xs
xsm
sm
md
lg

แล้งหนัก ผู้เลี้ยงวัวน่านครวญถึงขั้นไร้น้ำ-หญ้าให้สัตว์เลี้ยงกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น่าน - เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวจำหน่าย ประสบปัญหาภัยแล้ง วัว-ควายที่เลี้ยงไม่มีน้ำและหญ้าให้กิน

ภัยแล้งที่จังหวัดน่านได้ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้าง โดยขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว สุกร ไม่มีน้ำ และหญ้าให้สัตว์เลี้ยง ซึ่งเกษตรกรบางรายต้องนำวัว ไปผูกไว้ที่กลางแม่น้ำน่านที่ขณะนี้ระดับน้ำลดลงจนแห้งขอดเป็นพื้นดินโผล่ขึ้นมา สามารถเดินข้ามผ่านไปมาได้ แต่บางรายอยู่ในพื้นที่ห่างไกลน้ำก็ต้องตักน้ำใส่กระป๋องหิ้วมาให้สัตว์ที่เลี้ยงไว้กิน

นายนุภาพ ดีจันตา เกษตรกรเลี้ยงวัวชาวบ้านน้ำเกี๋ยน ต.น้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่าน กล่าวว่า หน้าแล้งปีนี้ถือว่ารุนแรงมาก เนื่องจากป่าที่เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ถูกเผาจำนวนมาก ตนต้องนำวัวที่มีอยู่ 16 ตัว ออกหากินหญ้าและเถาวัลย์ที่มีอยู่อย่างน้อยนิด ทำให้วัวซูบผอม ราคาตกต่ำ จึงอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือบ้าง อย่างน้อยพอจุนเจือค่าฟางข้าวที่มีราคาสูงถึงรถละ 500-600 บาท ซึ่งฟางข้าวเต็มคันรถจะเลี้ยงวัวได้ประมาณ 8 วัน

เกษตรกรส่วนใหญ่ต่างเป็นกังวลถึงสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งในปีนี้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้นและยาวนาน เกรงว่าวัว ควาย และสุกรที่เลี้ยงไว้จะทนต่อสภาพอากาศไม่ไหว ประกอบกับไม่มีอาหารและน้ำใช้เลี้ยงอย่างเพียงพอจะเป็นโรคป่วยและล้มตายได้ในที่สุด

ขณะเดียวกัน สำนักงานเกษตรจังหวัดน่านเร่งประกาศให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้งนี้ เนื่องจากคาดสถานการณ์ภัยแล้งจะมีความรุนแรงและยาวนานกว่าทุกปี ซึ่งจะส่งผลให้แหล่งน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานที่มีมากถึง 38,799 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกพืชถั่วเหลือง พืชไร่ และพืชผัก

นายเสวก สายสูง เกษตรจังหวัดน่าน กล่าวว่า ช่วงฤดูแล้งนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมวิชาการเกษตรเร่งออกให้คำแนะนำแก่เกษตรกรถึงการวางแผนการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก ทั้งพื้นที่เกษตรที่อยู่ใน-นอกเขตชลประทาน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเหลือง และพืชผัก เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรใช้น้ำด้านการเกษตรจากแหล่งเก็บกักน้ำแต่ขณะนี้ปริมาณน้ำได้ลดลง ขณะที่แหล่งน้ำบางแห่งน้ำแห้งจนเหลือแต่ดินแล้วก็มี

นอกจากการวางแผนการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกในช่วงหน้าแล้งแล้ว ขณะนี้ทางเกษตรจังหวัดน่านได้เฝ้าระวังปัญหาโรคแมลงในช่วงหน้าแล้งที่จะระบาดในไม้ผล ได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น และราดำ ซึ่งจะทำให้ไม้ผลไม่ติดผลผลิตหรือได้ผลผลิตน้อย ซึ่งหากเกษตรกรต้องการคำแนะนำสามารถปรึกษาและขอรับคำแนะนำได้ที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบลทุกแห่ง

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งโดยรวมในพื้นที่จังหวัดน่าน ล่าสุดได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิก ภัยแล้งแล้วใน 8 อำเภอ จาก 15 อำเภอของจังหวัด ได้แก่ อำเภอเชียงกลาง บ้านหลวง สองแคว แม่จริม นาหมื่น บ่อเกลือ ภูเพียง และอำเภอปัว พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 1,500 ไร่ ซึ่งขณะนี้ทางราชการเร่งช่วยแหลืออย่างเร่งด่วนพร้อมเตรียมงบช่วยเหลือ 50 ล้านบาท เบื้องต้นให้อำเภอละ 1 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น