หลังจากขนผลงานไปเปิดบูธ "ศาลาไทย" ในงานไบโอ 2008 ที่สหรัฐฯ โชว์ความพร้อม "ศูนย์การแพทย์โลก" ผู้บริหารไทยสรุปภาพรวมมีหลายประเทศให้ความสนใจ ระบุเป็นการเปิดให้ต่างชาติได้รู้จักว่าไทยก็มีงานวิจัยด้านไบโอเทคและสามารถมาร่วมลงทุนได้ ส่วนสถานการณ์การเมืองไม่มีใครพูดถึง เชื่ออาจเห็นเป็นเรื่องปกติของประเทศประชาธิปไตย
หลังจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS-ทีเซลส์) ได้ร่วมจัดนิทรรศการภายในงานประชุมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (BIO International Biotechnology Convention) ประจำปี 2008 หรือไบโอ 2008 (BIO 2008) ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology Industry Organization : BIO) ระหว่างวันที่ 17-20 มิ.ย.51 ณ เมืองซานดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมเดินทางไปไปเยี่ยมชมงานนี้ด้วย
ทั้งนี้หน่วยงานทั้งสามของไทยได้ร่วมเปิด “ศาลาไทย” (Thai Pavilion) เพื่อนำเสนอศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการแพทย์โลก (Thailand Medical Hub of The World) ท่ามกลางนิทรรศการของหน่วยงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมจัดแสดงนิทรรศการและงานประชุมกว่า 2,200 แห่งจาก 70 ประเทศทั่วโลก และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 20,000 คน ซึ่งหลังจากการจัดงานผ่านพ้นไปแล้วผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สอบถามผู้บริหารในหน่วยงานที่เดินทางไปร่วมนิทรรศการนี้ถึงบทสรุปจากการจัดงานของไทย
"การเดินทางไปครั้งนี้ทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักเรา(ไทย)ได้รู้จัก และคนที่รู้จักอยู่แล้วได้รู้จักมากขึ้น ให้เขาได้รู้ว่าไทยก็มีงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพอยู่เหมือนกันซึ่งถ้าสนใจก็สามารถมาลงทุนในประเทศไทยได้ เราไม่ได้ไปบอกว่าเราเก่งกว่าจีนหรืออินเดีย เรามีจุดแข็งที่มีนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถสูงแต่จำนวนนักวิทยาศาสตร์ที่น้อยอยู่ก็เป็นจุดอ่อนของเรา" รศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติและรองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ซึ่งไปร่วมนิทรรศการที่สหรัฐฯ ด้วยกล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ระหว่างการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
รองผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์อีกว่าไม่ได้อยู่ประจำบูธตลอดเวลาเนื่องจากต้องติดตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เดินทางไปร่วมงานนิทรรศทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพด้วย แต่ก็พอจะสรุปภาพรวมคร่าวๆ ว่า การจัดงานปีนี้มีคนแวะเวียนมาถามข้อมูลพอสมควร โดยงานจัดขึ้นที่สหรัฐฯ คนที่เข้ามาเยี่ยมชมบูธส่วนใหญ่ก็เป็นสหรัฐฯ ซึ่งส่วนตัวไม่ได้เจอผู้เยี่ยมบูธจากชาติอื่นๆ
"คนที่เข้ามาสอบถามข้อมูลก็มีอยู่หลายระดับ ตั้งแต่คนที่ไม่รู้จักประเทศไทยเลยไปจนถึงคนที่ตั้งใจจะลงทุนในไทยอยู่แล้ว มีอยู่รายหนึ่งจากสหรัฐฯ ที่สนใจจะมาทำธุรกิจทางด้านสเต็มเซลล์ที่ไทยอยู่แล้วก็มาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม บางรายอยากซื้อแล็บ (ห้องปฏิบัติการ) ที่มีคนทำงานให้พร้อมแล้วสามารถดำเนินธุรกิจได้เลยแต่เรายังไม่มีมากขนาดนั้น ถ้าเป็นจีนหรืออินเดียเขาสามารถหานักวิจัย 50-100 คนให้นักลงทุนได้ภายใน 1 เดือน ซึ่งเขาสูบคนออกจากระบบราชการได้สบายๆ แล้วสร้างขึ้นใหม่ได้ แต่ของไทยจะหาได้หรือเปล่าภายใน 1 ปี แค่ในระบบราชการยังไม่พออยู่แล้วจะสูบไปให้เอกชนก็ลำบาก" นพ.ประสิทธิ์กล่าว
ส่วนสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยมีผลต่อความสนใจร่วมลงทุนทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพในไทยหรือไม่ นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ไม่มีใครพูดถึงเรื่อการเมืองเท่าไหร่ และคนที่เข้างานส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักไทยเท่าไหร่ รู้แค่ว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่าต่างชาติมองคนที่ประท้วงอยู่ข้างถนนเป็นเรื่องปกติ อีกอย่างต่างชาติก็สนใจมาลงทุนทำธุรกิจขนาดไม่ใหญ่มากและใช้การลงทุนระยะยาวเป็นเวลาหลายปี สถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนแปลงในช่วง 2-3 เดือน รวมถึงตลาดหุ้นที่ขึ้น-ลงไม่มีน่าจะมีผลกระทบ
ทางด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งเดินทางไปร่วมงานไบโอ 2008 เช่นกันสรุปภาพรวมของงานที่ไทยไปจัดนิทรรศการให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ในงานนิทรรศการนี้จะเน้นทางด้านการแพทย์และสุขภาพเป็นหลัก ไทยจึงนำเสนอการเป็นศูนยืกลางการให้บริการทางด้านการแพทย์ เนื่องจากไทยมีฐานการให้บริการด้านการแพทย์ที่ดีและมีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเข้ามาเยอะ
"ในการเปิดบูธมีคนเข้ามาติดต่อก็ได้อธิบายไปว่าไทยมีบีโอไอ อุทยานวิทยาศาสตร์ (ที่ตั้งของ สวทช.) และทีเซลล์ซึ่งจะช่วยในการรลดต้นทุนการวิจัยของผู้ลงทุนได้ หากบริษัทที่จะลงทุนต้องการกำลังคนก็สามารถจัดเตรียมให้ได้ โดยเราอาจจะฝึกเองหรือเขาส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาฝึกหรือเขาส่งคนของเราไปฝึกแล้วกลับมาทำงานกับเขา ซึ่งก็แล้วแต่และถือเป็นการพัฒนาคนของเราด้วย การไปร่วมครั้งนี้ก็เพื่อแนะนำตัวเองให้โลกรู้ว่าไทยทำอะไรบ้างเกี่ยวกับไบโอเทค เป็นแค่การแนะนำตัวเองให้ได้รู้จักกัน" ดร.ศักรินทร์กล่าว
สำหรับบริษัทที่ให้ความสนใจก็มีด้วยกันหลากหลายซึ่ง ดร.ศักรินทร์เผยว่าส่วนใหญ่เป็นบริษัทยาและบริษัททางด้านชีวสารสนเทศศาสตร์ (Bioinformatics) ที่เข้ามาคุยในบูธไทย และเป็นบริษัทของสหรัฐฯ โดยมากแต่ก็ประเทศอื่นๆ ด้วย อาทิ ดูไบ ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งทั้งหมดก็เป็นการพูดคุยทำความรู้จักกันยังไม่ถึงขั้นที่จะมีการร่วมลงทุนใดๆ พร้อมกันนี้ยังได้เปิดโอกาสให้เอกชนไทยกว่า 10 รายร่วมเดินทางไปด้วย ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากเอกชนไทยว่าดีและอยากให้จัดเช่นนี้ต่อไป
ส่วนเรื่องการเมืองนั้นผู้อำนวยการ สวทช.ระบุว่าไม่ได้ยินว่ามีการพูดถึง แต่ก็มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐหรือซีแอล (Compulsory Licenses: CL) ยานั้น ซึ่งก็ได้อธิบายไปว่าเป็นการทำไปตามความจำป็นเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เข้าถึงยายากได้มีโอกาสเข้าถึงยาเท่านั้น