สวทช.-บีโอไอ-ทีเซลส์ ยกความเป็นไทยโชว์จุดแข็งงานวิจัยและการบริการด้านการแพทย์ ย้ำภาพลักษณ์ “ศูนย์กลางการแพทย์โลก” ในไบโอ 2008 งานนิทรรศการการประชุมธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดต้อนรับนักลงทุนด้านชีวภาพจากทุกมุมโลก
องค์การอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology Industry Organization : BIO) ซึ่งนับว่าเป็นองค์กรด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้จัดงานการประชุมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (BIO International Biotechnology Convention) ประจำปี 2008 ขึ้น (BIO 2008) ระหว่างวันที่ 17-20 มิ.ย.51 ณ เมืองซานดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีหน่วยงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมจัดแสดงนิทรรศการและงานประชุมกว่า 2,200 แห่งจาก 70 ประเทศทั่วโลก และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 20,000 คน
อีกทั้งประเทศไทย ก็ได้เข้าร่วมแสดงนิทรรศการในงานดังกล่าว โดยความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS-ทีเซลส์) เปิด “ศาลาไทย” (Thai Pavilion) เพื่อนำเสนอศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการแพทย์โลก (Thailand Medical Hub of The World)
ทั้งนี้ งานไบโอ 2008 มีพิธีตัดริบบิ้นเปิดงานอย่างเป็นทางการ เมื่อเวลา 15.00 น.ของ วันที่ 17 มิ.ย.51 ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับเวลา 05.00 น. ของวันที่ 18 มิ.ย. ตามเวลาประเทศไทย ณ ศูนย์การประชุมซานดิเอโก (San Diego Convention Center) จากนั้นบูธแสดงนิทรรศการกว่า 2,200 แห่งบนพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ 220,000 ตารางฟุต ก็ทยอยเปิดงาน รวมทั้ง “ไทยพาวิเลียน” ของประเทศไทย
ในส่วนของไทยพาวิเลียนนั้น พิธีตัดริบบิ้นโดย นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.), ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช., ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว รองปลัด วท., ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ประธานกรรมการทีเซลส์ และนายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการบีโอไอ
สำหรับไทยพาวิลเลียน ที่จัดแสดงในงานไบโอ 2008 นั้น ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สำรวจการนำเสนอภาพลักษณ์ของไทย โดยต้องการสื่อว่าประเทศไทย ที่มีจุดแข็งด้านการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ซึ่งหวังจะให้ผู้เข้าชมงาน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการจากภาคธุรกิจ เห็นว่าไทยมีความพร้อมเป็นศูนย์กลางการรักษาของภูมิภาคเอเชียและระดับโลก
ภายในไทยพาวิลเลียน มีการจัดแสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะเป็นศูนย์การแพทย์ของโลก โดยชี้ให้เห็นทั้งเรื่องทำเล ที่ตั้งอยู่ใจกลางทวีปเอเชีย และสามารถเชื่อมต่อไปสู่ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ๆ ได้โดยง่าย อาทิ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีบุคลากรที่มีคุณภาพทั้งในด้านการรักษา และการบริการ
ส่วนความพร้อมด้านงานวิจัยและการพัฒนาอุตสาหกรรม ไทยก็ยังได้นำเสนอ โดยชูโครงสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย จ.ปทุมธานี ที่มีฐานข้อมูลวิจัยและเครื่องมือทดลองชั้นนำ โดยระบุว่ามีพร้อมให้เช่าพื้นที่ในราคา 6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตารางเมตร พร้อมทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 50 แห่ง
นอกจากนี้ ไทยยังชูประเด็นส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพอย่างเต็มที่ โดยยกเว้นภาษีเงินได้ส่วนบุคคลสูงสุดถึง 8 ปี และการลดภาษีการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัตถุดิบ อีกทั้งยังสามารถนำค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาไปลดหย่อนภาษีได้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าไทยกำลังเสนอตัวเป็นศูนย์กลางการแพทย์โลก แต่ปัจจุบันไทยก็เป็นเสมือนศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ไปแล้ว โดยข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่าในปี 2550 ที่ผ่านมา เฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนมีชาวต่างชาติเข้ารับการรักษาถึง 1.6 ล้านคน
ภายในงานนิทรรศการโดยรวม แม้จะเน้นไปที่การเจรจาธุรกิจ แต่ไทยก็นำตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวกับการแพทย์มาโชว์ในงานด้วย อาทิ ชุดทดสอบพาหะโรคอัลฟ่าธาลัสซีเมีย ที่นักวิจัยไทยผลิตได้เป็นครั้งแรกของโล และ ชุดตรวจนับเม็ดเลือดขาวในผู้ป่วยเอดส์ โดยสามารถตรวจปริมาณ CD4 ได้ง่ายขึ้น รู้ผลภายใน 1 ชั่วโมง
สำหรับงานไบโอจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยองค์การอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจะหมุนเวียนไปตามเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้เข้าร่วมแสดงนิทรรศการเป็นปีที่ 3 แล้ว
ภายในงานยังมีการประชุมวิชาการในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ อีกราว 180 ประเด็น โดยส่วนใหญ่เน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลในเชิงธุรกิจ และที่สำคัญงานนี้ยังมีการกล่าวสุนทรพจน์ระหว่างอาหารกลางวัน (luncheon) โดยบุคคลสำคัญแห่งวงการเทคโนโลยีชีวภาพโลก อย่าง เครก เวนเทอร์ (Craig Venter) ผู้ถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ได้สมบูรณ์เป็นทีมแรก พร้อมทั้งยังมีผลงานดีเอ็นเอสังเคราะห์เมื่อไม่นานมานี้ อีกทั้งยังมีนักการเมืองคนสำคัญ อาทิ เจบ บุช อดีตผู้ว่าการรัฐฟลอริดา, อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ในฐานะเจ้าบ้าน และ โคลิน พาวเวิลล์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐฯ มาร่วมด้วย.