xs
xsm
sm
md
lg

เล็งใช้ข้อมูล "ธีออส" วางแผนความมั่นคง-เศรษฐกิจชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิทรรศการงานประชุมผู้ใช้ข้อมูล สทอภ.
ก.วิทย์เล็งใช้ภาพดาวเทียม "ธีออส" พร้อมส่งคนในพื้นที่ ไปสำรวจข้อมูลประชากรด้านเพศ อายุ อาชีพ ศาสนา เพื่อใช้บริหารจัดการความมั่นคง-เศรษฐกิจชายแดนใต้ รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มอาชญากร

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุมผู้ใช้ข้อมูล สทอภ.ประจำปี 2552 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.52 ณ โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ โดยมีผู้ใช้ข้อมูล สทอภ.ทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชนราว 60 หน่วยงานเข้าร่วม อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิทยุการบิน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) เป็นต้น

สำหรับวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ทาง สทอภ.เปิดให้บริการข้อมูลจากดาวเทียมธีออสอย่างเป็นทางการ โดย ดร.คุณหญิงกัลยาได้กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า มีแนวคิดที่จะใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมธีออส (THEOS) และดาวเทียมอื่นๆ ไปศึกษาพื้นที่ชายแนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่มีความไม่สงบอยู่มาก เพื่อวางแผนด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยมีแนวคิดว่าต้องส่งคนที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้วไปเก็บข้อมูลสำมะโนครัว อาทิ อายุ เพศ อาชีพ ศาสนาของคนในพื้นที่

"เลือกพื้นที่ภาคใต้เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งคุยมาหลายเดือนแล้ว แต่ตอนนี้ภาพถ่ายดาวเทียมธีออสเพิ่งพร้อม เดิมมีกำหนดลงพื้นที่วันที่ 22 มิ.ย.นี้ เพื่อหารือกับผู้บริหารองค์การท้องถิ่น แต่ติดประชุมเรื่องงบประมาณจึงต้องเลื่อนออกไปก่อนเป็น ก.ค. โดยการทำข้อมูลนี้นอกจากจะใช้วางแผนจัดการด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังใช้ติดตามอาชญากรในพื้นที่ได้ด้วย" ดร.คุณหญิงกัลยาให้ความเห็น

ด้าน ดร.ไพศาล สันติธรรมนนท์ จากภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเผยว่าได้รับข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมธีออสจำนวน 2 ภาพ ซึ่งเป็นภาพสามมิติของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้ประเมินประสิทธิภาพของดาวเทียม โดยวัดพิกัด ความสูงของพื้นที่เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง

"การใช้บริการภาพถ่ายดาวเทียมจากธีออสมี 2 แบบคือ ถ้าไม่ต้องการความละเอียดมาก ภาพที่มีความคลาดเคลื่อน 10-50 เมตร นั้นระบบของ สทอภ.น่าจะทำได้ แต่สำหรับคนที่ใช้งาน ซึ่งต้องการความละเอียดและพิกัดที่ถูกต้อง โดยคลาดเคลื่อน 1-5 เมตร อาทิ ผู้ใช้เพื่อวางผังเมือง ซึ่งต้องการความแม่นยำนั้น ต้องหาซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมในการจัดการข้อมูล" ดร.ไพศาลกล่าว

พร้อมกันนี้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ยังได้คุยกับ ดร.รอยล จิตรดอน ผอ.สสนก. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม เผยว่าใช้ประโยชน์ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมหลายดวงเพื่อบริหารจัดการ ได้แก่ สปอต-5 (SPOT-5) แลนด์แซท (LANDSAT) อีโคนอส (IKONOS) เรดาร์แซท-1 (RADARSAT-1) ซึ่งข้อมูลจากดาวเทียมธีออสจะมาแทนในส่วนของข้อมูลสปอต-5

นอกจากนี้ สทอภ.ยังเสนอให้ สสนก.ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเรดาร์แซท-2 ซึ่งแคนาดาเพิ่งส่งขึ้นไปไม่นานนี้และมีความละเอียดมากกว่าดาวเทียมดวงเดิมประมาณ 20 เท่า โดยดาวเทียมดวงใหม่มีความละเอียด 1 เมตร ซึ่งดาวเทียมดวงนี้สามารถใช้งานในสภาพอากาศที่มีเมฆและฝนได้ โดย ดร.รอยลระบุว่า สถาบันใช้งบประมาณเกือบล้านบาทเพื่อซื้อภาพถ่ายดาวเทียมจาก สทอภ.
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
ดร.ไพศาล สันติธรรมนนท์
งานประชุมผู้ใช้ข้อมูล สทอภ.
กำลังโหลดความคิดเห็น