xs
xsm
sm
md
lg

แฉอดีตนักวิทย์ MIT ปลอมข้อมูลงานวิจัย สหรัฐฯ แอบปิด (แต่ไม่มิด)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลุค ฟาน ปาริจส์ (ภาพจาก www.nature.com)
เผยแฟ้มลับนักวิทย์ MIT ปลอมข้อมูล แต่มีบทลงโทษแค่ไม่ทำงานวิจัย 5 ปี ซ้ำทางการยังปิดเงียบ แม้ผ่านมาหลายปี ส่งผลยังมีนักวิจัยคนอื่นนำไปใช้อ้างอิงอยุ่เนืองๆ ล่าสุด "เนเจอร์" คุ้ยหน่วยตรวจสอบ รับมีการรวบรวมหลักฐานหวังเอาผิดนักวิจัยจอมลวงโลกเพิ่มเติม

"ลุค ฟาน ปาริจส์" (Luk Van Parijs) อดีตรองศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาวัย 39 ปี ชาวเบลเยี่ยม ซึ่งเคยทำงานอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology: MIT) ในเมืองแคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา ถูกจับได้ว่ากระทำความผิดทางอาญาด้วยการปลอมแปลงรายงานวิจัย และถูกตัดสิทธิ์การทำงานวิจัยที่ได้รับทุนจากรัฐบาลเป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2548 ที่ผ่านมา

ทว่า กรณีดังกล่าว ไม่ได้มีการประกาศ หรือแถลงข่าวใดๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านจริยธรรมในงานวิจัยของ ทางการสหรัฐฯ เลย ซึ่งวารสารเนเจอร์ได้ระบุชัดว่า เป็นการ "ปกปิด" กรณีดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ผลงานวิจัยปลอม ที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารไปแล้วหลายเรื่อง บางฉบับก็ยังคงไม่ประกาศถอน ส่งผลให้ยังคงมีนักวิจัยนำไปใช้อ้างอิงอยู่ โดยไม่รู้ว่าเป็นเรื่องเท็จ

ดังนั้น เนเจอร์จึงตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมที่เฟเดอรัล รีจิสเตอร์ (Federal Register) หน่วยงานเก็บเอกสารของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยมีข้อมูลชัดว่า ฟาน ปาริจส์ สร้างข้อมูลเท็จในเอกสารขอทุนวิจัยจำนวน 5 ฉบับ และในรายงานผลการวิจัยอีก 10 เรื่อง ซึ่งมี 7 เรื่องที่ถูกนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร รวมถึงข้อมูลเท็จอยู่ในบทหนึ่งของหนังสือเล่มหนึ่ง และในพรีเซนเตชันอีกหลายเรื่อง

อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่ามีผู้อื่นร่วมกระทำความผิดดังกล่าวด้วยหรือไม่

เมื่อถูกจับได้ว่า ปลอมแปลงเอกสารและรายงานผลการวิจัย ส่งผลให้ฟาน ปาริจส์ถูกไล่ออกจากเอ็มไอที ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเขาในปี 2548 พร้อมกับยอมรับโทษด้วยการให้คำมั่นสัญญาว่า จะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมใดๆ ในการวิจัย ที่รัฐบาลเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนเป็นเวลา 5 ปีนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

"รายงานวิจัยปลอมหลายเรื่อง ถูกเผยแพร่ในวารสารหลายฉบับ และเป็นเวลาหลายปีมาแล้วด้วย เรารอจนกระทั่งรวบรวมหลักฐานทั้งหมดได้เพื่อให้คุ้มค่าแก่การเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำความผิด" คำพูดที่ระบุในเนเจอร์ของ จอห์น ดาห์ลเบิร์ก (John Dahlberg) นักไวรัสวิทยาที่ควบตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยสืบสวนการกระทำผิด (Division of Investigative Oversight) สำนักงานตรวจสอบจริยธรรมในการ วิจัย หรือโออาร์ไอ (Office of Research Integrity: ORI) ซึ่งเป็นองค์การที่ตรวจสอบการกระทำผิดในการวิจัยของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (US National Institutes of Health)

ทั้งนี้ โออาร์ไอมีข้อมูลการสืบสวนความผิดดังกล่าวอยู่ 11 ฉบับ ทั้งของพวกเขาเองและจากรายงานการสอบสวนของ 3 สถาบัน ที่ฟาน ปาริจส์เคยร่วมงานด้วย ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ เอ็มไอที, คาลเทค (California Institute of Technology: Caltech) ในพาซาเดนา และโรงพยาบาลบริกแฮมแอนด์วีเมนส์ (Brigham and Women's Hospital) ของวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School)

ในเฟเดอรัล รีจิสเตอร์ ระบุว่า ฟาน ปาริจส์ สร้างตัวเลขเท็จในรายงานวิจัย เช่น ผลการวิเคราะห์การแสดงออกของโปรตีนในเซลล์ ซึ่งเขาใช้ข้อมูลที่ได้จากการทดลองในประชากรเซลล์กลุ่มเดียวมาอ้าง เสมือนว่าทำการทดลองในเซลล์หลากหลายกลุ่ม

แม้โอไออาร์จะไม่เปิดเผยรายงานการสอบสวน ทว่าอดีตสมาชิกในแล็บของฟาน ปาริจส์คนหนึ่ง ที่ไม่เปิดเผยนาม ได้กล่าวกับทีมข่าวของเนเจอร์ว่า ฟาน ปาริจส์ถูกกล่าวหาครั้งแรกในปี 2547 เมื่อครั้งที่มีนักศึกษาระดับหลังปริญญาเอก (postdoc) 2 ราย นำเสนอผลงานระหว่างการประชุมสัมมนาของสถาบัน (MIT symposium) โดยใช้ผลสรุปจากงานของฟาน ปาริจส์ แต่เมื่อมีโพสต์ด็อกอีก 4 รายพร้อมด้วยนักศึกษาปริญญาโท ซักค้าน แต่ฟาน ปานริจส์ก็ไม่สามารถอธิบายถึงข้อสรุปอ้างดังกล่าวได้ ทำให้พวกเขาส่งข้อสังเกตดังกล่าวไปทางต้นสังกัดที่เอ็มไอที

เหตุการณ์ครั้งนั้น ส่งผลให้เอ็มไอทีต้องสั่งปิดแล็บของปาริจส์ พร้อมกับยุติการให้ทุนวิจัย และหยุดการพิจารณายอมรับผลการวิจัยทั้งหลายของเขา ทว่ายังอนุญาตให้อยู่ในคณะต่อไป กระทั่งในเดือน ต.ค. 2548 ทางสถาบันจึงประกาศว่า ฟาน ปาริจส์ถูกไล่ออกแล้ว หลังจากที่เขายอมรับแล้วว่า ได้บิดเบือนข้อมูลในรายงานวิจัยฉบับดังกล่าว และอีกหลายฉบับที่ยังไม่ได้เผยแพร่ รวมทั้งในใบสมัครขอรับทุนวิจัยด้วย

แม้ว่านักวิจัยหลายคน ที่เคยอ้างอิงข้อมูลและวารสารหลายฉบับที่เคยตีพิมพ์ผลวิจัยของฟาน ปาริจส์ ได้เพิกถอนข้อมูลเท็จของเขาไปแล้ว ทว่ายังมีผลวิจัยเท็จอีกมากกว่า 4 เรื่อง ที่อยู่ในวารสารอิมมูนิตี (Immunity) และในวารสารอื่น ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือเพิกถอนออกไปแต่อย่างใด

เช่น กรณีที่ฟาน ปาริจส์และคณะ เผยแพร่รูปภาพในวารสารอิมมูโนโลจี (Journal of Immunology) โดยอ้างว่าเป็นผลที่ได้จากการทดสอบโปรตีนบีซีแอล-2 (Bcl-2) และเบตา-แอคติน (beta-actin) ทว่าเขายังได้นำรูปภาพชุดเดียวกันนี้ ไปใช้ในรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารอิมมูนิตี (Immunity) ซึ่งระบุว่ามาจากการทดสอบโปรตีนราส (Ras) และ ราส-จีทีพี (Ras-GTP) โดยข้อผิดพลาดที่ตีพิมพ์ในวารสารอิมมูโนโลจีได้รับการแก้ไข แต่ในวารสารอิมมูนิตีกลับไม่มีการแก้ไข

ด้านคาลเทคระบุว่า ในปี 2550 เดวิด บอลติมอร์ (David Baltimore) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยหลังปริญญาเอกให้กับฟาน ปาริจส์ ได้รับเชิญให้มาตรวจสอบรายงานผลการวิจัย 2 ฉบับของฟาน ปาริจส์ ที่นำเสนอสู่วารสารอิมมูนิตี แต่สุดท้ายรายงานทั้ง 2 ฉบับก็ไม่ได้ตีพิมพ์ ซึ่งบรรณาธิการจัดการของวารสารฉบับดังกล่าว ก็ไม่ให้ความเห็นใดๆ ต่อสถานะของรายงานเหล่านั้น

ขณะเดียวกันก็มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อย ที่นำผลงานวิจัยของฟาน ปาริจส์ไปอ้างอิง ซึ่งบางคนก็ไม่รู้ว่าเป็นข้อมูลที่หลอกลวง ดังเช่น จอห์น โครลิวสกี (John Krolewsk) นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่นำไปอ้างอิงเกี่ยวกับเรื่องมะเร็งต่อมลูกหมากเมื่อไม่นานมานี้

อย่างไรก็ดี การปลอมแปลงงานวิจัย รวมทั้งการสร้างข้อมูลเท็จในเอกสารขอรับทุนวิจัย ถือเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2548 เอริค โพห์ลแมน (Eric Poehlman) นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเวอร์มอนต์ (University of Vermont) ในสหรัฐฯ ก็ถูกพิพากษาให้จำคุก 1 ปี จากการกระทำผิดฐานฉ้อโกง

จากกรณีนี้ ผอ.โออาร์ไอระบุว่า ฟาน ปาริจส์อาจไม่ได้รับโทษมากขนาดโพห์ลแมน เพราะปาริจส์ยังนับเป็นศาตราจารย์ชั้นผู้น้อย (junior professor) อาจรอดพ้นจากการดำเนินคดีไปได้ เพราะเขาเพิ่งจะขอเพิ่มทุนสำหรับห้องแล็บของตัวเอง

ทว่า ผอ.จากฝ่ายตรวจสอบการกระทำผิดด้านงานวิจัยก็ตั้งข้อสังเกตว่า ทุนที่ฟาน ปาริจส์ขอไปก็เพิ่งได้รับเมื่อไม่นานมานี้ และเงินก้อนใหญ่ที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายไปอยู่ที่ไหน? ส่วนทุนอื่นๆ รวมทั้งทุนที่ให้แก่งานที่ปลอมข้อมูลก็ลงนามโดยเหล่าผู้ร่วมงานอาวุโส ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะทำให้อัยการมุ่งประเด็นไปที่ผลประโยชน์จากเงินก้อนโตในการขอทุนที่แม้จะมีการกระทำผิด ก็ยังมีการลงนาม โดยคณะกรรมการร่วมลงนามก็มีความผิดร่วมด้วย

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีการปลอมแปลงข้อมูลลงในงานวิจัย จนได้รับการตีพิมพ์ไปทั่วโลกโดยทีมงานของ ดร.ฮวาง อูโซก (Hwang Woo-suk) นักวิจัยด้านสเต็มเซลล์ ชาวเกาหลีใต้กลายเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลก และหลังจากวารสารต่างๆ ได้ถอนรายงานของเขา เขาก็ถูกดำเนินคดีฐานฉ้อโกงเงินทุนของรัฐบาลเช่นกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น