจอย่างไรนั้น ดร.พิพัฒน์ วีระถาวร ผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนา บริษัท มิตรผลวิจัย อ้อยและน้ำตาล จำกัด กล่าวไว้ในการสัมมนาของเครือข่ายนวัตกรรมด้านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการ เกษตร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.52 ณ โรงแรมสยามซิตี ว่าอะกริทรอนิกส์ช่วยลดการใช้ทรัพยากรได้หากทำถูกที่-ถูกเวลา แม้ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันก็ช่วยให้เกิดผลผลิตที่แม่นยำ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่โลกเผชิญอยู่
"ระบบนี้ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมี และใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งระบบเกษตรที่ใช้เล็กทรอนิกส์จะพบมากในพืชสวน อย่างกล้วยและไม้ตัดดอกอื่นๆ แต่พบน้อยพืชไร่ สำหรับมิตรผลเรานำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับระบบน้ำ เรามีระบบวัดความชื้นในดิน ที่บอกได้ว่าความชื้นเท่าไหร่ต้องใช้น้ำและความชื้นเท่าไหร่ไม่ต้องใช้ รวมทั้งใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อดูค่าการสะท้อนแสง ที่ช่วยทำนายผลผลิตของอ้อยได้ ที่ต้องทำนายผลผลิตเพราะมีผลต่อราคา เนื่องจากการซื้อขายอ้อยเป็นตลาดอนาคต ซึ่งตอนนี้มีการซื้อขายน้ำตาลที่จะขายกันในปีหน้าแล้ว" ดร.พิพัฒน์กล่าว
มิตรผลยังติดตั้งสถานีวัดสภาพอากาศซึ่งวัดปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิและทำนายปริมาณน้ำฝนได้ ซึ่งจากการศึกษาวงจรชีวิตของศัตรูพืชจะพบว่าที่ค่าความชื้นต่างกันนั้นจะพบ การระบาดของศัตรูพืชต่างชนิดกัน เช่น เมื่อชื้นสูงจะพบหนอนกอ ถ้าแล้งจะพบหนอนกอลายจุดใหญ่เล็ก เป็นต้น ดังนั้นเมื่อทราบค่าความชื้นและอุณหภูมิแล้วก็สามารถแจ้งเตือนเกษตรกรได้ว่า จะเกิดการระบาดของศัตรูพืชแบบใดบ้าง แล้วจะส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจ หากพบศัตรูพืชจริงก็จะปล่อยแตนเบียนออกไปกำจัด
พร้อมกันนี้ ดร.พิพัฒน์ยังได้ยกตัวอย่างการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเกษตรของต่าง ประเทศ อาทิ ออสเตรเลียมีเซนเซอร์วัดคลอโฟฟิลด์ของใบไม้ หากพบว่าคลอฟิลด์ลดลงก็จะส่งสัญญาณไปยังระบบรดน้ำให้เติมสารอาหารที่จำเป็น ลงไป หรือที่สหรัฐฯ ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมศึกษาค่าการสะท้อนแสงซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการใส่ปุ๋ย ส่วนที่ญี่ปุ่นก็มีระบบวัดค่าความเป็นกรดของดินแล้วประมวลผลให้เห็นผ่านรถ แทรกเตอร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ดร.พิพัฒน์กล่าวว่าพืชที่เหมาะแก่การทำเกษตรแบบอะกริทรอนิกส์คือพืชที่มี ระบบตลาดที่แน่นอน มีกำหนดเวลาชัดเจน อย่างอ้อยนั้นทุกตันจะถูกส่งเข้าโรงงานทั้งหมด และมีเวลาเปิดปิดโรงงานชัดเจน แต่ที่สำคัญต้องทเกษตรแบบมีคุณภาพ ทำให้ราคาถูก เช่นมิตรผลที่สามารถบอกได้ว่าผลิตน้ำตาลได้เกร็ดเล็กเท่าไหร่ ทำให้ขายได้ราคาดี
ด้าน ผศ.อภิเนตร อูนากูล ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายนวัตกรรมด้านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเกษตร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ไทยนั้นมีนักวิชาการเกษตรและเกษตรกรอยู่จำนวนมาก แต่ทั้งสองฝ่ายไม่ค่อยได้มาเจอกันมากนัก จึงมีความคิดที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงทั้งสองฝ่าย โดยสร้างให้เกิดเครือข่ายนวัตกรรมด้านระบบอิเล้กทรอนิกส์เพื่อการเกษตร
"ผู้ที่จะได้รับการสนับสนุนคือผู้ที่ผลิตนวัตกรรมและ ผู้ให้บริการนวัตกรรมเพื่อตอบสนองผู้ใช้ โดยต้องอยู่ในรูปบริษัทซึ่งจะหาผู้ใช้นวัตกรรมเพื่มอีกเป็นสิบเป็นร้อย ขณะที่การสนับสนุนผู้ใช้เพียงรายเดียวก็จะอยู่เพียงแค่รายนั้น ปัจจุบันไทยมีบริษัทที่สร้างนวัตกรรมนี้อยู่อย่างกระจัดกระจาย และส่วนใหญ่มักไม่โตเท่าไหร่ ซึ่งหากไม่เป็นนักเทคโนโลยีทำเองก็เป็นนักการเกษตรที่ลงมือ แต่ก็ยังไม่ได้เกิดการเชื่อมโยงเท่าที่ควร คาดว่าน่าจะมีบริษัทลักษณะนี้ราวๆ ร้อยบริษัท แต่เราเริ่มพูดคุยแล้วประมาณ 10-20 บริษัท" ผศ.อภิเนตรกล่าว
ทั้งนี้ สนช.สนับสนุนเครือข่ายนวัตกรรมด้านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเกษตรมาประมาณ ครึ่งปีนี้ โดยสนับสนุนทุนให้เปล่าไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่มูลค่านั้นต้องไม่เกิด 75% ของสัดส่วนการลงทุน ซึ่ง ผศ.อภิเนตรกล่าวว่าสัดส่วนที่เหมาะสมและให้การสนับสนุนได้คล่องตัวที่สุดคือ 1 ล้านบาทซึ่งเป็นสัดส่วนการลงทุน 50% โดยผู้รับการสนับสนุนต้องลงทุนอีก 1 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายคร่าวๆ ว่า 1-2 บริษัทใน 10 บริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจะสามารถโตเป็นธุรกิจ 100-1,000 ล้านบาท ได้ในเวลาไม่เกิน 5 ปี
ด้าน ดร.ยอดเยี่ยม ทิพย์สุวรรณ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษาบริษัท ไมโครเซนส์ จำกัด คือตัวอย่างของผู้ได้รับทุนสนับสนุนจาก สนช.ในฐานะผู้สร้างนวัตกรรม โดยได้ประดิษฐ์เครื่องผสมน้ำยาและสารเคมีอัตโนมัติเพื่อการปศุสัตว์ ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรที่ผสมยาในน้ำให้สัตว์กิน โดยผสมลงไปถังน้ำให้เกิดปัญหายาตกตะกอน สัตว์ได้รับปริมาณยไม่สม่ำเสมอ อีกทั้งถังยังมีโอกาสเกิดฟิล์มชีวภาพที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพสัตว์ด้วย
เครื่องที่ ดร.ยอดเยี่ยมพัฒนาขึ้นมานั้นออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยตัวเครื่องมีเซนเซอร์วัดระดับน้ำและมีระบบสุญญากาศดึงยาไปผสมน้ำที่ปลาย ท่อ จึงช่วยให้สัตว์ได้รับปริมาณยาที่เหมาะสม โดยภายในเครื่องขนาดเล็กกว่ากระดาษเอ 4 ดังกล่าวยังติดตั้งระบบสมองกลฝังตัว (Ebedded System) เพื่อช่วยในการควบคุมด้วย ซึ่งนอกจากใช้ผสมยาให้สัตว์แล้วยังมีเครื่องที่ออกแบบเพื่อผสมคอลรีนสำหรับ ใช้ทำความสะอาดโรงเรือนด้วย
ทั้งนี้เขาใช้เวลาพัฒนาเครื่องดังกล่าวประมาณ 1 ปี และปัจจุบันผลิตจำหน่ายแล้วกว่า 200 ในระยะเวลา 2 ปี และพัฒนามาแล้วทั้งหมด 3 รุ่น ดดยมีการปรับปรุงให้แม่นยำขึ้นและปรับเปลี่ยนตามความต้องการลูกค้า อีกทั้งยังออกแบบให้ง่ายแก่การซ่อมบำรุง โดยเมื่อมีปัญหาลูกค้าสามารถส่งเครื่องทางไปรษณีย์กลับมาให้ทางบริษัท ซ่อมแซมได้
สำหรับจุดเริ่มต้นของการสนับสนุนการเกษตรแบบอะกรีทรอนิ กส์นั้น ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่าเริ่มต้นจากโครงการสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ของสำนักงานมาก่อน ทั้งนี้ สนช.ได้เล็งเห็นศักยภาพของอะกรีทรอนิกส์ที่จะนำไปสู่การทำเกษตรที่ลดการใช้ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และลดต้นทุน ทั้งนี้พืชที่จะทำรูปแบบอะกรีทรอนิกส์ได้ต้องพืชที่ให้ราคาสูงและมีระบบการ ตลาดที่ดี