xs
xsm
sm
md
lg

ความสำคัญของเทคโนโลยี

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

เทคโนโลยีซึ่งถ้าจะแปลเป็นภาษาไทยก็น่าจะหมายถึง วิทยะกรรมวิธี ซึ่งอาจจะมีความหมายไม่ตรงนัก คำว่าเทคโนโลยีคือวิธีการที่ใช้ความรู้มาทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ตามที่ต้องการ ซึ่งในสมัยโบราณนั้นความรู้ที่นำไปสู่การเป็นเทคโนโลยีมาจากวิธีการทดลองกระทำ ลองผิดลองถูก (trial and error) เป็นต้นว่า ในการสร้างเครื่องมือในการจับปลา ในตอนต้นปลาอาจจะหลุดออกไปจากเครื่องมือที่จับเนื่องจากไม่รัดกุมพอ จากนั้นก็มีการปรับปรุงขึ้นมาเรื่อยๆ จนได้ความรู้อันถือได้ว่าสามารถใช้สร้างเครื่องมือจับปลาที่ทำงานได้ผล ก็เอาเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์เพื่อใช้ในการทำมาหากินและการดำรงชีวิต

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การสร้างบ้านด้วยวัสดุที่หาได้จากในป่า ทำให้สามารถจะปลอดจากน้ำท่วม สัตว์ร้าย ซึ่งได้แก่ เทคโนโลยีการสร้างบ้านเพื่อพักอาศัย เทคโนโลยีในการหาอาหารก็มีตัวอย่างเครื่องมือการจับปลาหรือล่าสัตว์ เช่น แห ยอ เบ็ด สวิง กับดักสัตว์ แร้วดักนก ทั้งหลายทั้งปวงล้วนแล้วแต่เป็นวิทยะกรรมวิธีหรือเทคโนโลยีที่มาจากประสบการณ์ สามารถนำมาใช้ในการทำมาหากินดำรงชีวิตสืบทอดมาเป็นเวลาอันยาวนาน

ผู้ซึ่งเคยไปเที่ยวบาหลีจะได้รับการบอกกล่าวว่า หมู่บ้านในบาหลีนั้นหนีไม่พ้น bbc b ตัวแรกได้แก่ banana การปลูกกล้วย ชาวบ้านแถบนั้นรู้ว่ากล้วยมีประโยชน์ในการกินเป็นอาหาร เอามาทำแป้ง ทำขนม ขณะเดียวกันใบกล้วยก็สามารถนำมาห่อของ หยวกกล้วยนำมาเป็นฐานสำหรับปักสิ่งประดับในพิธีการฉลอง เช่น อาจจะเป็นที่ปักธูป หรือปักดอกไม้ ขณะเดียวกันใบกล้วยก็ยังมักจะนำมาใช้เป็นพิธีทางสังคม โดยเฉพาะพิธีที่เกี่ยวข้องกับศาสนามักจะหนีไม่พ้นใบกล้วยและต้นกล้วย

b ตัวที่สองได้แก่ bamboo หรือไม้ไผ่ ซึ่งมีประโยชน์ในการทำเครื่องจักสาน ทำเครื่องมือสำหรับจับสัตว์และจับปลา และยังสามารถนำมาใช้ทำภาชนะ ขณะเดียวกันก็ยังใช้เป็นแกนของการทำใบจากเพื่อมุงหลังคา ทำฝาบ้าน ทำพื้นบ้าน กั้นคอกไก่ ทำสุ่มไก่ ฯลฯ

c ได้แก่ coconut หรือมะพร้าว ซึ่งเนื้อมะพร้าวนำมากินเป็นอาหาร คั้นกะทินำมาเป็นอาหารคาวหรืออาหารหวาน หั่นเป็นฝอยและนำมาคั่วทำเป็นขนมได้ เช่น เป็นส่วนประกอบของเมี่ยง และที่สำคัญกลั่นน้ำมันเพื่อเป็นเชื้อเพลิงและจุดตะเกียง ใบมะพร้าวก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างที่อยู่อาศัย ส่วนต้นมะพร้าวนั้นใช้ปูเป็นสะพานข้ามคลองเล็กๆ เป็นเสาเรือน กะลาทำภาชนะใส่น้ำดื่ม

จะเห็นว่า ความรู้เกี่ยวกับสิ่งเพาะปลูก 3 สิ่งนั้น อันได้แก่ กล้วย ไม้ไผ่ และมะพร้าว สามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิต และนั่นคือความรู้ที่ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีหรือวิทยะกรรมวิธี เทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งซึ่งอยู่คู่กับการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่เมื่อมีการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มาจากการทดลอง เริ่มต้นจากการพบพลังของไอน้ำเมื่อน้ำเดือด ก็นำไปสู่เครื่องจักรไอน้ำ จนนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ ในอดีตก็มีเทคโนโลยีเพื่อการผลิตอยู่แล้ว หากแต่ต้องอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก เช่น กังหันลม ระหัดน้ำ ไฟ ซึ่งเป็นพลังงานที่ได้จากธรรมชาติแต่ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์โดยการใช้เทคโนโลยีที่มาจากการลองผิดลองถูก

แต่เทคโนโลยีจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต้องใช้ความคิดหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร เช่น ความร้อนทำให้น้ำเดือด เมื่อน้ำเดือดเป็นไอก็จะมีพลัง พลังนั้นเมื่อส่งไปยังจุดเดียวก็จะสามารถไปปั่นกังหันให้หมุนได้ ซึ่งนำไปสู่การสร้างเครื่องจักรไอน้ำ นอกเหนือจากนั้น ในอดีตพลังงานส่วนใหญ่มาจากสิ่งมีชีวิต (animate energy) เช่น สัตว์ต่างๆ อันได้แก่ ช้าง ม้า วัว ควาย ลา ล่อ อูฐ และมนุษย์ ซึ่งต่างจากพลังงานที่มาจากวิทยาศาสตร์ที่กล่าวมา เช่น พลังงานจากไอน้ำ จากน้ำมัน ฯลฯ เป็นพลังงานที่ไม่มีชีวิต (inanimate energy)

มาในปัจจุบันเทคโนโลยีซึ่งมาจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์มีมากมาย และเกี่ยวพันกับชีวิตทั้งการดำรงชีวิต การผลิตของเครื่องใช้ การผลิตสินค้า การประกอบธุรกิจ อันเนื่องมาจากการค้นคว้าทดลองของนักวิทยาศาสตร์ เมื่อค้นพบหลักการก็นำมาประยุกต์ เช่น เครื่องจักรกลต่างๆ ยานพาหนะที่เดินทางด้วยพลังงานจากเชื้อเพลิงหรือไฟฟ้า เครื่องทุ่นแรงขนาดใหญ่ที่สามารถเทียบเท่ากับคนเป็นสิบๆ คน เช่น แบ็คโฮ และที่สำคัญในขณะนี้เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับข่าวสารข้อมูลส่งผลให้การสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว ได้ยินทั้งเสียง เห็นทั้งภาพ และสามารถจะเป็นการสื่อสารทั้งสองฝ่ายได้ในเวลาเดียวกัน

ขณะเดียวกันการคมนาคม การขนส่งก็สามารถกระทำได้กว้างไกล จนถึงกับเดินทางไปดวงจันทร์ ระยะทางที่เคยใช้เวลานานเป็นเดือนๆ ลดเหลือเป็นชั่วโมง ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้คือบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสังคมสมัยใหม่ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

แต่วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่กล่าวมาแล้วนั้น จำเป็นต้องมีการจัดการอย่างถูกต้อง โดยรับและเลือกใช้อย่างชาญฉลาดเพื่อจะก่อประโยชน์อย่างแท้จริงต่อสังคมมนุษย์ เพราะถ้ารับเทคโนโลยีมาโดยขาดการพินิจพิจารณา อาจจะนำไปสู่ผลเสียได้โดยไม่รู้ตัว ทั้งผลโดยตรงและผลข้างเคียง ตัวอย่างเช่น การสร้างโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากมายเพื่อเพิ่มผลผลิต นำสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตมาจำแนกแจกจ่ายให้กับประชาชนในสังคม อาจจะก่อผลเสียคือปัญหามลพิษและปัญหาสภาพแวดล้อม ทำลายสุขภาพ เทคโนโลยีในการทำลายล้างซึ่งนำมาใช้ในสงคราม ก็อาจไปไกลถึงกับสามารถสังหารหมู่ได้เป็นแสนๆ คนภายในพริบตาเดียว

นอกเหนือจากนั้น ประโยชน์ที่ได้จากวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีซึ่งนำไปสู่ความเติบโตมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต การเป็นฐานอำนาจทางการเมือง และเศรษฐกิจอาจจะนำไปสู่ผลลบซึ่งถูกมองข้ามอย่างน่าเสียดาย นั่นคือ สภาวะการเสื่อมโทรมจิตใจของมนุษย์ก่อให้เกิดความโลภ ละโมบโดยไม่สิ้นสุด การฉ้อราษฎร์บังหลวง รวมทั้งการนำไปสู่การรุกรานเข่นฆ่าเพื่อยึดครองแผ่นดินและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศอื่น

ดังที่ เลนินเคยกล่าวว่า ลัทธิล่าอาณานิคมเป็นจุดสูงสุดของระบบทุนนิยม เมื่อตลาดอิ่มตัวและต้องการวัสดุและแรงงานที่ถูกกว่าก็จะใช้กำลังรุกรานประเทศอื่น ลัทธิล่าอาณานิคมเกิดขึ้นได้จากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันได้แก่ ปืนไฟและเรือกลไฟ ซึ่งมีอำนาจทำลายสูง การพัฒนาเทคโนโลยีในการทำลายล้างพัฒนาขีดความรุนแรงมากขึ้น การทำลายสูงสุดของเทคโนโลยีสมัยใหม่คือการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ และในยุคสงครามเย็นโลกหมิ่นเหม่ที่จะถูกทำลายล้างด้วยสงครามนิวเคลียร์

ความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงต้องตามมาด้วยความเจริญทางเทคโนโลยีสังคม (social technology) ซึ่งได้แก่ วิทยะกรรมวิธี การจัดการกับสังคมมนุษย์ทั้งภายในและระหว่างประเทศให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยได้ประโยชน์สูงสุดต่อคนส่วนใหญ่ มีชีวิตที่มีความสุข และมีสังคมที่น่าพึงประสงค์ เทคโนโลยีสังคมที่สำคัญคือการสถาปนาระบบการเมืองการปกครองที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคม เคารพสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่สำคัญต้องสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

เทคโนโลยีทางสังคมที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง การบริหารต้องเป็นเทคโนโลยีที่สามารถจัดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน สังคมใดก็ตามที่ขาดเทคโนโลยีสังคมที่กล่าวมาแล้วนั้น ถึงแม้จะสามารถพัฒนาหรือซื้อเทคโนโลยีที่เกิดจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์โดยนักฟิสิกส์ เคมี และชีวะ นำมาเป็นประยุกต์โดยวิศวกรได้ แต่ก็ไม่สามารถจะเอื้ออำนวยประโยชน์ได้เต็มที่ เพราะตราบเท่าที่เทคโนโลยีสังคมไม่สามารถสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันโดยสันติสุข มีกฎกติกาและกฎเกณฑ์อันสามารถจะทำนายพฤติกรรมของมนุษย์ได้ในระดับหนึ่ง ความเจริญทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเจริญทางวัตถุ อาคารบ้านเรือน ตึกรามบ้านช่อง ตึกระฟ้า หรือความทันสมัยในทุกๆ ด้านก็จะเปรียบเสมือนเปลือกนอก โดยสิ่งเหล่านั้นจะอยู่บนฐานที่เปราะบางและง่อนแง่น

ดังนั้น ถึงแม้มนุษย์จะประสบความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่เมื่อขาดเทคโนโลยีสังคมที่สามารถจัดการกับความสำเร็จดังกล่าว ก็จะนำไปสู่ความล้มเหลวของสังคมมนุษย์โดยสิ้นเชิง การเกิดสงครามโลกสองครั้ง และการที่ยังมีสงครามปรากฏอยู่ทุกวันนี้ รวมทั้งความวุ่นวายทางการเมืองของประเทศต่างๆ บ่งชี้ถึงความล้มเหลวทางเทคโนโลยีทางสังคม

เทคโนโลยีสังคมที่สำคัญคือ ความสามารถในการจัดการกับความขัดแย้งทั้งภายในและระหว่างประเทศ ความสามารถในการพัฒนาระบบการเมืองการปกครองบริหารที่ทำงานได้ผล ความสามารถในการสร้างวัฒนธรรมทางจิตใจ ที่ตั้งอยู่บนฐานของความยุติธรรม เป็นธรรม ความเอื้ออาทรและเมตตาอารีต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภราดรภาพแห่งมนุษยชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น