xs
xsm
sm
md
lg

ไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้ 4 ล้านตัน/ปี อบก. เดินหน้าหนุนเอสเอ็มอีทำ CDM

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์
อบก. รับรอง CDM ของไทยไปแล้ว 60 โครงการ หลังเริ่มทำได้ 1 ปี มี 16 โครงการของไทย ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับยูเอ็นแล้ว ทำให้ไทยช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ได้กว่า 4 ล้านตันต่อปี หากขายไปจะได้เงินเข้าประเทศกว่า 2,000 ล้านบาท ผอ.อบก.เชื่อคาร์บอนเครติดจะยังอยู่หลังพิธีสารเกียวโตหมดอายุ พร้อมเร่งสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยทำคาร์บอนเครดิต

นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ว่า ขณะนี้ อบก. ได้ให้การรับรองโครงการการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ ซีดีเอ็ม (Clean Development Mechanism : CDM) เพื่อสร้างคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ในประเทศไทยไปแล้ว 60 โครงการ โดยมี 16 โครงการที่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ (UN) เรียบร้อยแล้ว

"อบก. เริ่มดำเนินโครงการซีดีเอ็มได้ประมาณ 1 ปี โดยขณะนี้ได้ให้การรับรองโครงการของผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ไปแล้วจำนวน 60 โครงการ และคาดว่าสิ้นเดือน เม.ย. นี้จะเพิ่มขึ้นอีก 4 โครงการ โดยในจำนวนนี้มี 16 โครงการที่ได้รับการรับรองจากยูเอ็นแล้ว

รวมแล้วปัจจุบันประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ประมาณ 4.2 ล้านตันต่อปี และหากคิดเป็นมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนแล้ว ประเทศไทยจะมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี
" นายศิริธัญญ์เผย

ทว่าขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ แต่อาจมีผู้ประกอบการบางรายที่ดำเนินการขายคาร์บอนเครดิตกันไปบ้างแล้ว

ผอ.อบก.กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมาแม้จะมี 60 โครงการที่ผ่านการรับรองแล้ว แต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่ยังไม่น่าพอใจมากเท่าที่ควร ทว่าก็ยังตั้งเป้าไม่ได้มาก เพราะยังไม่รู้แน่ชัดว่าโครงการของประเทศไทยมีศักยภาพมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม อบก.ก็จะเน้นให้การสนับสนุนโครงการในระดับเอสเอ็มอี (SME) ให้มากยิ่งขึ้น ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่นั้นเชื่อว่าไม่มีอะไรน่าห่วง อีกทั้งยังอยากให้โครงการเล็กๆ หลายๆ โครงการได้ร่วมมือกันเพื่อให้กลายเป็นโครงการใหญ่ขึ้นด้วย
"ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยทำซีดีเอ็ม จะทำให้เรามีรายได้เข้าประเทศมากขึ้นจากขายคาร์บอนเครดิต สามารถช่วยให้โครงการที่มีปัญมลพิษเป็นโครงการสะอาดขึ้นได้ ช่วยลดการใช้พลังงาน ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก" นายศิริธัญญ์กล่าว 

"และไทยต้องเป็นส่วนหนึ่งของนานาประเทศที่ช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยในส่วนของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งซีดีเอ็มนั้นเป็น 1 ใน 3 แนวทางหลักของพิธีสารเกียวโต และข้อตกลงใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังพิธีสารเกียวโตหมดอายุลง ก็มีแนวโน้มว่าจะยังคงมีแนวทางของซีดีเอ็มอยู่ด้วยอย่างแน่นอน" นายศิริธัญญ์กล่าว

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อให้การรับรองแก่โครงการที่ต้องการเข้าร่วมในซีดีเอ็มเพื่อสร้างคาร์บอนเครดิตนั้น ผอ.อบก. แจงว่า จะพิจารณาทั้งในด้านเทคโนโลยี การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เป็นหลัก และในอนาคตอาจมีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานและเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการสนใจร่วมโครงการคาร์บอนเครดิตมากยิ่งขึ้นด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น