การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน แต่ทำไมบางคนถึงไม่สนใจอยากจะมีส่วนร่วม แม้แต่ใช้สิทธิที่ตัวเองมีก็ไม่สน ขณะที่บางคนกระตือรือล้น ขอมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ทุกครั้งที่มีโอกาส ทีมวิจัยสหรัฐฯ หาคำตอบพบว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ "ยีน" ที่ช่วยส่งเสริมการแสดงออกแนวนี้ และที่สำคัญลักษณะเหล่านี้ยังส่งต่อถึงลูกหลานได้อีกด้วย
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานผลการศึกษาของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองซานดิเอโก (University of California in San Diego) สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทั้งนักรัฐศาสตร์และนักจิตวิทยา ได้ศึกษาถึงพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มบุคคล
ทีมวิจัยพบว่า เป็นผลที่ส่งมาจากพันธุกรรมของแต่ละคน ครอบคลุมตั้งแต่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การชุมนุมทางการเมือง และพฤติกรรมทางการเมืองรูปแบบต่างๆ ซึ่งได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ (Amercan Political Science Review)
เจมส์ เอช โฟว์เลอร์ (James H. Fowler) หนึ่งในผู้ศึกษาเรื่องดังกล่าว เปิดเผยว่า พวกเขาคาดหวังว่า จะพบยีนที่มีบทบาทในพฤติกรรมทางการเมือง แต่พวกเขาไม่คาดคิดว่า ขนาดของผลที่เกิดขึ้นจะมากมายถึงเพียงนี้ ซึ่งสามารถปรับให้เข้าได้กับทุกรูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง
"แม้ว่าพวกเราจะไม่ได้เป็นกลุ่มแรก ที่ออกมาบอกว่ายีนมีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่การศึกษานี้เป็นความพยายามครั้งแรก ที่จะทดสอบแนวคิดดังกล่าวจากทดลองจริง" โฟว์เลอร์กล่าว
อีกทั้งไซน์เดลี ยังรายงานต่อว่า ผลการทดลองบ่งชี้ว่า ความแตกต่างทางพันธุกรรมของแต่ละบุคคล เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างในการมีส่วนร่วมทางการเมือง แม้จะได้รับการขัดเกลาทางสังคม (socialization) และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ แล้วก็ตาม ที่สำคัญลักษณะนี้ยังถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้
ยิ่งกว่านั้น ความแตกต่างของฐานพันธุกรรม ยังขยายออกไปเป็นวงกว้าง สู่พฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ทั้งการบริจาคเพื่อการรณรงค์หาเสียงในการเลืกตั้ง การประสานงานของเจ้าหน้าที่ การวิ่งเต้นเพื่อตำแหน่งหน้าที่หรือหน่วยงาน และเข้าร่วมการชุมนุมหรือปลุกระดมทางการเมือง
ทีมนักวิจัยได้ศึกษา จากข้อมูลการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในเมืองลอสแองเจลิส และที่ได้จากเนชันนัล ลองจิจูดินัล สตัดดี ออฟ อะโดเลสเซนต์ เฮลธ์ (National Longitudinal Study of Adolescent Health) ซึ่งศึกษาเรื่องสุขภาพของวัยรุ่นในสหรัฐฯ โดยศึกษาจากผลการลงคะแนนเสียงของแฝดแท้และแฝดเทียมทั้งสิ้น 1,200 คู่ โดยเฮลธ์เดย์นิวส์รายงานผลการวิเคราะห์ว่า 53% ของความแตกต่างในการลงคะแนนเสียง เป็นผลมาจากความแตกต่างทางพันธุกรรม
นักวิจัยระบุด้วยว่า ในความเป็นจริงแล้วการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวมีผลต่อการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งของลูกหลานเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ซึ่งความแตกต่างอีก 47% ที่เหลือ เกือบทั้งหมดนี้ เนื่องมาจากที่คู่เหล่านั้น อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน
นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ศึกษาจากข้อมูลพันธุกรรมด้วย พบว่า 72% ของความแตกต่าง ในการลงคะแนนของแฝดนั้น เป็นผลมาจากยีนที่แตกต่างกัน
นักวิจัยยังได้ค้นหาต่อไปอีกว่า ยีนจำเพาะใดที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจลงคะแนน ซึ่งพวกเขาก็พบว่า มียีนอยู่ 2 ตัว ที่เกี่ยวข้องกับการลงคะแนน คือ ยีนเอ็มเอโอเอ (MAOA) และ 5เอชทีที (5HTT) และยังเป็นยีน ที่มีอิทธิพลต่อระบบการหลั่งสารเซอโรโทนิน (serotonin) ในสมองด้วย ซึ่งสารนี้เป็นตัวช่วยกำหนดความไว้วางใจ และปฏิสัมพันธ์ในสังคม
"การศึกษาเรื่องการเมือง โดยปราศจากการศึกษาเรื่องพันธุกรรม จะทำให้ผิดพลาดถึงครึ่งหนึ่ง หากเราจะทำความเข้าใจให้ได้อย่างถ่องแท้ว่า ผู้คนเขาทำอะไร และทำไมเขาจึงต้องทำสิ่งนั้น จึงจำเป็นต้องผสมผสานทั้งเรื่องของธรรมชาติ และการเลี้ยงดูเข้าด้วยกันในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเมือง" โฟว์เลอร์กล่าว.