xs
xsm
sm
md
lg

ไขปมเครื่องรางยอดฮิต "ว่านจักจั่น" ที่แท้จักจั่นวัยละอ่อนตายเพราะติดเชื้อรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สายัณห์ สมฤทธิ์ผล กับตัวอย่างราแมลงชนิด คอร์ไดเซพ เอสพี (Cordyceps sp.) ที่ขึ้นบนตัวจักจั่น
ไบโอเทคออกโรงชี้แจง "ว่านจักจั่น" ที่มีชาวบ้านนำมาบูชา ที่แท้เป็น "จักจั่นติดเชื้อรา" แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นราชนิดใด พร้อมเตือนประชาชนไม่ควรนำมาบริโภค เพราะอาจแพ้สปอร์เชื้อราหรือสารพิษที่สะสมอยู่ในซากจักจั่นได้ นักวิจัยเตรียมลงพื้นที่ เก็บตัวอย่างว่านจักจั่น หวังนำเข้าห้องแล็บพิสูจน์ชนิดของเชื้อรา คาดอาจพบสารออกฤทธิ์ทางยา ดังที่เคยพบมาแล้วเมื่อปี 44

จากกรณีที่เป็นข่าวหน้าหนึ่ง บนหนังสือพิมพ์หลายฉบับในช่วงไม่นานนี้ที่รายงานว่ามีชาวบ้านแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่ขุดว่านจักจั่นออกขาย และมีประชาชนจำนวนไม่น้อยนิยมซื้อไปบูชา ในราคาตั้งแต่ 199-5,000 บาท เพราะเชื่อว่าเป็นเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ ให้โชคให้ลาภ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) จึงได้เปิดเวทีเสวนาเรื่อง "ว่านจักจั่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือความเข้าใจผิด" เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.52 ณ อาคาร สวทช. โยธี เพื่อชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับว่านจักจั่น ซึ่งสื่อมวลให้ความสนใจร่วมฟังมากมาย รวมทั้งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์

ดร.สายัณห์ สมฤทธิ์ผล นักวิจัยห้องปฏิบัติการราวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เปิดเผยว่า ว่านจักจั่นที่กำลังเป็นที่นิยมบูชาในหมู่ประชาชนกลุ่มหนึ่งนั้น แท้จริงแล้วคือจักจั่นตัวอ่อนที่ตายเนื่องจากติดเชื้อรา ไม่ใช่ว่านหรือพืชชนิดหนึ่งที่มีต้นคล้ายเห็ดอยู่เหนือดินและมีหัวใต้ดินคล้ายตัวจักจั่นอย่างที่เข้าใจกัน

"ว่านจักจั่นเป็นจักจั่นที่ติดเชื้อราแมลงชนิดหนึ่ง ซึ่งราแมลงมีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ เมื่อจักจั่นตัวอ่อนที่กำลังโผล่ขึ้นจากใต้ดินเพื่อเข้าสู่ระยะการลอกคราบ เป็นช่วยที่ร่างกายของจักจั่นมีการเปลี่ยนแปลงจึงทำให้อ่อนแอ ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่างฤดูฝนที่มีความชื้นสูง จักจั่นจึงมีโอกาสติดโรคจากเชื้อราแมลงได้ง่ายและตายในที่สุด หลังจากนั้นเชื้อราก็จะอาศัยซากจักจั่นในการเจริญเติญโต โดยมีการแทงเส้นใยออกมานอกตัวจักจั่น และเจริญเป็นโครงสร้างสำหรับสืบพันธุ์ ทำให้ดูเหมือนมีเขางอกออกมาจากหัวจักจั่น" ดร.สายันห์ อธิบาย ซึ่งราแมลงนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับแมลงชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น มด แมงมุม เพลี้ย ด้วง แมลงปอ ผีเสื้อ และหนอน

จากการศึกษาในเบื้องต้นนักวิจัยสัณนิษฐานว่าราแมลงในว่านจักจั่น มีลักษณะใกล้เคียงกับเชื้อราสปีชีส์ คอร์ไดเซพ โซโบลิเฟอรา (Cordyceps sovolifera) ที่เคยมีรายงานการค้นราแมลงบนตัวจักจั่นมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ก็ยังไม่ชี้ชัดว่าใช่ราแมลงที่ทำให้เกิดว่านจักจั่นหรือไม่ ต้องตรวจสอบลักษณะของสปอร์ของเชื้อราในว่านจักจั่นเทียบกับในตำรา ทว่าต้องเป็นว่านจักจั่นที่มีราแก่เท่านั้น แต่โอกาสพบราแก่นั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากว่านจักจั่นที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ขุดพบนั้นยังเป็นราอ่อนที่ยังไม่มีการสร้างสปอร์ และเมื่อถูกนำออกมาจากสภาพในธรรมชาติ เชื้อราอ่อนอาจหยุดการเจริญเติบโตและไม่สร้างสปอร์ได้อีก

ส่วนในกรณีที่มีชาวบ้านบางกลุ่มนำว่านจักจั่นมาบริโภคโดยการต้มคล้ายกับยาหม้อ เพราะเชื่อว่าช่วยบำรุงร่างกายได้ แต่มีชาวบ้านหลายรายที่กินเข้าไปแล้วเกิดอาการท้องเสีย นักวิจัยให้ข้อมูลว่าขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอาการป่วยดังกล่าวเกิดจากเชื้อรา หรือจักจั่น หรือเป็นผลร่วมกันของทั้งเชื้อราและจักจั่น รวมทั้งอาจเกิดจากสารพิษที่สะสมอยู่ในซากจักจั่นที่อยู่ใต้ดินก็เป็นได้

"โดยทั่วไปราแมลงจะมีความจำเพาะกับแมลงแต่ละชนิด และไม่เป็นอันตรายกับคน แต่ก็ไม่แนะนำให้รับประทาน เพราะยังไม่รู้ว่าเป็นเชื้อราชนิดไหน สามารถรับประทานได้โดยไม่เป็นอันตรายหรือไม่ เพราะมีเชื้อราเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่สามารถรับประทานได้ และในผู้ที่เป็นภูมิแพ้ก็อาจเกิดอาการแพ้เชื้อราเหล่านี้ได้ ซึ่งการต้มโดยทั่วไปไม่สามารถทำลายสปอร์ของเชื้อราได้ และจากการสืบค้นข้อมูลในประเทศไทยยังไม่พบว่ามีวัฒนธรรมของภูมิภาคใดมีการบริโภคว่านจักจั่นมาก่อนหน้านี้ นอกจากในประเทศจีนและภูฏานที่มีการบริโภคราแมลงที่รู้จักดีในชื่อว่า "ถั่งเฉ้า" ซึ่งเป็นราแมลงชนิด คอร์ไดเซพ ซินเอนซิส (Cordyceps sinensis) ที่ขึ้นบนหนอนผีเสื้อชนิดหนึ่ง ซึ่งมีการศึกษาวิจัยกันแล้วว่าไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค" นักวิจัยกล่าวเตือน

ส่วนในการนำว่านจักจั่นมาบูชานั้น นักวิจัยไม่แสดงความเห็นใดๆ นอกจากเตือนว่าให้ระมัดระวังในการเก็บรักษา เพราะหากเก็บรักษาไม่ดี หรืออยู่ในที่มีความชื้นสูง ก็อาจทำให้เกิดเชื้อราชนิดอื่นๆ ขึ้นบนว่านจักจั่นได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย หากสปอร์ของเชื้อราเหล่านี้ผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ

อย่างไรก็ตาม ดร.สายัณห์ ให้ข้อมูลอีกว่า นักวิทยาศาสตร์ก็เคยพบราที่เจริญเติบโตขึ้นบนตัวจักจั่นมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้นในกรณีของว่านจักจั่นที่กำลังเป็นข่าวฮือฮาอยู่ในขณะนี้ เช่น คอร์ไดเซพ นิปปอนนิกา (Cordyceps niponnica) ราแมลงบนตัวจักจั่นที่พบครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น และทีมวิจัยไบโอเทคพบครั้งแรกในไทยเมื่อปี 2544 ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อนำมาวิจัยสกัดสารสำคัญ เพื่อทดสอบหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ พบว่าสารบางชนิดมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียได้ ซึ่งนักวิจัยให้ชื่อสารชนิดนี้ว่า คอร์ไดไพริโดเนส เอ-ดี (Cordypyridenes A-D) และได้มีการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติไปแล้ว ขณะที่ไบโอเทคได้มีการเก็บตัวอย่างราแมลงที่พบในประเทศไทยเอาไว้แล้วถึงกว่า 40,000 สายพันธุ์ โดยแยกได้เป็นราแมลงกว่า 400 ชนิด และในจำนวนนี้เป็นชนิดใหม่ถึง 150 ชนิด

ดร.สายัณห์ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ อีกว่าในขั้นต่อไปจะลงพื้นที่ไปเก็บตัวอย่างว่านจักจั่นมาศึกษา ซึ่งมักพบในพื้นที่ที่มีระบบนิเวศเชิงเดี่ยวเชิงเดี่ยว เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพต่ำ จึงมีโอกาสสูงที่จะเกิดโรคระบาดในจักจั่น และพบว่านจักจั่นเป็นจำนวนมาก โดยนักวิจัยจะศึกษาเพื่อระบุชนิดของเชื้อราให้ได้ก่อนจากสปอร์ของเชื้อที่มีอยู่ในราแก่ หากลักษณะของสปอร์เหมือนกันในตำรา ก็ใช้เวลาในการพิสูจน์ชนิดของเชื้อเพียงวันเดียว แต่หากไม่เหมือนกับข้อมูลที่มีอยู่ อาจต้องศึกษาถึงระดับพันธุกรรม ซึ่งหากเป็นราชนิดใหม่ก็จะใช้เวลานานกว่านั้นในการระบุชนิดของเชื้อ และจะศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในเชื้อราดังกล่าวด้วย รวมทั้งการศึกษาเพื่อนำมาใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยวิธีทางชีวภาพ

นอกจากนี้จะร่วมมือกับนักกีฏวิทยาที่อยู่ในโครงการพัฒนาองค์การความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการบีอาร์ที) เพื่อศึกษาชนิดและสายพันธุ์ของจักจั่นที่เป็นที่มาของว่านจักจั่น ว่าเป็นจักจั่นชนิดใด มีวงจรชีวิตเป็นอย่างไร และมีโอกาสเกิดราแมลงระบาดได้ในช่วงเวลาใดบ้าง ซึ่งจากที่เคยมีการศึกษามาแล้วพบว่าตัวอ่อนของจักจั่นที่อาศัยอยู่ใต้ดินนั้นมีอายุตั้งแต่ 2-17 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดและสายพันธุ์ของจักจั่น.
ตัวอย่าง ว่านจักจั่น ที่ชาวบ้านนำมาบูชา และมีการขายทางอินเทอร์เน็ตด้วย ราคาตั้งแต่คู่ละ 199-5,000 บาท
เปรียบเทียบ ว่านจักจั่น และ ราแมลงที่ขึ้นบนจักจั่น
ราแมลงที่ขึ้นบนตัวมวน
ราแมลงที่ขึ้นบนหนอนผีเสื้อ
ราบนมด
ราบนจักจั่น
กำลังโหลดความคิดเห็น