xs
xsm
sm
md
lg

วิเคราะห์กบฏ “ทักษิโณมิกส์” ด้วย ทฤษฎี Chaos (2)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

อะไรคือ ทฤษฎี Chaos

มีครั้งหนึ่ง ผมต้องเดินทางไปภาคใต้เพื่อพูดเรื่อง “วิกฤตทุนนิยมโลก” ผู้ที่เชิญเป็นแฟนงานเขียนของผม ท่านจึงรู้ว่าผมมักจะใช้ทฤษฎีชุดหนึ่งในการอธิบายวิกฤตโลก นั่นคือ ทฤษฎี Chaos

ท่านได้ตั้งประเด็นให้ผมพูดเรื่องวิกฤต โดยเริ่มจากการอธิบายว่า “อะไรคือ ทฤษฎี Chaos” ผมจึงต้องเริ่มการพูดคุยกันโดยอธิบายเรื่องทฤษฎี Chaos ให้ผู้ฟังท่านอื่นเข้าใจแบบง่ายๆ

ผมเริ่มว่า

วิชาการโลกตะวันตกในยุคที่เรียกว่า ยุควิทยาศาสตร์ นั้น มีรากฐานการคิดมาจาก 2 ทฤษฎีใหญ่

ทฤษฎีแรก คือ ทฤษฎีว่าด้วย ‘ระบบ (System)’ คนตะวันตกจะมองโลกอย่างเป็นระบบกลไกที่ค่อนข้างมีระเบียบ และสลับซับซ้อนมากพอสมควร การคิดแบบระบบนี้ทำให้คนตะวันตกมีความสามารถในการคิดวางแผน หรือมีการวางแผนปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ เช่นกัน

คำถามต่อมาคือ เมื่อโลกถูกมองว่า เป็นระบบ อย่างเช่น ระบบจักรวาล หรือ ระบบสังคม ระบบดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนตัวอย่างไร

เพื่อจะตอบคำถามนี้ นักวิชาการตะวันตกได้ใช้ทฤษฎีที่เรียกว่า ‘ทฤษฎีวิวัฒนาการ’ ซึ่งถือว่าเป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายการเคลื่อนตัวของระบบ (บรรดาสรรพชีวิต และระบบต่างๆ) เป็นฐาน

เดิมที ทฤษฎีชุดนี้ถูกนำเสนอโดยนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากของโลกตะวันตกชื่อคุณ Charles Darwin มีรากมาจากการค้นพบว่า “สิ่งที่มีชีวิตทางธรรมชาติมีการวิวัฒน์ได้ด้วยตัวเอง”

ต่อมาทฤษฎีนี้ได้กลายเป็นทฤษฎีที่ถูกใช้เป็นหลักของการอธิบายการเคลื่อนตัวของโลกทั้งทางธรรมชาติ และทางสังคมศาสตร์ โดยเสนอว่า “หน่วยธรรมชาติมีพลังภายในตัวของมันเอง ที่จะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และนำสู่ การพัฒนา หรือ การวิวัฒน์ ของสิ่งต่างๆ”

เช่น สัตว์เซลล์เดียวสามารถพัฒนากลายเป็นสัตว์หลายเซลล์ หรือจากสัตว์น้ำก็อาจจะค่อยๆ วิวัฒน์ขึ้นมาเป็นสัตว์บกได้

มีตัวอย่างเรื่องราวที่มักถูกเอ่ยอ้างถึงเสมอคือ เรื่องราวของมนุษย์ ซึ่งค่อยๆ วิวัฒน์มาจากลิง (พันธุ์ที่ค่อนข้างพิเศษพันธุ์หนึ่ง)

ในสมัยนั้น ทฤษฎีนี้ถือเป็นทฤษฎีที่โด่งดังมาก เพราะสามารถท้าทายคำอธิบายของศาสนาคริสต์เรื่อง ‘พระเจ้าสร้างมนุษย์’ เพราะเท่ากับนำเสนอว่า มนุษย์ และสรรพสิ่งอื่นๆ อาจจะไม่ได้เกิดจากการสร้างของพระเจ้า แต่อาจมาจากวิวัฒนาการทางธรรมชาติ

หากเราเอา 2 ทฤษฎีดังกล่าวข้างต้นมาประสานกัน เราก็จะมองโลกอย่างเป็นระบบที่มีกลไกที่สลับซับซ้อน และมีพลวัตภายในตัวเองที่จะนำสู่การเปลี่ยนผ่านเป็นช่วงๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ที่สามารถบ่งบอกได้ชัดๆ ว่า สิ่งต่างๆ จะค่อยๆ วิวัฒน์ไปทางไหน อย่างมีกฎมีเกณฑ์ที่แน่นอนและชัดเจน

กล่าวแบบสรุป “ถ้าทุกอย่างวิวัฒน์อย่างมีขั้นตอน และมีกฎที่แน่นอน ถ้าเราค้นพบกฎดังกล่าว เราก็จะสามารถเดาทายอนาคตได้” นี่น่าจะเป็นที่มาของคำว่า ‘วิทยาศาสตร์’

ในโลกตะวันตก ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ได้นำเสนอการอธิบายโลกว่า ระบบสังคมมีพลังที่นำสู่การวิวัฒน์อย่างเป็นขั้นและเป็นตอน จากสังคมโบราณที่ป่าเถื่อน ล้าหลัง และไร้อารยธรรมมาสู่ยุคแห่งอารยธรรมที่รุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ เป็นขั้นๆ

อย่างเช่น ทฤษฎีฝ่ายทุนนิยม ก็จะอธิบายว่า การปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่สำคัญแต่ละครั้ง เช่น การปฏิวัติเกษตรกรรม และการปฏิวัติอุตสาหกรรม จะนำมาซึ่งการวิวัฒน์ทางสังคม หรือการเคลื่อนตัวไปข้างหน้า และนำสู่การปรับเปลี่ยนของระบบสังคมให้สอดคล้องกับยุคสมัย หรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

แม้แต่ทฤษฎีของฝ่ายสังคมนิยม ที่เรียกว่า ลัทธิมาร์กซ์ ก็มีฐานคิดมาจากทฤษฎีวิวัฒนาการของ Charles Darwin เช่นกัน

ทฤษฎีฝ่ายสังคมนิยม อธิบายว่า ‘การเปลี่ยนยุคประวัติศาสตร์’ เกิดจากการปฏิวัติพลังการผลิต อย่างเช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งในที่สุดจะนำสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง ผ่านขบวนการการต่อสู้ทางชนชั้น ช่วงที่เกิดการต่อสู้ทางชนชั้นนี้ ชาวลัทธิมาร์กซ์จะเรียกว่า ‘ช่วงเกิดการปฏิวัติใหญ่’

ตัวอย่างเช่น หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม การขยายตัวของอุตสาหกรรมและการค้าจะส่งผลทำให้ชนชั้นผู้ใช้แรงงานเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถก่อตัวเป็นพลังทางชนชั้นที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุด ชนชั้นผู้ใช้แรงงานในบางประเทศ เช่น ที่รัสเซีย ก็จะสามารถโค่นล้มชนชั้นนายทุน และจะสร้างรัฐสังคมนิยมขึ้นมา

ชาวลัทธิมาร์กซ์จึงเชื่อกันว่า นี่คือ กฎแห่งการวิวัฒนาการทางสังคม ที่ก้าวย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นกฎแห่งวิทยาศาสตร์สังคมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

สังคมทุกสังคมจะก้าวผ่านอย่างเป็นขั้นๆ จากระบบทาส สู่ระบบศักดินา สู่ระบบทุนนิยม สู่ระบบสังคมนิยม และเข้าสู่สังคมคอมมิวนิสต์

ความเชื่อเหล่านี้ จะถูกอ้างว่าเป็น ‘วิทยาศาสตร์’ (หรือสัจธรรมทั่วไป) ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทุกวันนี้ ความเชื่อแบบวิวัฒน์ไปข้างหน้า (หรือก้าวหน้าไปเรื่อยๆ) กลับเริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ

ตัวอย่างเช่น มีการค้นพบว่า ชีวิตผู้คนในชุมชนยุคโบราณ กับ ชีวิตของผู้คนในมหานคร(ปัจจุบัน) ถ้าเรามองในแง่ความสุข ชีวิตชุมชนโบราณน่าจะมี ‘ค่าแห่งความสุข’ สูงกว่าคนในยุคปัจจุบันมาก

หรือกล่าวได้ว่า มนุษย์น่าจะวิวัฒน์ในเชิงโลกทางวัตถุเท่านั้น แต่ในแง่จิตใจกลับเสื่อมทรามลง

เหตุที่ผมกล่าวเช่นนี้ ผมคงไม่ได้บอกว่า การค้นพบกฎธรรมชาติของ Charles Darwin ผิดหรือถูกอย่างสิ้นเชิง แต่น่าจะถือว่า กฎธรรมชาติข้อนี้ มี “ค่า” อยู่บ้าง ตรงที่ช่วยทำให้เราสามารถอธิบายการเคลื่อนตัว หรือการวิวัฒน์ของธรรมชาติที่มีลักษณะที่ค่อนข้างต่อเนื่องเป็นขั้นๆ และแบบที่ค่อนข้างเป็นเส้นตรงได้

แต่ถ้าเราสังเกตธรรมชาติดีๆ เราจะพบว่า “โลกธรรมชาติไม่มีเส้นตรง” ยกตัวอย่างเช่น ใบไม้

เราจะเห็นสภาวะของใบไม้หลากหลาย แบบยึกไปยักมา

ถ้าเราหวนคิดถึงชีวิตของเราเองที่ผ่านมา ก็จะพบความยึกยักของชีวิตเช่นกัน ขึ้นๆ ลงๆ พลิกไป และผันมา

ระบบสังคมก็ดูจะไม่ต่างกัน บางครั้งระบบสังคม อย่างเช่น จีน และรัสเซีย ดูราวจะก้าวผ่านทุนนิยมกลายเป็นสังคมนิยม แต่แทนที่จะก้าวสู่สังคมคอมมิวนิสต์ ก็กลับพลิกมาเป็นทุนนิยมอีก

และสิ่งที่สำคัญ... อย่าหลงคิดไปว่า ที่สุดแล้ว มนุษย์จะวิวัฒน์ไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด...จนในที่สุดจะเป็นจ้าวจักรวาล เหมือนกับภาพยนตร์ทอปฮิตมากของตะวันตกเรื่อง สตาร์วอร์ (Star War) เป็นต้น

ถ้าใครศึกษาเรื่องชุมชนชาวเขาและชาวป่า เราก็จะพบสังคมชุมชนโบราณ อย่างเช่น ชาวป่า ชาวเขา ซึ่งเขายังดำรงชีวิตแบบเดิม เป็นพันๆ ปี (กฎแห่งการวิวัฒน์ดูราวกับไม่ทำงาน)

ข้อคิดของผมคือ

ที่แท้แล้ว เส้นทางการวิวัฒน์ของธรรมชาติ และของสังคม กลับมีหลายเส้นทาง บางช่วงก็ดูราวกับเป็นเส้นตรงบ้าง ไม่ตรงบ้าง เป็นวัฏจักรบ้าง และทุกเส้นทางมีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่ทฤษฎีวิวัฒนาการ (โบราณ) รวมทั้งทฤษฎีซ้ายโบราณจะอธิบายได้

ผมกล่าวกับผู้ฟังว่า

ในยุคก่อนที่มนุษย์จะ ‘เป็นใหญ่’ เหนือระบบโลก เคยมีสัตว์ตัวใหญ่มากครองโลก นั่นคือ ไดโนเสาร์

ยุคนั้น บรรดาไดโนเสาร์มีมากมายหลายพันธุ์ แต่พอถึงช่วงเวลาหนึ่ง อาจจะช่วงประมาณ 65 ล้านปีที่ผ่านมา ไดโนเสาร์เกิดการสูญพันธุ์อย่างเฉียบพลัน

คำถาม “เกิดอะไรขึ้นกับไดโนเสาร์”

จนถึงทุกวันนี้ เรายังไม่สามารถให้คำตอบได้ชัดแจ้ง

เมื่อไดโนเสาร์ยังสูญเผ่าพันธุ์ได้ แล้วมนุษย์เล่า...จะสูญเผ่าพันธุ์ได้ไหม

ถ้าจริงว่า มนุษย์สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ได้ในอนาคต

ความเชื่อว่า “เราต้องวิวัฒน์หรือพัฒนาไปข้างหน้าเรื่อยๆ” ก็น่าจะไม่จริง หรือว่าความจริงแล้ว “มนุษยชาติกำลังพัฒนาไปสู่ ความตาย กันแน่”

ในช่วงที่เกิด ‘การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์’ มีนักวิทยาศาสตร์บางท่านคาดไว้ว่า น่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดวิกฤตแบบรุนแรง ซึ่งก่อเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

คำว่า การพลิกผันอย่างรุนแรงและฉับพลัน นี่น่าจะเป็นที่มาของคำว่า Chaos

ถ้าการเปลี่ยนแปลงแบบรุนแรงและฉับพลัน คือ ปรากฏการณ์ธรรมชาติแบบหนึ่ง การเปลี่ยนแบบรุนแรงขนาดนี้ก็สามารถนำสู่ ‘การสิ้นสุด’ หรือ ‘ความตาย’ ได้

การสิ้นสุด หรือความตาย แบบนี้ไม่สามารถอธิบายได้จากทฤษฎีวิวัฒนาการ นี่คือ จุดอ่อนที่สำคัญประการหนึ่งของทฤษฎีวิวัฒนาการของ Charles Darwin

แต่เชื่อผมไหม ปราชญ์ตะวันออกยุคโบราณ โดยเฉพาะปราชญ์ชาวพุทธ ก็สามารถนำเสนอทฤษฎีการวิวัฒน์ของธรรมชาติและมนุษย์ไว้ด้วยเช่นกัน ทั้งยังมีความสามารถที่จะอธิบายการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันไปมา และ การเปลี่ยนแปลงแบบที่รุนแรงและขนาดใหญ่ ได้

ผมถามผู้ฟังว่า

“อะไร คือหลักพุทธที่เรียกว่า ทุกขัง”

ผู้ฟังจำนวนหนึ่งตอบว่า

“ความเป็นทุกข์ซิ”

อีกส่วนหนึ่งตอบว่า

“การไม่สามารถดำรงอยู่ได้”

ผมขยายความว่า

นี่คือ ‘หลักธรรมใหญ่’ ที่พุทธใช้อธิบายธรรมชาติที่ว่า “ไม่มีอะไรสามารถอยู่ค้ำฟ้าได้ ทุกสิ่งต้องสิ้นลง หรือจบลง”

วันหนึ่ง สิ่งทั้งหลายที่เคยดำรงอยู่ ที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้ ไม่ว่าสิ่งนั้นคืออะไร จะยิ่งใหญ่ขนาดไหน ก็ต้องดับหรือสูญไป รวมทั้งตัวเรา และคนที่เรารัก

ถ้าเราไม่เข้าใจกฎธรรมชาติข้อนี้ เราก็จะเป็นทุกข์

นี่คือ กฎธรรมชาติว่าด้วยทุกขัง ซึ่งถือว่าเป็นกฎธรรมชาติที่สามารถอธิบายการสิ้นไป หมดไป หรือสูญไปได้

อีกกฎหนึ่งของพุทธคือ หลักอนิจจัง

คำว่า อนิจจัง คือ กฎธรรมชาติที่อธิบายความพลิกผันไปมา และพลิกผันอย่างที่เกินคาดได้ หรือกล่าวว่า นี่คือกฎที่อธิบายการเคลื่อนตัวของธรรมชาติแบบพลิกผัน หรือไปด้านตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

ตัวอย่างเช่น จากเด็กเปลี่ยนสภาพเป็นแก่ จากสวยงามกลายเป็นเหี่ยวเฉาหรือชราภาพ และจากความเกิดไปสู่ความตาย

กฎข้อนี้บอกเราว่า ระบบธรรมชาติไม่ได้เคลื่อนตัวเป็นเส้นตรง เป็นขั้นๆ ไปข้างหน้า(หรือวิวัฒน์เป็นเส้นตรง) ดังที่ทฤษฎีวิวัฒนาการอธิบาย แต่ที่จริงแล้ว การเคลื่อนตัวของธรรมชาติจะพลิกไปผันมา หรือยึกไปยักมา สวิงไปทางซ้าย แล้วสามารถสวิงกลับมาทางขวาได้ หรือสวิงแบบวงจรเป็นวงวัฏจักรได้ จากสุดขั้วด้านหนึ่งไปสู่อีกสุดขั้วด้านหนึ่ง (อย่างเช่น จากร้อนจัด ไปเป็นเย็นจัด และกลับไปกลับมาได้)

ถ้าอธิบายด้วยปรัชญาเต๋า ชาวเต๋าจะเสนอภาพการเปลี่ยนจากหยางเป็นหยิน และจากหยินสวิงเปลี่ยนเป็นหยางได้

ทั้ง 2 กฎนี้คือ การอธิบายการเคลื่อนตัวของธรรมชาติอีกแบบหนึ่ง ที่อยู่นอกเหนือกฎวิวัฒนาการแบบเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า

กล่าวอย่างสรุปก็คือ

‘กฎทุกขัง’ อธิบายการสิ้นสุดลงหรือการตายของสิ่งที่เคยดำรงอยู่ และ ‘กฎอนิจจัง’ อธิบายการสามารถแปรสภาพอย่างพลิกผันเป็นวัฏจักร วัฏจักรที่ดูราวจะย้อนกลับไปมา แต่ไม่ได้ย้อนกลับจริงๆ

กฎทั้งสองนี้ อนุญาตให้เราเรียนรู้วิถีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ทั้งแบบที่ ไม่รุนแรง และ รุนแรงอย่างยิ่ง (หรือพลิกผันอย่างยิ่ง) ได้

กล่าวโดยสรุป ถ้าเข้าใจตามแบบพุทธ

การเคลื่อนตัวของธรรมชาติที่แท้จริง จะเคลื่อนตัวแบบไม่เป็นเส้นตรง หรือไม่เป็นขั้นเป็นตอน แต่จะเคลื่อนตัวแบบยึกยักและพลิกผันอย่างยิ่ง โดยมีเกิดมีตายเป็นฐานแห่งการวิวัฒน์

ทุกชีวิตที่เกิดก่อขึ้นมา จึงล้วนเคลื่อนสู่ ‘วิกฤตใหญ่’ และ ‘ความตาย’

‘ความตาย’ นี้ ก็หาใช่ความตายในลักษณะที่สิ้นสุดจริงๆ ไม่ เพราะเมื่อตายก็มี ‘เกิด’

ทั้งหมดทั้งหลายจึงกลายเป็นขบวนชีวิตที่เคลื่อนไปไม่สิ้นสุด (จริงๆ)

บางช่วงประวัติศาสตร์ เรื่องที่เราจะต้องเผชิญหรือหนีไม่พ้นคือ ‘ความรุนแรงอย่างยิ่ง’ หรือ ‘วิกฤตใหญ่และความตาย’

ปัจจุบัน วิกฤตใหญ่ทางธรรมชาติซึ่งเกิดก่อขึ้นมากมาย ได้ผลักให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งหันมาศึกษาวิกฤตธรรมชาติที่รุนแรงหลายอย่างที่เกิดขึ้น วิกฤตเหล่านี้สามารถทำให้เกิดความตาย หรือการสูญเสียมหาศาลได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพายุทอร์นาโด แผ่นดินไหว อุทกภัยใหญ่ และอื่นๆ

นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้หันมาสนใจค้นหาว่า ในช่วงที่เกิด Chaos ใหญ่ จะมีกฎอะไรบ้างที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

การศึกษาหากฎของธรรมชาติแบบนี้ คือที่มาของทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า “ทฤษฎี Chaos” ซึ่งนักวิชาการบางท่านแปลความว่า ‘ทฤษฎีไร้ระเบียบ’ ส่วนผมเองมักจะใช้คำว่า ‘ทฤษฎีว่าด้วยพลวัตที่พลิกผันอย่างยิ่ง’

ต่อมา นักวิทยาศาสตร์สายนี้ค้นพบว่า ความเชื่อที่ว่าระบบธรรมชาติเป็นระบบที่มีเสถียรภาพเป็นฐาน ไม่ใช่เรื่องที่น่าจะจริง

ที่แท้แล้ว ระบบธรรมชาติทุกอย่างล้วนมีสภาวะ Chaos เป็นหัวใจของโลกธรรมชาติ หรือสรรพสิ่งทั้งหมด และสภาวะ Chaos ที่ดำรงอยู่ในใจกลางนี้จะกลายเป็นพลังนำสู่การเปลี่ยนแปลง

ทุกระบบที่เกิดก่อจะเคลื่อนตัวสู่ Chaos ที่เพิ่มขึ้นเสมอ

เมื่อสภาวะ Chaos เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การเปลี่ยนผ่านแบบรุนแรงย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ระบบเดิมก็จะก้าวสู่ความตาย

แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนแบบรุนแรงแค่ไหนก็ตาม สภาวะ Chaos ดังกล่าวก็จะนำสู่การเกิดก่อใหม่เสมอ จนมีการคำกล่าวว่า “Chaos ก็คือ Creation”

ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติในลักษณะนี้ เราจะพบว่าทฤษฎี Chaos กับหลักพุทธเรื่อง ทุกขัง และอนิจจัง มีความใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง

คำถามต่อมาก็คือ เมื่อธรรมชาติมี Chaos เป็นฐาน และเคลื่อนตัวสู่สภาวะ Chaos ขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่เกิด Chaosใหญ่ เราจะสามารถค้นหากฎเกณฑ์มาอธิบายการเคลื่อนตัวแบบนี้ได้หรือไม่

นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่า มีกฎเกณฑ์ หรือมีระเบียบการเคลื่อนตัวบางอย่างที่พอสรุปได้อยู่ ตัวอย่างเช่น ทุกครั้งที่เกิดพายุใหญ่ จะมีรากปัญหาที่มาของการเกิดพายุรุนแรง และมีจังหวะการเคลื่อนตัวคล้ายๆ กัน เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่สามารถระบุขนาดความใหญ่ หรือความรุนแรงของการเกิดพายุในแต่ละครั้งอย่างแน่นอนได้ว่า จะรุนแรงแค่ไหน อย่างไร

นี่หมายความว่า เราจะรู้บางอย่าง แต่ก็มีสิ่งที่เหนือกว่าความสามารถในการรับรู้ของเราดำรงอยู่ด้วย

ทฤษฎี Chaos จึงไม่ใช่ทฤษฎีที่ว่าด้วยความไร้ระเบียบเท่านั้น แต่กลับเป็นทฤษฎีที่บอกว่า มีระเบียบก่อเกิดขึ้นจำนวนหนึ่งที่เดาได้ภายใต้สภาวะที่ไร้ระเบียบอย่างยิ่ง

ส่วนที่เดาไม่ได้ อาจจะมาจากปัจจัยต่างๆ ที่มีมากเหลือเกิน และในช่วงที่เกิด Chaosใหญ่ ปัจจัยเล็กๆ ยังสามารถก่อผลสะเทือนได้เกินคาด

พูดโดยสรุปก็คือ ตามหลักทฤษฎี Chaos หนึ่งบวกหนึ่ง (1+1) จะไม่เท่ากับ 2 แต่จะเป็นเท่าไรก็ได้

ทฤษฎี Chaos จะต่างจากทฤษฎีวิวัฒนาการ ตรงที่สามารถอธิบายพัฒนาการของธรรมชาติทั้งชนิดที่ไม่รุนแรงมากนัก จนถึงชนิดที่พลิกผันรุนแรงอย่างยิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการวิวัฒน์แบบที่ไม่ต่อเนื่อง หรือไม่เป็นเชิงเส้นตรงไปข้างหน้าได้

เพื่อนคนหนึ่งถามผมว่า

“อะไรคือ การวิวัฒน์แบบไม่ต่อเนื่อง”

ผมอธิบาย

คำว่า วิวัฒน์แบบไม่ต่อเนื่อง คือ การปรากฏขึ้นของคำว่า ความตาย หมายความว่า ก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ได้ น่าจะเกิดการทำลายล้างที่มีขนาดใหญ่ จนทำลายสิ่งเก่าให้เกือบสูญสิ้นลงอย่างสิ้นเชิง และหลังการทำลายล้างใหญ่ (หรือความตาย) สิ่งใหม่ (ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งเก่าเลย) ก็จะก่อเกิดขึ้น

ตัวอย่างเช่น เวลาเกิดการเปลี่ยนผ่านจาก ‘ระบบทุนนิยม’ ไปสู่ ‘สังคมนิยม’ หรือ การพลิกกลับไปกลับมาจาก ‘สังคมนิยม’ ไปสู่ ‘ระบบทุนนิยม’ ยังคงเป็น การเปลี่ยนผ่านแบบต่อเนื่อง

กล่าวคือ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไม่ได้ถูกทำลายลงจริงๆ เพียงแต่เปลี่ยนผู้มีอำนาจจากชนชั้นนายทุนไปสู่กรรมาชีพหรือผู้ใช้แรงงานเท่านั้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรายังอยู่ในยุคเดิม ที่มีการผลิตแบบอุตสาหกรรมเพื่อการตลาดเป็นหัวใจสำคัญ ทั้งนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ‘สังคมนิยมแบบเก่า’ จึงสามารถพลิกกลับเป็น ‘ทุนนิยม’ ได้โดยง่าย

กรณี การเปลี่ยนผ่านที่ไม่ต่อเนื่อง ยกตัวอย่างได้ เช่น

ถ้าในอนาคตเกิดน้ำท่วมโลกอย่างขนาดใหญ่ จนบรรดาเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นศูนย์อารยธรรมในยุคเศรษฐกิจโลก (ซึ่งเป็นระบบอารยธรรมที่ทำลายล้างธรรมชาติ) ถูกทำลายล้างแบบสิ้นเชิง จนทำให้ผู้คนล้มตายจำนวนมหาศาล แต่หลังจากนั้น ระบบอารยธรรมชุดใหม่ที่เอื้ออาทรต่อธรรมชาติได้ก่อเกิดขึ้นอีกในชนบท การก่อเกิดแบบนี้จะไม่ต่อเนื่องกับสิ่งเก่า

ที่จริงแล้ว ชีวิตของระบบโลกเคยผ่านเรื่องราววิกฤตใหญ่มากๆ แบบนี้มาหลายครั้งแล้ว เช่น เรื่องราวน้ำท่วมโลก รวมทั้งเรื่องราวยุคน้ำแข็ง ที่เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ

การพลิกผันที่รุนแรงแบบนี้ ก่อให้เกิดการแปรเปลี่ยนไปอย่างเกินคาดการณ์ได้ ดังเช่นที่เล่ามาแล้วข้างต้นคือ การสิ้นสูญของไดโนเสาร์

แต่นี่หมายความว่า ‘ธรรมชาติ’ และ ‘สังคม’ มีวิวัฒน์ทั้งแบบต่อเนื่อง (ค่อยเป็นค่อยไป) และ แบบไม่ต่อเนื่อง

เพื่อนคนหนึ่งในวงเสวนาได้ยกมือไต่ถาม

“นี่หมายความว่า อาจารย์ใช้ทฤษฎีวิวัฒน์ 2 ทฤษฎีประกอบกัน คือ ใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการทั่วไป...แบบพลิกผันไปมา ในช่วงที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างไม่รุนแรงมากนัก และใช้ทฤษฎี Chaos กับการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันรุนแรงมากๆ ใช่ไหมครับ”

ผมตอบท่านว่า “ใช่”

ผมขยายความต่อว่า

อย่างเช่น เรื่องระบบโลก ตั้งแต่เริ่มยุคเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีการเปลี่ยนยุคมาแล้ว 4 ครั้ง

เริ่มจาก ‘ยุคการค้าโลก’ รุ่งเรืองในช่วงศตวรรษที่ 16

หลังจากนั้น ระบบก็วิวัฒน์สู่ ‘ช่วงอุตสาหกรรมครั้งแรก’ ในช่วงศตวรรษที่ 18 ต่อมาก็เกิดการวิวัฒน์อีกในช่วงศตวรรษที่ 20 ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมหนัก’ และหลังจากนั้นก็คือ ช่วงการปฏิวัติสื่อสารไร้พรมแดน และเงินตราไร้พรมแดน หรือที่เรียกว่า ‘ช่วงโลกาภิวัตน์’ ซึ่งรุ่งเรืองในช่วงศตวรรษที่ 21

‘การวิวัฒน์’ ในช่วงดังกล่าวข้างต้น ผมจะวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการแบบทั่วไป แต่แบบหลายเส้นทาง และพลิกผันได้

ผมมองว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมดังกล่าว จะเกิดเส้นทางการวิวัฒน์แบบหลายเส้นทาง ที่สำคัญมี 3 เส้นทาง บางประเทศวิวัฒน์เป็นทุนนิยม บางประเทศเป็นสังคมนิยม บางประเทศเป็นรัฐสวัสดิการ และทั้ง 3 วิถีพัฒนาการสามารถพลิกผันไปมาได้ด้วย

ผมจะใช้ทฤษฎี Chaos เฉพาะในช่วงปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งผมถือว่า ระบบโลกในช่วงนี้กำลังก้าวสู่ช่วงวิกฤตใหญ่มาก

ผมจะเรียกว่าช่วงประวัติศาสตร์นี้ว่า “ช่วงเอกภาวะของวิกฤตการณ์ที่หลากหลายในเวลาเดียวกัน”

และในเวลาเดียวกัน ผมเชื่อว่า ช่วงการเปลี่ยนใหญ่ครั้งนี้อาจจะเกิดความพลิกผันรุนแรงอย่างยิ่ง หรือเกิดแบบรุนแรงเกินคาดได้

การเปลี่ยนใหญ่ที่พอจะคาดได้คือ ‘หายนะภัยทางธรรมชาติ’ (ซึ่งใหญ่มาก) ที่กำลังหนักขึ้นเรื่อยๆ...จนถึงหนักอย่างยิ่ง ซึ่งจะสามารถก่อเกิด ‘ปรากฏการณ์ความตาย’ และที่น่ากลัวไม่แพ้กันคือเรื่อง ‘วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์’ ซึ่งมีโอกาสจะพลิกเป็นวิกฤตการเมือง และก่อเกิดสงครามใหญ่ขึ้นได้

ผมได้ขยายความต่อไปว่า

นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตทางด้านสุขภาพ และวิกฤตในด้านจิตวิญญาณ (การฆ่ากัน หรือ การใช้ความรุนแรง) ซ้อนทับ หนุนเนื่องซึ่งกันและกัน และมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

เพื่ออธิบายสภาพ ‘วิกฤตซ้อนวิกฤต’ และ ‘แนวโน้มความรุนแรงแบบเพิ่มทวี’ ผมจึงหันมาใช้ ทฤษฎี Chaos ว่าด้วยความตาย และความพลิกผันอย่างยิ่ง มาวิเคราะห์และนำเสนอ (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น