สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเปิดศูนย์ควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมธีออส ที่ศรีราชา จ.ชลบุรี ทรงแนะให้ใช้ประโยชน์จากดาวเทียมเพื่อติดตามการทำงานของโครงการในพระราชดำริและใช้ประโยชน์ด้านสาธารณสุข ด้านผู้บริหาร สทอภ. เผยมีหลายประเทศสนใจร่วมใช้บริการข้อมูลจากธีออส พร้อมระบุผลกำไรเป็นตัวเงินอาจไม่คุ้มค่าเท่าใช้ประโยชน์ดาวเทียมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ของวันที่ 19 ต.ค. 52 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมธีออส (THEOS Control and Receiving Station) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และทรงปลูกต้นราชพฤกษ์บริเวณด้านหน้าอาคารสถานีควบคุมด้วย โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะผู้บริหาร สทอภ. เฝ้าฯ รับเสด็จ
หลังจากนั้นนั้นเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการของ สทอภ. ประกอบด้วยภาพจากดาวเทียมบริเวณโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, การพัฒนาระบบสารสนเทศพระราชกรณียกิจผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต, ภาพจากดาวเทียมธีออสบริเวณ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ขนาด 5x5 เมตร, ภาพจากดาวเทียมธีออสบริเวณต่างๆ ที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก, การประยุกต์ข้อมูลดาวเทียมธีออสด้านการเกษตร ป่าไม้ การจัดการทรัพยากรน้ำ และภัยพิบัติ
จากนั้นเวลาประมาณ 11.30 น. เสด็จฯ ทอดพระเนตรการควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมธีออส ซึ่งโคจรผ่านสาธารณรัฐประชาชนจีน, ภูฏาน และบังกลาเทศ โดยมี ดร.ดาราศรี ดาวเรือง รักษาการผู้อำนวยการ สทอภ. กราบบังคมทูลสรุปการปฏิบัติการควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมธีออส
ภายหลังจากที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ กลับ ในเวลาประมาณ 13.30 น. ดร.คุณหญิงกัลยา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า สมเด็จพระเทพรัตนฯ ตรัสและทรงมีรับสั่งว่าดาวเทียมธีออสสามารถนำมาใช้งานให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติได้ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะใช้ประโยชน์เกี่ยวกับโครงการในพระราชดำริ ทั้งใช้เพื่อสำรวจพื้นที่และติดตามความก้าวหน้าของโครงการ
"กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็ได้น้อมรับพระกระแสรับสั่งและจะดำเนินงานเพื่อสนองพระราชดำริต่อไป โดยจะประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เพื่อนำข้อมูลจากดาวเทียมธีออสไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับโครงการในพระราชดำริตามพระประสงค์ของพระองค์ท่าน" ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
นอกจากนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ยังได้ทรงแนะเหล่าสภากาชาดที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จในครั้งนี้ด้วยว่า ต่อไปน่าจะนำข้อมูลจากดาวเทียมไปใช้ประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขได้ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยในชนบทเข้าถึงการรักษาพยาบาลมากขึ้น
ทางด้าน ดร.ดาราศรี รองผู้อำนวยการ สทอภ. ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ สทอภ. ให้สัมภาษณ์ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ว่า สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมธีออสแห่งนี้ประกอบด้วยจานรับสัญญาณย่าน "เอส-แบนด์" (S-Band) ที่มีความถี่ 2 กิกะเฮิร์ตซ์ ใช้ในการสื่อสารเพื่อควบคุมการทำงานของดาวเทียม และจานรับสัญญาณย่าน "เอกซ์-แบนด์" (X-Band) ที่มีความถี่ 8 กิกะเฮิร์ตซ์ ใช้สำหรับรับสัญญาณภาพจากดาวเทียม ซึ่งรับได้ทั้งสัญญาณจากดาวเทียมธีออสและดาวเทียมอื่นๆ
ได้แก่ เรดาร์แซต-1 (RADASAT-1), เรดาร์แซต-2 (RADASAT-2), แลนแซต-5 ทีเอ็ม (Landsat-5 TM) และเอลอส (ALOS) ซึ่งเดิมทีรับสัญญาณโดยสถานีรับสัญญาณลาดกระบัง แต่ที่ลาดกระบังอาจถูกรบกวนจากสัญญาณเรดาร์ของสนามบินสุวรรณภูมิ ก็สามารถให้สถานีที่ศรีราชารับสัญญาณแทนได้ โดยจะใช้สถานีรับสัญญาณทั้ง 2 แห่งควบคู่กันไป และยังสามารถใช้เพื่อรับสัญญาณดาวเทียมอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ได้อีก แต่ต้องมีการปรับการรับสัญญาณให้เหมาะสมกับสัญญาณจากดาวเทียมแต่ละชนิด
ดร.ดาราศรี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สทอภ. ได้ให้บริการข้อมูลภาพจากดาวเทียมธีออสแก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ แล้วตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานในสังกัด, บริษัทสำรวจแร่ รวมทั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และกำลังจะเริ่มให้บริการข้อมูลจากดาวเทียมธีออสแต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย
ส่วนการให้บริการข้อมูลดาวเทียมธีออสแก่ผู้ใช้ในต่างประเทศทั่วโลกคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในเร็วๆ นี้ เพราะ สทอภ. มีความร่วมมือกับต่างประเทศอยู่แล้ว เช่น ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และแคนาดา นอกจากนั้นยังมีเปรู จีน และภูฏาน ที่สนใจจะร่วมใช้บริการข้อมูลจากดาวเทียมธีออสด้วย ซึ่ง สทอภ. จะให้บริการได้ 2 รูปแบบ คือ ให้บริการติดตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียมธีออสในประเทศนั้นๆ หรือให้บริการข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมธีออส
ดร.ดาราศรี ยังกล่าวด้วยว่าการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคตและอาจเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะให้ข้อมูลที่ทันสมัยมากที่สุด สำหรับประเทศไทย ซึ่งในตอนนี้คนส่วนใหญ่อาจยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าการลงทุนสร้างดาวเทียมด้วยงบประมาณมหาศาลจะได้ผลคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ หากมองความคุ้มค่าในแง่ของผลกำไรที่ได้คืนเป็นตัวเงินก็อาจไม่คุ้มค่า แต่สิ่งที่คุ้มค่ามากยิ่งกว่าคือการใช้ประโยชน์ดาวเทียมเพื่อส่วนรวม ใช้เพื่อส่งเสริมประชากรให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ดาวเทียมธีออสเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของประเทศไทย ได้รับการส่งขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 51 โดยจรวดนำส่งเนปเปอร์ (Dneper) จากฐานส่งจรวดเมืองยัสนี ประเทศรัสเซีย โคจรอยู่ที่ระดับความสูงจากพื้นโลก 822 กิโลเมตร ได้รับการออกแบบให้มีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 5 ปี ใช้พลังงานแสงอาทิตย์และมีวงโคจรสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ ใช้เวลาโคจรรอบโลก 101.46 นาทีต่อรอบ มีกล้องถ่ายภาพ 2 กล้อง คือ กล้องถ่ายภาพขาวดำรายละเอียดสูง และกล้องถ่ายภาพสี สามารถถ่ายภาพรอบโลกได้ภายใน 35 วัน และสามารถปรับเอียงเพื่อถ่ายภาพซ้ำตรงตำแหน่งเดิมได้ทุกๆ 1-5 วัน
ส่วนสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมธีออส ตั้งอยู่บนพื้นที่ราชพัสดุบนเนื้อที่ 120 ไร่ ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และนับว่าเป็นสถานีควบคุมดาวเทียมสำรวจทรัพยากรแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยมีฝ่ายปฏิบัติงานหลัก 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายปฏิบัติการภาคพื้นดิน ทำหน้าที่วางแผนการถ่ายภาพดาวเทียม คำนวณและควบคุมวงโคจร สั่งการควบคุมและติดต่อสื่อสารกับดาวเทียม รวมทั้งรับสัญญาณจากดาวเทียม บันทึกข้อมูง ผลิตข้อมูล และจัดเก็บในระบบคลังข้อมูลดาวเทียมเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ทั่วโลก
ฝ่ายปฏิบัติการดาวเทียม ทำหน้าที่วิเคราะห์สถานภาพการทำงานของระบบต่างๆ ของดาวเทียม เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ ได้แก่ ระบบควบคุมอุณหภูมิและพลังงาน ระบบไฟฟ้า ระบบการจัดการข้อมูล ระบบการควบคุมวงโคจร และระบบกลศาสตร์ รวมทั้งวิเคราะห์เตรียมหาทางแก้ไขในกรณีเกิดเหตุผิดปกติขึ้นกับดาวเทียม และฝ่ายงานวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรมดาวเทียม มีหน้าที่ดำเนินการสร้างแบบจำลองต่างๆ การวิเคราะห์คำนวณด้วยระบบคอมพิวเตอร์และซอฟแวร์