xs
xsm
sm
md
lg

สังคมไทยได้อะไรจากนิวเคลียร์? ไปเคลียร์ในงานประชุม 2-3 ก.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแถลงข่าวจัดงานประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ (ซ้ายไปขวา) ผศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดร.สมพร จองคำ และดร.สิรินาฎ เลาหะโรจนพันธ์
สทน.จัดงานประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ครั้งที่ 11 พร้อมเชิญนักนิวเคลียร์อาวุโสจากญี่ปุ่นมาบรรยายพิเศษ และนำเสนอผลงานวิจัยด้านนิวเคลียร์กว่า 70 ผลงาน และร่วมหาคำตอบสังคมไทยได้อะไรจากนิวเคลียร์ภายในงาน

สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. แถลงข่าวการจัดงานประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ครั้งที่ 11 ในหัวข้อ "เทคโนโลยีนิวเคลียร์สู่สังคมไทย" เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.52 ณ ห้องโถงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยงานประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 ก.ค.52 ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ เขตจตุจักร

ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ กล่าวว่าสังคมได้ใช้ประโยชน์จากนิวเคลียร์มาแล้ว 40-50 ปี โดยการฉายรังสีเอกซ์ตามโรงพยาบาลต่างๆ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้ประโยชน์นิวเคลียร์ โดยทั่วประเทศมีเครื่องฉายรงัสีประมาณ 10,000 เครื่อง นอกจากนี้การตรวจโรคมะเร็งตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาทิ สมอง ต่อมไทรอยด์และทรวงอก ยังต้องอาศัยเภสัชรังสี และในการรักษามะเร็งยังต้องใช้รังสีแกมมาจากโคบอลต์-60 (Co-60)

สำหรับการประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์นั้นจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยปีนี้ได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีและทรงบรรยายพิเศษในหัวข้อเกี่ยวกับนิวเคลียร์ ทั้งนี้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เป็นสถาบันที่เน้นทางด้านการรักษามะเร็ง และมีความร่วมมือด้านงานวิจัยนิวเคลียร์กับ สทน.อยู่หลายครั้ง

ส่วนกิจกรรมภายในการประชุมทั้ง 2 วันนั้น ดร.สิรินาฎ เลาหะโรจนพันธ์ ประธานคณะกรรมการการจัดงานประชุม จาก สทน.แจงว่าภายในงานยังมีการบรรยายพิเศษจาก ดร.ซูโอะ มาชิ (Dr.Sueo Machi) นักนิวเคลียร์ชาวญี่ปุ่นวัยกว่า 70 ปี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีรังสีและนำมาสร้างโปรดักส์โพลีเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่า 25 ปี นอกจากนี้ยังมีการบรรายเรื่องการเปลี่ยนสีพลอยด้วยนิวเคลียร์ การเรียนการสอนนิวเคลียร์ในไทย การจัดการของเสียในภาคอุตสาหกรรมด้วยลำอิเล็กตรอน และการเสวนาเรื่อง "สังคมไทยจะได้อะไรจากเทคโนโลยีนิวเคลียร์"

พร้อมกันนี้ภายในงานแถลงข่าว ยังได้ประกาศผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดาวรุ่ง โดยผู้ได้รับตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดีเด่น ได้แก่ รศ.ดร.อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์ อาจารย์ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป คณะวิทยาศาตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่เนื่องจากติดภารกิจจึงไม่สามารถมาร่วมงานแถลงข่าวได้ และผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดาวรุ่ง ได้แก่ ผศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเดินทางมาร่วมในงานแถลงข่าวด้วย

ดร.สิรินาฎกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ทั้งสองตำแหน่งมอบขึ้นในปีนี้เป็นปีแรก โดยเน้นให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ ดังนั้นในส่วนของผู้ได้รับตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดีเด่นจึงได้รับเพียง "กล่อง" หรือตำแหน่ง ส่วนนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ดาวรุ่งนอกจากได้รับตำแหน่งแล้ว ยังได้รับกำลังใจเป็นเงินทุน 50,000 บาท ซึ่งจะมีพิธีมอบรางวัลภายในงานประชุมที่จะถึงนี้.

กำลังโหลดความคิดเห็น