xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2050 นี้ปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุด กรีนพีซเรียกร้องทุกชาติร่วมมืออย่างเป็นธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธารา บัวคำศรี
กรีนพีซเผยจุดยืน อยากเห็นความเป็นธรรมในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน เรียกร้องทุกประเทศร่วมกันลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหายนะรุนแรง ย้ำกลางศตวรรษต้องลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือน้อยที่สุด หวังประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำ และให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาอย่างเต็มที่ ส่วนประเทศอุตสาหกรรมต้องลดให้ได้อย่างน้อย 40% ภายในปี 63 พร้อมเสนอแนะทุกคนต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ก่อนที่จะมีการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในปลายปีนี้ กรีนพีซได้จัดการบรรยายสรุป "วิสัยทัศน์ของกรีนพีซ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ที่โรงแรมบางกอกเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และหวังจะให้เกิดกลไกการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นหลังจากที่พิธีสารเกียวโตจะหมดอายุในปี 2555

นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า ก่อนการประชุมครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเดือน ธ.ค. นี้ที่ประเทศเดนมาร์ก ได้มีการประชุมเจรจาครั้งสำคัญเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี เมื่อช่วงต้อนเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งก็ยังไม่ค่อยเห็นความหวังใดๆ เพราะประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศตัวเองเป็นหลัก หากต้องมีการสูญเสียผลประโยชน์ ก็มักจะไม่ค่อยอยากให้ความร่วมมือ ซึ่งท้ายที่สุดก็ต้องมีอนุสัญญาใหม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่อาจไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ส่วนการประชุมเจรจาครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือน ก.ย. นี้ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการประชุมครั้งใหญ่เกิดขึ้นที่โคเปนเฮเกน โดยในการประชุมที่กรุงเทพฯ นั้นจะเป็นที่น่าจับตามอง เพราะเป็นการจัดประชุมขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาเพียงแห่งเดียว และอาจมีการรวมกลุ่มกันของเครือข่ายรณรงค์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเพื่อกดดันให้ประเทศอุตสาหกรรมต้องดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที

อย่างไรก็ตาม นายธารา เผยว่าจากการประชุมที่บอนน์นั้น กรีนพีซได้ร่วมกับกลุ่มองค์กรที่เป็นพันธมิตร เช่น ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ (WWF) อินดี้แอคต์ (IndyACT) และเครือข่ายอื่นๆ ทำการร่างอนุสัญญาโคเปนเฮเกน เพื่อเป็นแนวทางให้กับนานาประเทศในการประชุมเจรจาที่กรุงโคเปนเฮเกนในปลายปีนี้ ที่จะต้องกำหนดข้อตกลงใหม่สำหรับนำมาใช้ต่อจากพิธีสารเกียวโตที่กำลังจะหมดอายุลง

กรีนพีซหวังให้ข้อตกลงที่จะเกิดขึ้น เป็นข้อตกลงระดับโลกที่มีแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และมีความเท่าเทียมกันทั้งระดับภายในและระหว่างประเทศ โดยประเทศอุตสาหกรรมต้องเป็นผู้นำและให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนา

"ภายในปี 2563 ประเทศที่พัฒนาแล้ว ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยในปี 2533 ซึ่งเป็นปีฐาน ส่วนประเทศกำลังพัฒนา ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 15-30 และต้องมีกลไกการสนับสนุนเงินทุน เพื่อหยุดการทำลายป่าอย่างสิ้นเชิงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด" นายธารากล่าว

"ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพและชุมชนที่มีส่วนในการรักษาป่า เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นพิวโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะก่อให้เกิดหายนะอย่างใหญ่หลวง และขณะได้นี้เพิ่มขึ้นแล้ว 0.8 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม" นายธารากล่าวถึงประเด็นสำคัญของร่างอนุสัญญาโคเปนเฮเกนที่ทางกรีนพีซและเครือข่ายพันธมิตรร่วมกันร่างขึ้น

ทั้งนี้ นายธาราได้ให้ข้อมูลต่อไปว่า หากเรายังไม่เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นมากไปกว่านี้ อาจจะเกิดการป้อนกลับเชิงบวก ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกังวลเป็นมาก นั่นคือหากอุณหภูมิของพื้นผิวโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้มหาสมุทรดูดซับคาร์บอนได้น้อยลง และยังจะเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศด้วย ยิ่งมีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้นไปอีก

"หากชั้นดินเยือกแข็งบริเวณไซบีเรียละลายเพิ่มมากขึ้น ก๊าซมีเทนที่เคยถูกกักเก็บอยู่ใต้นั้นก็จะถูกปลดปล่อยออกมา
รวมถึงป่าเขตร้อนที่จะเปลี่ยนสถานภาพจากแหล่งกักเก็บคาร์บอนเป็นแหล่งปลดปล่อยคาร์บอน เนื่องจากมีการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มมากขึ้น" นายธารากล่าว

"กรีนพีซต้องการให้ข้อตกลงใหม่ มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศอุตสาหกรรมต้องให้ความช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับประชาชนผู้ยากจนภายในประเทศของตัวเองด้วย ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาก็ต้องมีมาตรการแข็งขันที่ทำให้ผู้ที่มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องลดปริมาณการปล่อยยก๊าซเรือนกระจกของตนเองลงเช่นเดียวกับกลุ่มผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศพัฒนาแล้ว" นายธารากล่าวถึงจุดยืนของกรีนพีซที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค

นอกจากนี้ นายธารายังบอกอีกว่าจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เราจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษนี้ เพื่อไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นมากไปกว่านี้

การที่จะลดได้นั้น นายธาราชี้ว่า ต้องทำให้ได้อย่างมีศักยภาพในทุกภาคส่วน ทั้งการพัฒนาพลังงานสะอาดทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ยุติการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกอย่างสุทธิ ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนหรือเกษตรอินทรีย์ ลดการเกิดของเสียและจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ตรึงคาร์บอนลงสู่พื้นดินโดยฟื้นฟูป่าและฟื้นฟูดินที่เสื่อมคุณภาพ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำรงชีวิตและการบริโภคของมนุษย์

"เราสามารถปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิต เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เช่น บริโภคอาหารที่เป็นมิตรต่องสภาพภูมิอากาศ ลดการเดินทางและการคมนาคมโดยไม่จำเป็น ลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อีกทางหนึ่ง โดยผู้ผลิตสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยการออกแบบและผลิตอุปกรณ์เหล่านั้นให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซกล่าว
นายธารา บัวคำศรี ขณะกล่าวแสดงจุดยืนและวิสัยทัศน์ของกรีนพีซ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีนาฬิกานับถอยหลังสู่การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในเดือน ธ.ค. 52
กำลังโหลดความคิดเห็น