xs
xsm
sm
md
lg

สองนักวิทย์มะกันรับรางวัล "ชอว์ไพรซ์" จากงานการพบฮอร์โมนต้นเหตุอ้วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาสตราจารย์ หยาง เฉิน หนิง ประกาศผลผู้ที่ได้รับรางวัลชอว์ไพรซ์ประจำปี 2552 ในงานแถลงข่าวที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 52 (เอเอฟพี)
นักวิทย์มะกันควงคู่รับรางวัลโนเบลตะวันออก "ชอว์ไพรซ์" จากผลการศึกษาวิจัยที่ทำให้ค้นพบฮอร์โมนเลปติน ไขความกระจ่างในกลไกการอ้วน พร้อมนำไปสู่วิธีรักษาโรคอ้วน-เบาหวานในรูปแบบใหม่ ส่วนรางวัลสาขาดาราศาสตร์เป็นของนักวิทย์สหรัฐฯ เชื้อสายจีน และสาขาคณิตศาสตร์มอบให้ศาสตราจารย์จากฮาร์วาร์ดและอิมพีเรียลคอลเลจ

ดักลาส โคลแมน (Douglas Coleman) นักวิทยาศาสตร์อาวุโสแห่ง เดอะ แจคสัน แลบอราตอรี (The Jackson Laboratory) และเจฟฟรีย์ ฟรีดแมน (Jeffrey Friedman) นักวิทยาศาสตร์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการพันธุศาสตร์โมเลกุล (Laboratory of Molecular Genetics) มหาวิทยาลัยรอคเฟลเลอร์ (Rockefeller University) สหรัฐอเมริกา รับรางวัลชอว์ไพรซ์ (Shaw Prize) สาขาชีววิทยาศาสตร์และการแพทย์ร่วมกัน จากผลงานการค้นพบฮอร์โมนตัวสำคัญอันเป็นสาเหตุของโรคอ้วน

นักวิทยาศาสตร์เจ้าของรางวัลชอว์ไพรซ์ทั้งสองคนนี้ ต่างคนต่างทำงานวิจัยที่นำไปสู่การค้นพบฮอร์โมน เลปติน (leptin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการบริโภคอาหารและน้ำหนักตัวของคนเรา ซึ่งเมดิคัลนิวส์ระบุว่าการค้นพบนี้ยังช่วยให้คำอธิบายเกี่ยวกับโรคอ้วนได้ในระดับยีน และสร้างความท้าทายกับความรู้และความเชื่อเดิมๆ ที่คนทั่วไปมักเข้าใจกันว่าโรคอ้วนมีสาเหตุมาจากการขาดความตั้งใจจริง

นอกจากช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดโรคอ้วนแล้ว ยังเป็นแนวทางให้นักวิทยาศาสตร์ค้นคว้าหาวิธีการรักษาโรคดังกล่าวในรูปแบบใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมได้ รวมถึงพัฒนาวิธีการรักษาภาวะอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญในร่างกายของเรา เช่น โรคเบาหวาน และภาวะไร้ประจำเดือนที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน (hypothalamic amenorrhea)

"สำหรับคนที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาที่มาจากโรคอ้วน การค้นพบครั้งนี้นับเป็นอีกกรณีหนึ่งที่มีความสำคัญมาก และแสดงให้เห็นว่าความตั้งใจไม่ใช่สารสำคัญที่เป็นรากฐานของปัญหาโรคอ้วน แต่ที่จริงมันคือกระบวนการทางเคมี" ศ.หยาง เฉิน หนิง (Yang Chen-ning) ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลชอว์ไพรซ์ ประจำปี 2552 หรือรางวัลโนเบลแห่งตะวันออก กล่าวในขณะแถลงข่าวผลการตัดสินที่ฮ่องกงเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตามรายงานในเอเอฟพี

ทั้งนี้ เมดิคัลนิวส์ให้ข้อมูลว่า ในปี 2493 ทีมวิจัยของ เดอะ แจคสัน แลบบอราตอรี ค้นพบยีนโอบี (obese: ob) เป็นครั้งแรกในหนู จากนั้นในปี 2509 เจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ทดลองสังเกตเห็นหนูบางตัวที่ผ่าเหล่าและเป็นโรคเบาหวาน มีลักษณะอ้วนกว่าพวกพี่น้องของมัน ทำให้โคลแมนเกิดความสนใจนำหนูเหล่านี้มาศึกษากระบวนการเมทาบอลิซึม แ

ต่อมาในปี 2516 โคลแมนก็นำเสนอผลการศึกษาว่าในร่างกายสิ่งมีชีวิตนั้นมีปัจจัยที่ทำให้เกิดความรู้สึกอิ่ม (satiety factor) (ซึ่งภายหลังได้รับการระบุว่าคือฮอร์โมนเลปติน) และในหนูอ้วนเหล่านั้นไม่สามารถสร้างมันขึ้นมาได้ ขณะที่ในหนูที่เป็นเบาหวานมีการสร้างปัจจัยนี้ แต่ไม่มีผลต่อร่างกาย และให้ข้อสรุปว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงกับยีนที่ควบคุมการแสดงออกของปัจจัยดังกล่าว

จากนั้นปี 2537 ฟรีดแมนได้ทำการทดลองร่วมกับทีมวิจัยที่สถาบันการแพทย์ โฮเวิร์ด ฮิวจ์ส (Howard Hughes Medical Institute) และสามารถแยกยีนโอบีได้จากทั้งในหนูและในคน ซึ่งเป็นยีนที่ควบคุมการสร้างฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ให้ชื่อฮอร์โมนนี้ว่า "เลปติน" และตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ (Nature) ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวสร้างขึ้นโดยเซลล์ไขมันในร่างกาย เพื่อส่งสัญญาณในการควบคุมการบริโภคอาหารและการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย โดยจะมีผลมากกับระบบสืบพันธุ์, เมทาบอลิซึม, ต่อมไร้ท่อ รวมถึงระบบภูมิคุ้มกัน

หนูที่ขาดยีนโอบี จะไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเลปตินได้ และจะอ้วน มีน้ำหนักตัวมาก อาจมากกว่าปกติถึง 3 เท่า เมื่อฟรีดแมนทดลองฉีดเลปตินสังเคราะห์ให้กับหนูปกติและหนูที่ขาดยีนโอบี หนูทั้งสองกลุ่มจะมีความกระฉับกระเฉงมากขึ้นและน้ำหนักลดลง

เช่นเดียวกัน ในคนที่ขาดฮอร์โมนเลปติน จะกินจุและมีน้ำหนักตัวมาก และการรักษาคนที่เป็นโรคอ้วนด้วยฮอร์โมนเลปติน จะช่วยให้น้ำหนักลดลงได้ ทว่าในคนอ้วนจำนวนไม่น้อยมีเลปตินในกระแสเลือดอยู่มาก ซึ่งเลปตินปริมาณมากก็มีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดการต้านเลปติน แต่ก็สามารถนำไปสู่การพัฒนาฮอร์โมนเลปตินที่สามารถตอบสนองต่อการต้านเลปตินในร่างกายของแต่ละคนได้

นอกจากนี้ รางวัลชอว์ไพรซ์ยังมอบให้นักวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆด้วย โดย แฟรงก์ ซู (Frank Shu) นักวิทยาศาสตร์เชื้อสายจีน ผู้เชี่ยวชาญด้านกำเนิดดวงดาวจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในซานดิเอโก (University of California in San Diego) ได้รับรางวัลชอว์ไพรซ์ สาขา ดาราศาสตร์

ขณะที่ไซมอน โดนัลด์สัน (Simon Donaldson) ศาสตราจารย์จากอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน (Imperial College, London) สหราชอาณาจักร และ คลิฟฟอร์ด ทอเบส (Clifford Taubes) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) สหรัฐฯ ได้รับรางวัลในสาขาคณิตศาสตร์ร่วมกัน จากการศึกษาเรื่องเรขาคณิต 3 และ 4 มิติ ซึ่งมูลนิธิชอว์ไพรซ์ (Shaw Prize Foundation) จะมอบเงินรางวัลในแต่ละสาขาจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจะพิธีมอบรางวัลอย่างสมเกียรติขึ้นในฮ่องกงเร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น