xs
xsm
sm
md
lg

สทอภ.ตั้งท่าพิจารณาปรับฝรั่งเศสส่ง "ธีออส" ล่าช้า 160 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบบจำลองดาวเทียมธีออสในงานประชุมวิชาการของ สทอภ.
สทอภ.ตั้งท่าพิจารณาปรับฝรั่งเศสส่ง "ธีออส" ล่าช้า 160 ล้าน โดยอยู่ระหว่างเจรจา หลังอัยการสูงสุดชี้อ้างเหตุคาซัคสถานไม่ยินยอม ให้ชิ้นส่วนจรวดตกไม่ใช่เรื่องสุดวิสัย แจงใช้ธีออสสำรวจทรัพยากรรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ แต่ยังใช้ประโยชน์ไม่ได้เพราะอยู่ระหว่างปรับแก้ค่าให้ทำงานได้

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) จัดการประชุมวิชาการเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแห่งชาติ ประจำปี 2551 ระหว่างวันที่ 21 -23 ม.ค.52 ณ อิมแพ็ค คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" ได้เข้าร่วมในงานดังกล่าว ซึ่งมีการนำเสนอนิทรรศการ ผลงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และการประกวดโครงงานเยาวชน 14 โครงงาน

ภายในงาน ดร.ธงชัย จารุพพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ได้กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์และสื่อมวลชนถึงความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อปรับบริษัทอีเอดีเอส แอสเทรียม (EADS ASTRIUM) บริษัทคู่สัญญาจากฝรั่งเศสซึ่งรับจ้างสร้างและส่งดาวเทียมธีออส (THEOS) ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของไทยแต่ดำเนินการส่งล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาเกือบ 10 เดือน

"ทางสำนักงานอัยการสูงสุดชี้ว่า เหตุในการส่งดาวเทียมล่าช้านั้นไม่ใช่เหตุสุดวิสัย เราจึงต้องปรับตามนั้นเป็นค่าปรับประมาณ 160 ล้านบาท ทั้งนี้เราได้ตั้งคณะกรรมการเจรจาค่าปรับซึ่งผมเองเป็นประธาน ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างเจรจา" ดร.ธงชัยกล่าว

ทั้งนี้ ดาวเทียมธีออสเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติซึ่งไทยโดย สทอภ.ได้ว่าจ้างบริษัทอีเอดีเอส แอสเทรียม บริษัทเอกชนจากฝรั่งเศสเป็นคู่สัญญาในการสร้างและส่งดาวเทียมธีออส ซึ่งตามกำหนดสัญญาต้องส่งดาวเทียมไม่เกินวันที่ 19 ม.ค.51 แต่ทางบริษัทส่งดาวเทียมล่าช้าออกไปเป็น 1 ต.ค.51 ด้วยปัญหาคาซัคสถานไม่ยินยอมให้ชิ้นส่วนจรวดตกในอาณาเขต อันเป็นกรณีเดียวกับที่อุซเบกิสถานไม่ยินให้ชิ้นส่วนจรวดนำส่งธีออสตกในพื้นที่ จนเป็นเหตุให้ต้องเลือกวิถีส่งดาวเทียมที่ชิ้นส่วนจรวดตกในคาซัคสถานแต่กลับเผชิญปัญหาเดียวกันอีก

พร้อมกันนี้ภายในงานประชุม ดร.ธงชัยยังได้บรรยายพิเศษเรื่อง "ธีออสกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก" โดยระบุว่าดาวเทียมธีออสสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ ว่ามีการเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง หรือมีการเปลี่ยนแปลงและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่ไหนบ้าง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะได้ส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ เป็นต้น

ดร.ธงชัยกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" ว่า ได้ใช้ดาวเทียมธีออสถ่ายภาพประเทศไทยหลายๆ จุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชัยนาท หมู่เกาะพีพี ภูเก็ต รวมถึงต่างประเทศ อาทิ จีน อาบูดาบี กัมพูชา เวียดนาม และสหรัฐฯ เป็นต้น อย่างไรก็ดีตอนนี้ไม่มีหน่วยงานใดของไทยได้ใช้ประโยชน์จากดาวเทียมธีออสเนื่องจากอยู่ระหว่างปรับแก้ค่าต่างๆ ให้ทำงานได้

สำหรับการประชุมวิชาการเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศแห่งชาติ จัดขึ้นเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้เผยแร่และนำเสนอผลงานการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และในวันแรกของการจัดงานได้มีบรรยายพิเศษเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้งานจัดขึ้นถึงวันที่ 23 ม.ค.52
ดร.ธงชัย จารุพพัฒน์
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช (ซ้ายสุด) ชมนิทรรศการในงานประชุม หลังจากเป็นประธานเปิดงาน (ภาพจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)
กำลังโหลดความคิดเห็น