เดี๋ยวนี้อะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปเสียหมด แม้แต่ชื่อเรียกสิ่งมีชีวิตตามหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ยังกลายเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันได้ ใครให้ราคาดีก็มีสิทธิ์ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ ยิ่งหายากหรือเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นสูง ยิ่งแพง หนทางการหาเงินทุนแบบใหม่ของสถาบันวิจัยต่างๆ ล่าสุดหนุ่มสหรัฐฯ ก็ยอมจ่ายเงินให้นามสกุลของตัวเองเป็นชื่อวิทยาศาสตร์แทนการที่ไม่มีทายาทสืบสกุล
เจฟ กูดฮาร์ตซ์ (Jeff Goodhartz) ครูหนุ่มใหญ่วัย 55 ปี จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองซานดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ไม่ยอมให้นามสกุลตัวเองสูญหายเพราะไร้ทายาทสืบสกุล ด้วยการควักกระเป๋าจ่ายเงิน 5,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 167,000 บาท) เพื่อนำชื่อสกุลของตัวเอง ไปตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของเพรียงขนนก (featherworm) ชนิดที่พบใหม่
ทีมนักวิจัยของสถาบันสมุทรศาสตร์สคริปส์ (Scripps Institution of Oceanography) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่ซานดิเอโก (UC San Diego) สหรัฐฯ พบเพรียงขนนกชนิดดังกล่าว ใกล้กับชายฝั่งของประเทศเบลีซ (Belize) ในอเมริกากลาง ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน และได้ตรวจสอบจนแน่ใจแล้วว่าเป็นชนิดใหม่ และสกุลใหม่ด้วย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สถาบันดังกล่าวได้ประกาศ ให้มีโครงการการตั้งชื่อสปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตที่พบใหม่ ด้วยการขายให้กับบุคคลที่สนใจ ดังเช่นนายกูดฮาร์ตส์ ซึ่งวิธีนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่จะรวบรวมเงินทุนสำหรับงานวิจัยได้ และก็มีหลายหน่วยงานที่กำลังทำเช่นเดียวกัน
เมื่อกูดฮาร์ตส์จ่ายเงินเพื่อให้นามสกุลกลายเป็นชื่อหนอนทะเล ในที่สุดสถาบันสมุทรศาสตร์สคริปส์ก็ตั้งชื่อสปีชีส์เพรียงขนนกชนิดใหม่นั้นว่า กูดฮาร์ตโซรัม (goodhartzorum) แต่ชื่อสกุลนั้น ทางทีมงานที่ค้นพบยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะให้ชื่อว่าอะไร
ทั้งนี้ นอกจากนายกูดฮาร์ตซ์แล้ว สถาบันสมุทรศาสตร์สคริปส์ ยังได้ขายชื่อวิทยาศาสตร์ของสัตว์ที่พบใหม่อื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น เพรียงขนนกออสเตรเลียในราคา 5,000 เหรียญสหรัฐฯ ให้กับหญิงผู้หนึ่งที่ต้องการนำชื่อของสามีมาตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ เพื่อมอบเป็นของขวัญครบรอบวันสำคัญของเขา
รวมถึงผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของโลกอย่างบริษัทโนเกีย (Nokia Corp.) ก็ให้ราคา 10,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 330,000 บาท) สำหรับชื่อวิทยาศาสตร์ของหนอนทะเลชนิดหนึ่ง ซึ่งโฆษกของโนเกียเปิดเผยว่า ทางบริษัทจะตั้งชื่อให้เป็นภาษาลาตินที่มีความหมายเดียวกับสโกแกนของบริษัท (Connecting People)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิธีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ โดยการให้บุคคลภายนอกแข่งขันกันประมูลราคาหรือชื้อขายชื่อ กำลังได้รับความนิยม ทั้งจากหน่วยงานวิจัยและบุคคลทั่วไป ที่อยากจะให้ชื่อหรือสกุลของตัวเอง ปรากฏอยู่ในสารบบชื่อวิทยาศาสตร์ แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มโต้แย้งว่า วิธีการนี้อาจเป็นชนวนเหตุให้เกิดการค้นพบลวงโลกได้ และนำไปสู่ความผิดพลาดที่เกิดจากการดูแลไม่ทั่วถึง
"อาจเป็นไปได้ ที่ใครบางคนจะสร้างเรื่องการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ขึ้นมา เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ และเงินทองจากสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น" ความเห็นของแอนดรูว์ โพลาสเซก (Andrew Polaszek) นักกีฏวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กรุงลอนดอน (Natural History Museum in London) ประเทศอังกฤษ
ส่วนตัวของกูดฮาร์ตซ์นั้น เป็นเพียงครูวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชานเมืองซานดิเอโก ที่ไม่เคยท่องสำรวจดินแดนใดๆ เพื่อหาสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ และเขาก็พอจะรู้อยู่บ้างแล้วว่า การจ่ายเงินเพื่อให้ได้ชื่อแบบนี้ย่อมมีผู้คัดค้าน แต่กูดฮาร์ตซ์ก็กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า จะเป็นอะไรไปเล่า ถ้าการจ่ายเงินครั้งนี้ก็เพื่อช่วยสคริปส์อันเป็นหน่วยงานวิจัย
ทั้งนี้ การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์หรืออนุกรมวิธานนี้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ริเริ่มโดยคาร์ล ลินเนียส (Carl Linnaeus) นักพฤษศาสตร์ชาวสวีเดน ที่ภายหลังได้รับยกย่องให้เป็นบิดาแห่งอนุกรมวิธาน
ตามหลักแล้ว ผู้ค้นพบจะเป็นผู้ที่ให้ชื่อวิทยาศาสตร์ แก่สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ชนิดนั้นๆ ซึ่งจะมีอยู่สองส่วนด้วยกันคือ ชื่อสกุล (genus) ตามด้วยชื่อชนิดหรือสปีชีส์ (species) โดยปกติจะให้ชื่อเป็นภาษาลาติน
ชื่อสกุลนั้น จะต้องนำไปเปรียบเทียบกับสกุลที่มีการจัดลำดับอยู่เดิม แต่ถ้าไม่เข้าพวกใดๆ ก็สามารถพิจารณาเป็นสกุลใหม่ และสามารถตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ แต่ให้มีความสอดคล้องกับลำดับวงศ์ที่เกี่ยวข้อง
ส่วนชื่อสปีชีส์นั้น โดยปกติผู้ค้นพบจะให้เป็นชื่อของกลุ่มผู้ค้นพบ หรืออาจตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ผู้ทำคุณประโยชน์ และผู้มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ
ทว่าไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ การตั้งชื่อสปีชีส์ไม่เป็นไปตามหลักการที่ปฏิบัติกันมายาวนาน แต่จะถูกนำไปใช้ในการประมูลหรือขายให้กับบุคคลต่างๆ ที่ยินดีจะสนับสนุนเงินทุนวิจัย และไม่ใช่ว่าชื่อของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะมีราคาค่างวดเท่ากันหมดทุกสปีชีส์ สปีชีส์ไหนยิ่งหายากหรือมีความซับซ้อนทางวิวัฒนาการมากกว่า ก็จะยิ่งมีราคาสูง